×

ผู้นำการเงินกลุ่ม G7 เตือนเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ และวิกฤตสงครามในยูเครน

14.05.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

ผู้นำทางการเงินและการคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ซึ่งประกอบด้วย แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ออกแถลงการณ์ร่วมเตือนถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมให้คำมั่นว่าต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง 

 

“ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีสามารถรับมือภาวะช็อกที่เกิดขึ้นหลายระลอกได้ ไล่มาตั้งแต่ การระบาดใหญ่ของโควิด สงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แต่เรายังจำเป็นต้องระมัดระวัง รักษาความคล่องตัวและความยืดหยุ่นของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของเรา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” แถลงการณ์ระบุ

 

การประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G7 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกินเวลา 3 วัน ถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากปัญหาเพดานหนี้ในสหรัฐฯ ที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนที่มีความตึงเครียดสูงขึ้น

 

แถลงการณ์ของกลุ่มไม่ได้กล่าวถึงปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในวาระที่บรรดาผู้นำการเงินและการคลังของกลุ่ม G7 ได้พูดคุยกันในที่ประชุม ขณะที่ เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ก็ได้ให้ความเห็นว่า หากสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะสะดุดและอาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ

 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ของกลุ่มผู้นำของ G7 ยังประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการตรวจสอบธุรกรรมข้ามพรมแดนระหว่างรัสเซียและประเทศอื่นๆ

 

การลดการพึ่งพาจีนและการกระจายห่วงโซ่อุปทานของตัวเองออกจากจีนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่การประชุมผู้นำการเงินและการคลังของ G7 ได้มีการหารือกัน โดยมีญี่ปุ่นเป็นหัวหอกในเรื่องนี้

 

โดยกลุ่ม G7 ได้กำหนดกรอบเวลาสำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนไปยังทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเสนอความช่วยเหลือแก่ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางให้เข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น การถลุงแร่และแปรรูปชิ้นส่วนการผลิต มากขึ้น

 

“การกระจายห่วงโซ่อุปทานจะช่วยให้เราปกป้องความมั่นคงด้านพลังงานและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคได้” แถลงการณ์ระบุ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X