04.00 น.
เวลาที่ใครหลายคนยังคงนอนหลับใหลอยู่บนเตียง พร้อมๆ กับเคอร์ฟิวที่เพิ่งเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ขนขยะมูลฝอย
หรือ ‘พนักงานเก็บขยะ’ ต้องลุกขึ้นจากเตียง ออกมาทำงานเก็บขยะตามบ้านเรือน ที่พักอาศัยของประชาชน
ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ทุกนายจะต้องแบ่งกันปฏิบัติหน้าที่ใน 2 ช่วงเวลา คือ 04.00-12.00 น. และ 20.00-04.00 น. เพื่อดูแลความสะอาดและสุขอนามัยให้กับผู้คน
ถึงอย่างนั้นก็ดี อีกความเสี่ยงที่พวกเขาต้องผจญในทุกๆ วัน โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก คือการเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่แนวหน้าที่อยู่ใกล้กับการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อโรคจากขยะที่ไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่า ขยะและหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งในแต่ละวันจะเป็นขยะจากผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่
ศักดิ เจริญ พนักงานขนขยะมูลฝอย วัย 38 ปี ที่ปฏิบัติหน้าที่มายาวนานกว่า 14 ปี เล่าให้เราฟังว่า ถึงแม้เขาจะกลัวการติดเชื้อและไม่กล้าออกมาทำงานแค่ไหน แต่ก็ยังคงต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่เก็บขยะตามปกติอยู่ดี
“ทุกวันนี้ยังไม่อยากจะออกมาทำงานเลยนะครับ แต่มันต้องมา…ตอนนี้ผมอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกอยู่ต่างจังหวัด เขาจะขึ้นมาหาผมช่วงปิดเทอม ผมไม่ให้มา เขาก็เลยร้องไห้ใหญ่เลย เราก็บอก ‘อย่าเพิ่งมา พ่อเก็บขยะ’ ก็กลัวเขาจะติดเชื้อ”
ด้าน สันต์ ปานทอง เจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาดชำนาญงาน สำนักงานเขตจตุจักร ให้คำแนะนำประชาชนในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดว่า ‘การแยกขยะจำพวกหน้ากากอนามัย’ ใส่ถุง แยกออกจากขยะทั่วไป จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น
“ถึงจะมีถุงมือ มีหน้ากากอนามัย มันก็ป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะพลาดได้ เพราะเขาก็ยังต้องไปจับ หยิบ ทั้งน้ำทั้งอะไร
“อยากจะรบกวนให้ประชาชนที่มีขยะประเภทหน้ากากอนามัย ขยะติดเชื้อ ถ้าไม่มี ‘ถุงแดง’ ก็ให้แยกถุงให้ชัดเจนจากถุงขยะปกติเลย หรืออาจจะเขียนกำกับบนถุงด้วยก็ได้ว่าเป็นขยะ ‘หน้ากากอนามัย’ ถ้าเด็ก (พนักงานขนขยะมูลฝอย) เขาเห็น เขาก็จะระมัดระวัง”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์