ย้อนกลับไปราว 5-6 ปีก่อน มีธุรกิจหนึ่งที่เติบโตหวือหวาเป็นอย่างมากนั่นคือ ‘ชานมไข่มุก’ เราจึงได้เห็นภาพของผู้บริหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมถึงแบรนด์ดังจากต่างประเทศ กระโดดเข้าสู่ตลาดนี้กันอย่างคับคั่ง
ทว่า “การระบาดของโรคโควิดทำให้มีแบรนด์จำนวนไม่น้อยต้องล้มหายไปจากตลาด เพราะไม่มีสายป่านที่ยาวพอ ฉะนั้นแบรนด์ที่เหลืออยู่จึงเป็นแบรนด์ที่เอาตัวรอดจากวิกฤตและสามารถยืนในตลาดได้แล้ว” อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท กาก้า เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ความหอมหวานของชานมไข่มุกที่มีมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคในประเทศไทยมีการบริโภคชานมไข่มุกโดยเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคในภูมิภาคอื่นๆ ตามแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร Wongnai มีร้านชานมไข่มุกมากกว่า 31,000 แห่งในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดชาไข่มุก 2.6 หมื่นล้านบาทยังหอมหวาน! ‘ไมเนอร์’ เข้าซื้อหุ้น 50.1% ใน ‘แบรนด์กาก้า’ เล็งขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
- เติมพอร์ตร้านชาไข่มุก! CRG ใช้เงิน 65-70 ล้านบาท ถือหุ้นใหญ่ร้าน Brown Café
- เปิดเบื้องหลัง ‘ชานมไข่มุกของไต้หวัน’ เข้าไปผงาดในอเมริกาได้อย่างไร จนวันนี้มีมูลค่าตลาดกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
เมื่อบวกกับการมีแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตครั้งใหญ่มาได้ ทำให้เมื่อ 1 ปีก่อนบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT จึงได้ร่วมทุนในสัดส่วนร้อยละ 50.1 ใน ‘แบรนด์กาก้า’ ซึ่งตัวไมเนอร์เองยังไม่ได้มีเครื่องดื่มนี้อยู่ในพอร์ตมาก่อน
“หากจะปั้นแบรนด์เองเพื่อเข้าสู่ตลาดนี้ต้องใช้เวลานาน และยังไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่ เพราะมีสารพัดแบรนด์ในราคาตั้งแต่ 25-150 แบรนด์ ดังนั้นการเข้าไปถือหุ้นจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเราเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความชำนาญในธุรกิจอาหาร จึงสามารถเข้ามาเสริมในด้านแบรนดิ้ง การลงทุน และการขยายไปต่างประเทศได้”
ปัจจุบันกาก้ามีอายุ 5 ปีด้วยกัน โดยมีร้านอยู่ทั้งหมด 37 สาขาในไทย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งหลักๆ อยู่ในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรืออาคารสำนักงาน และภายในสิ้นปีนี้จะมีทั้งสิ้น 41 สาขา
ในร้านมีเมนูเครื่องดื่มทั้งสิ้น 54 เมนู ขนมอีก 7 เมนู ราคาเริ่มต้น 65-145 บาท ลูกค้าหลัก 80% เป็นกลุ่มผู้หญิงที่เป็นนักศึกษา ยอดการใช้จ่ายต่อบิลอยู่ที่ 200 บาท สัดส่วนยอดขายมาจากชานม 60% ชาไทย 10% ชาเขียว 10% และอื่นๆ รวมกัน 20% โดยมียอดขายเฉลี่ย 4-5 แสนบาทต่อเดือน
ล่าสุดได้เริ่มขยายไปที่ต่างจังหวัด เช่น จังหวัดระยอง
“โดยช่วง 1 สัปดาห์แรกที่เปิดร้านเราใช้โปรโมชัน 1 แถม 1 เพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งปรากฏว่าได้ผล หลังจากนั้นแม้จะไม่มีโปรโมชันแล้วเราพบว่ายังมีลูกค้ามาอยู่เรื่อยๆ แสดงว่าประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ”
อนุพนธ์ย้ำว่า การแข่งขันในตลาดนี้ไม่ได้อยู่ที่ราคาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเข้าถึงตลาดด้วย ดังนั้นปีหน้าจึงจะใช้งบลงทุนทั้งหมด 100 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะถูกใช้สำหรับเปิดร้านใหม่ 20 แห่ง และขยายไปยังต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่, ขอนแก่น, ภูเก็ต และโคราช
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งวิธีที่สร้างความแตกต่างคือ แบรนดิ้ง (Branding) ซึ่งตัวกาก้าเองมีแก้วและตัวหนังสือที่แตกต่าง รวมถึงการ Collaboration ซึ่งล่าสุดได้ Collab กับร้านไก่ทอด Bonchon เพื่อทำเครื่องดื่มเมนูใหม่และแก้วคอลเล็กชันพิเศษ ซึ่งต่อไปนั้นจะมีการทำแคมเปญในลักษณะนี้ไตรมาสละ 1 ครั้ง
โดยไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่อนุพนธ์หมายมั่นว่าจะส่งกาก้าไปแจ้งเกิดที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งความมั่นใจมาจากการที่ไมเนอร์นั้นมีออฟฟิศอยู่ที่ประเทศจีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
“ภายในปีนี้เราตั้งเป้าจะมียอดขาย 200 ล้านบาท โต 25% จากปีที่แล้ว” อนุพนธ์กล่าวถึงเป้าหมายด้านรายได้ พร้อมกับเปรยทิ้งท้ายว่า ที่สุดแล้วอยากจะปั้นให้กาก้าขึ้นเป็นแบรนด์ชานมไข่มุกเบอร์ 1 ของไทยในอนาคตอันใกล้นี้
อ้างอิง: