เหตุการณ์ความรุนแรงจากปืนที่เกิดขึ้นในห้างดังในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งห่างจากรั้วของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ถึง 100 เมตร
หนึ่งในเรื่องที่หลายคนในสังคมสงสัยคือ อะไรเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้เยาวชนเพียงอายุ 14 ปี ลงมือก่อเหตุ บางส่วนมองว่าเกมแนว First Person Shooter (FPS) อาจมีส่วน บางส่วนมองว่าภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาความรุนแรงเป็นต้นเหตุหรือแรงจูงใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันในวงนักวิชาการ และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก
THE STANDARD สำรวจความคิดเห็นของผู้คนที่อยู่ในวงรอบใกล้เคียงจุดเกิดเหตุถึงมุมมองและเสียงสะท้อนต่อเรื่องราวเหล่านี้ เพื่ออย่างน้อยจะดังขึ้นไปถึงผู้มีอำนาจและสังคมที่จะได้ช่วยกันหาวิธีป้องกันไม่ให้เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำรอย กลายเป็นแผลใหญ่ของสังคม
อามีน ช่างตัดผม ในวัย 43 ปี
เขาเปิดโทรศัพท์โชว์เกมโปรดแนว FPS พร้อมเล่าว่า “ผมก็เป็นคนเล่นเกมนะ เล่นมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน บางทีก็ไม่เข้าใจวิธีคิดของคนที่บอกว่าสาเหตุความรุนแรงเกิดจากเกม พวกเขาเคยเล่นเกมหรือเปล่า ตัวผมและหลายคนที่รู้จักเข้าไปเล่นเกมเพื่อแก้เครียด เพื่อความสนุก ได้เจอสังคมใหม่ๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ผ่อนคลาย มันเหมือนอีกโลกหนึ่งที่ไม่ต้องมีใครรู้จักเราก็ได้ และเราจะทำอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องไม่ผิดกฎของเกม”
อามีนเล่าอีกว่า “มันก็เหมือนกฎหมายที่บังคับใช้ในสังคมนี่แหละ เพราะเกมก็คืออีกสังคมสำหรับผม ในชีวิตจริงกฎหมายคงลงโทษจำคุก ยึดทรัพย์ และหมดอนาคต การลงโทษในเกมหนักที่สุดก็คงเป็นการแบนไอดีถาวร แต่เราก็สร้างไอดีใหม่ขึ้นมาเพื่อเล่นต่อได้ถ้าเราอยากเล่นเกมนี้จริงๆ ไม่อยากให้มองว่าความรุนแรงเกิดจากการเล่นเกม คนเล่นเกมมีทั้งโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว
“ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการตีตราด้อยค่าคนที่ชอบเล่นเกมว่าเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า ลองมองอีกมุม คนที่มีวิธีคิดหรือต้องการใช้ความรุนแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอาจจะแค่เข้ามาเล่นเกมหรือดูหนังเผื่อผ่อนคลายบ้างก็ได้นะ แต่ถ้าจะตัดสินว่าคนเล่นเกมแล้วต้องใช้ความรุนแรง ผมอยากถามว่า คุณเคยเล่นเกมและมีเกมที่คุณรักแล้วหรือยัง ผมเชื่อว่าคำตอบคุณจะไม่เหมือนเดิม”
สุภชัย วินจักรยานยนต์รับจ้าง สยามเซ็นเตอร์
สุภชัยบอกว่า เขาขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่เข้าควบคุมเหตุ ใช้เวลาไม่นาน ทำให้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเพิ่ม เข้าใจถึงความรู้สึกของพี่ๆ รปภ. ที่กำลังเป็นจำเลยสังคม ทำไมปล่อยให้คนมีอาวุธเข้าไปได้ เอาจริงๆ ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าใครเป็นคนไม่ดี ด้วยสังคมแบบไทยๆ ยิ่งเป็นเด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนท้อง คนพิการ แทบจะไม่ตรวจค้นเลย เพราะเราถูกปลูกฝังกันมาให้เอื้อเฟื้อกับพวกเขา แล้วถ้าเป็นคนที่แต่งตัวดีๆ ก็ไม่กล้าขอตรวจค้นอีก ถึงแม้เดินผ่านเครื่องแล้วเครื่องจะดัง
“มันไม่เหมือนสนามบินที่ต้องผ่านเครื่องตรวจที่เห็นว่ามีอะไรบ้าง แต่ทำแบบนั้นใครเขาจะมาเดินมาเที่ยวล่ะ เสียเวลา บางที่ผมใส่เสื้อวินไปในห้างหรือสถานที่สำคัญอื่นๆ เขายังไม่ให้เราเข้าเลย ให้เราถอดเสื้อก่อน ทั้งๆ ที่เสื้อวินก็มีเบอร์ มีชื่อวิน ถ้าผมจะมาทำอะไรไม่ดีผมโดนจับได้แน่นอน เราบริสุทธิ์ใจ แต่คงไม่สะอาดตา ก็เข้าใจได้ อีกอย่างอยากให้ทุกค่ายมือถือช่วยกันแจ้งเตือนออกไปทุกเบอร์ที่เป็นเบอร์ของเขา ทุกคนมีโทรศัพท์อยู่แล้ว ให้เขาได้รู้ ได้เตรียมตัว”
สุภชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมก็ไม่รู้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่หรือใครที่มีอำนาจในการจัดการเรื่องนี้ แต่การแจ้งเตือนภัยควรจะเป็นอีกหนึ่งคุณภาพชีวิตดีๆ ที่ลงตัวเหมือนสโลแกนกรุงเทพฯ ได้แล้ว”
พรพิมล แม่ค้ารถเข็นขายลูกชิ้น
พรพิมลมองว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้ตลอด เราแทบจะไม่รู้ตัวเลย เธอขายของอยู่ตรงนี้มาหลายสิบปี ก็เห็นมาตั้งแต่ปี 2553 ที่มีการวางระเบิดแยกราชประสงค์ ที่เป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องเล็กๆ ก็พวกเด็กช่างตีกันบ้าง
“ถามว่าชินไหม คงไม่มีใครชินกับเรื่องพวกนี้หรอก เราก็กลัวเจ็บกลัวตายเหมือนคนปกตินั่นแหละ แต่เราก็ต้องทำมาหากิน โชคดีหน่อยที่ฝนตกเลยไม่ได้เข็นมาขายแถวนี้ เล่นโทรศัพท์ถึงรู้ข่าวจากโซเชียล แต่ถ้าฝนไม่ตกก็คงเข็นผ่านตรงนี้พอดีเหมือนเดิมทุกวัน รู้ตัวอีกทีก็คงทำอะไรไม่ถูกแล้ว มันบีบหัวใจนะ ถ้าเราเป็นอะไรขึ้นมาใครจะดูแลลูกเรา พ่อแม่เรา หรือถ้าลูกเราไปเดินซื้อของ คนรู้จักเราเข้าไปทำธุระในนั้น”
พรพิมลกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่รู้จริงๆ ว่าจะรู้สึกอย่างไร อยากให้มีเครื่องมืออะไรสักอย่างที่ทำให้ทุกคนรู้ข่าวสารหรือที่ที่ไม่ปลอดภัย เขาจะได้ไม่เข้าไป หรือเรารู้เราจะได้ห้าม ได้โทรหา จะได้เตือนกันได้ทัน อยากให้หาวิธีป้องกันให้กับคนที่ต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจอเมื่อไร
กิตติศักดิ์ อายุ 61ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
กิตติศักดิ์มองว่าเกมก็น่าจะมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ก็ไม่น่าจะใช่ทั้งหมด ลูกหลานเขาหลายคนก็เล่นเกม ติดเกม หนังสือไม่อ่าน การบ้านไม่ทำ ต้องคอยดุคอยเตือน
กิตติศักดิ์เล่าด้วยว่า เรื่องการตรวจอาวุธ เราก็จะมองคนที่ดูท่าทางไม่น่าไว้วางใจ ก็จะขอตรวจค้นแบบมีมารยาท เราไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บางคนเขาก็ไม่ให้ตรวจ แถมโวยวายเราด้วยซ้ำไป ถ้าน่าสงสัย เราก็จะวิทยุบอกกัน คอยเฝ้าระวัง คอยจับตาดูจนคนนั้นออกจากพื้นที่เราไป
“การแจ้งเตือน การเตือนภัย มันก็ทำได้นะ เวลาประกาศหาเจ้าของรถในห้างยังทำได้เลย แล้วเวลาเกิดเหตุร้ายทำไมถึงทำไม่ได้ เราต้องช่วยกันรักษาความปลอดภัยให้คนที่เข้ามาในพื้นที่เราถึงจะถูกต้องที่สุด การซ้อมเผชิญเหตุก็อยากให้ฝึกซ้อมกันจนเป็นวงรอบปฏิบัติ ไม่ใช่พอมีอะไรเกิดขึ้นก็ถึงมาซ้อมกันครั้งสองครั้ง มันเปล่าประโยชน์”
เอิร์ท นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
เอิร์ทสะท้อนมุมมองตัวเองว่า “ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าการเล่นเกมยิงกันมันจะกล้าไปทำแบบในเกมได้อย่างไร เวลาเราเล่นเกม การจับถืออุปกรณ์ การใช้ประสาทสัมผัสไม่น่าเหมือนการถืออาวุธจริงๆ
“ยิ่งความรู้สึก สิ่งที่มองเห็นไม่ได้เหมือนจริงขนาดนั้น และเชื่อว่าก็คงไม่อยากเห็นของจริงหรือรู้สึกจริงๆ หรอก เวลาเราเล่นเกมแนวยิงกัน ตัวละครก็จะคล้ายๆ กันหมด คือเหมือนหน่วยรบ เหมือนทหาร พอโดนยิงจุดต่างๆ ก็มีเอฟเฟกต์ว่าโดนยิง ภาพในเกมไม่ใช่แบบเหมือนของจริงแน่นอน ซึ่งคนที่เล่นเกมแอ็กชันก็จะชอบดูหนังแอ็กชัน ชอบความเก่ง ชอบทักษะของตัวละคร
“มันไม่ใช่เกมหรือหนังผีที่จะมีภาพที่ไม่น่าดู พี่ลองไปถามคนที่ดูหนังผีหรือเล่นเกมแนวสยองขวัญสิครับ เขาอยากเจอผีหรือเปล่า หรือเขาแค่เข้ามาใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมในสิ่งที่เขาชอบ” เอิร์ทกล่าวทิ้งท้าย