ภารกิจสำรวจอวกาศ Gaia ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ค้นพบปรากฏการณ์ Starquake หรือการที่เปลือกชั้นนอกสุดของดวงดาวมีการเคลื่อนตัวคล้ายกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนพื้นโลก ซึ่งจะช่วยมอบชุดข้อมูลใหม่ที่สำคัญให้กับบรรดานักดาราศาสตร์ที่เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว
ESA ได้บรรยายการสั่นสะเทือนของดวงดาวหลายพันดวงครั้งนี้ว่ามีลักษณะคล้ายกับ ‘สึนามิขนาดยักษ์’ ที่เปลี่ยนรูปร่างของดวงดาวไปจากเดิม และถึงแม้ภารกิจ Gaia จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ก็สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวที่รุนแรงบนพื้นผิวของดวงดาวนับพันได้ รวมถึงในดาวบางดวงที่แทบจะไม่เคยเกิดปรากฏการณ์นี้มาก่อน ซึ่ง ESA รายงานว่า ดวงดาวเหล่านั้นไม่ควรมีการสั่นไหวเกิดขึ้น หากยึดจากทฤษฎีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
คอนนี แอร์ตส์ (Conny Aerts) นักดาราศาสตร์แห่งสถาบัน Catholic University of Leuven กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวของ ESA วานนี้ (13 มิถุนายน) ว่า “การสั่นสะเทือนเหล่านี้ทำให้ก๊าซของดาวเคลื่อนที่ขึ้นและลง…ดังนั้นมันจึงทำให้ดวงดาวกะพริบบนท้องฟ้า
“ดวงดาวที่ส่องแสงกะพริบเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ที่เปิดประตูให้นักดาราศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษาความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์และเคมีที่เกิดขึ้นภายในดวงดาว” แอร์ตส์กล่าว “มันเหมือนกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวก็ชอบที่จะได้เห็นแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรงเกินไป เพราะพวกเขาจะได้มีโอกาสทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นักดาราศาสตร์ที่ศึกษาการสั่นไหวของดวงดาวก็เช่นกัน”
ปัจจุบัน Gaia โคจรอยู่ห่างจากโลกราว 930,000 ไมล์ในทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ยานสำรวจนี้มีกล้องโทรทรรศน์อวกาศ 2 ตัวที่สามารถสแกนกาแล็กซีของเราจากจุดที่มีชื่อว่า Lagrange 2 (L2) ซึ่งเป็นจุดสมดุลของแรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงอาทิตย์
ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่ Gaia ได้ค้นพบ โดย Gaia เป็นภารกิจที่เปิดตัวเมื่อปี 2013 มีเป้าหมายเพื่อสร้างแผนที่ทางช้างเผือกรูปแบบ 3 มิติที่มีความแม่นยำและสมบูรณ์มากที่สุด
ภาพ: The European Space Agency (ESA)
อ้างอิง: