ปีนี้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนต่างกำลังมุ่งหน้าบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยกันอย่างคึกคัก โดยล่าสุดแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง GAC และ Changan ต่างประเดิมส่งแบรนด์น้องใหม่เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งวางแผนปักหมุดไทยเป็นฐานผลิต รวมไปถึง Geely ก็อยู่ระหว่างการลงทุนในไทยเช่นกัน ท่ามกลางความท้าทายเจ้าตลาดอย่าง BYD
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า หลังจากที่เมื่อเร็วๆ นี้ 2 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีน ได้แก่ Guangzhou Automobile Group หรือ GAC เปิดตัวในไทย โดยส่ง 5 รุ่น แบรนด์ ‘AION’ รถสปอร์ตอเนกประสงค์ Y Plus ที่มีระยะทางมาตรฐาน 500 กิโลเมตร มาพร้อมระบบความปลอดภัยผู้ขับขี่ขั้นสูง มาทำตลาดด้วยราคาเริ่มต้น 970,000 บาท (28,000 ดอลลาร์)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
- คลื่น EV จีน กำลังซัดรถยนต์ญี่ปุ่นให้หายไปจากไทย! เมื่ออีก 3 ปี รถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนจะทะยานเป็น 100 ล้านคัน
- Exclusive: ‘SVOLT’ ยักษ์แบตเตอรี่จีน ทุ่ม 1,250 ล้านบาท ปักหมุดไทยฐานผลิตแบตเตอรี่ EV แห่งแรกอาเซียน! ป้อน GWM และ NETA เริ่มสายพานผลิตปี 67
โดย Gu Hui Nan กรรมการผู้จัดการของ GAC AION New Energy Automotive Co., Ltd. กล่าวว่า การเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นเป้าหมายที่วางไว้มานาน ซึ่งสำหรับ GAC เป็นบททดสอบสำคัญในการผลักดันบริษัทในการลงทุนนอกประเทศ และ GAC พร้อมขยายศูนย์บริการและวางแผนให้ไทยเป็นฐานผลิตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งออกแปซิฟิกและยุโรป
ส่วนอีกแบรนด์ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่กี่วันที่ผ่านมาคือ Changan Automobile ก็ได้เผยโฉมประเดิมส่ง 2 รุ่น แบรนด์ ‘Deepal’ เข้ามาบุกตลาดในไทยอย่างเต็มตัว พร้อมตั้งฐานผลิตในไทยเช่นกัน รวมไปถึง Geely ที่มีแผนที่จะเข้าสู่ประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนต่างกำลังมุ่งหน้าบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย อาจเป็นความท้าทายที่ต้องการแข่งขันกับเจ้าตลาด BYD
เนื่องจากปีนี้อัตราการเติบโตยานยนต์ไฟฟ้าจีนยังคงชะลอตัว สงครามราคาที่แข่งขันรุนแรง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในจีน ทำให้ผู้ผลิตค่ายรถจีนทำยอดจำหน่าย 10 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตต่างต้องออกไปหาตลาดใหม่ๆ และแน่นอนว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่เติบโตและมีประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมากอาศัยอยู่ จึงดึงดูดนักลงทุนเข้ามามากเป็นพิเศษ
รายงานข่าวระบุอีกว่า การเข้ามาทำตลาดในไทยของผู้เล่นหน้าใหม่ 2 แบรนด์นั้นอาจต้องท้าชนกับ BYD เพื่อนร่วมชาติ ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาด ยอดขายรุ่นซีดานและรถ SUV ในไทย BYD ถือเป็นเจ้าตลาด
“หากผู้เล่นรายใหม่ไม่มีความสามารถด้านเทคนิคหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่าง BYD อาจเป็นเรื่องยากในการเข้ามาทำตลาดในไทย และสิ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนอีกข้อจะเห็นว่า BYD ครองพื้นที่ใหญ่ที่สุดในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุด” ฮาจิเมะ ยามาโมโตะ จากสถาบันวิจัยโนมูระประจำประเทศไทย กล่าว
สำหรับ BYD ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในตลาดประเทศไทย และคาดว่าจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 และบริษัทวางแผนที่จะเริ่มเดินสายพานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าแห่งแรกนอกประเทศจีนในประเทศไทยในช่วงกลางปี 2567 พร้อมทั้งหาพันธมิตรท้องถิ่นในไทยมากขึ้น
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นความท้าทายบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่กำลังเป็นเสมือนคลื่นลูกที่ 2 อาจต้องเร่งทำตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตค่ายรถจีนอาจต้องศึกษาตลาด เพราะมีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพียงไม่กี่รายที่เหมาะกับความต้องการของตลาดในไทยและอาเซียน ซึ่งมีทั้งปัจจัยด้านขนาดรถและราคา
“เพราะบางแบรนด์มีความเหมาะสมแตกต่างกันไป อย่างผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียชื่นชอบรถ SUV ที่มีอัตราความจุสูง ในขณะที่ชาวมาเลเซียมองหารถยนต์ขนาดเล็ก คงเป็นเรื่องยากและท้าทายสำหรับผู้ผลิตรถยนต์จีนที่กำลังตั้งไข่ในตลาดประเทศไทยและอาเซียน”
อ้างอิง: