บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ G20 ต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขวิกฤตอาหารและพลังงานโลก ซึ่งรวมถึงการฟื้นความมั่นคงทางด้านอาหาร พร้อมกล่าวโทษรัสเซียว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตอาหารในครั้งนี้ หลังบุกโจมตียูเครน
รายงานระบุว่า ในการประชุม 2 วัน ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม ที่เมืองเดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการคลังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเห็นชอบร่วมกันในหลายประเด็น ดังนั้นจึงไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ ซ้ำรอยกับการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ครั้งก่อนในเดือนเมษายน ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ ซึ่งจบลงโดยปราศจากแถลงการณ์ร่วมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เห็นพ้องร่วมกันอย่างชัดเจนก็คือความเร่งด่วนในการแก้ไขวิกฤตด้านอาหารและพลังงานโลก และการกล่าวประณามรัสเซียอย่างรุนแรง ฐานเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตในเวลานี้
ทั้งนี้ ที่ประชุม G20 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงเกษตรเพื่อรับมือกับสถานการณ์อาหารและปุ๋ย โดยนับเป็นคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจชุดที่สองของกลุ่ม G20 หลังจากมีความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีคลังกับรัฐมนตรีสาธารณสุข ในบริบทเกี่ยวกับการตอบสนองต่อไวรัสโควิด
ศรีมุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย ชาติเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ เปิดเผยว่า แถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการที่ไม่สามารถบรรลุได้ จะถูกแทนที่ด้วยถ้อยแถลง 14 ย่อหน้า ที่ผ่านความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์เกือบทั้งหมด ยกเว้น 2 ย่อหน้า ที่โฟกัสเกี่ยวกับความเห็นต่างของสมาชิกในเรื่องของผลกระทบของสงครามและแนวทางตอบสนอง โดยอินทราวาตีย้ำว่า ทั้งหมดคือผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแล้ว
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซียกล่าวว่า G20 ยังสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าเพิ่มเติมในการดำเนินการตามกรอบการทำงานร่วมสำหรับการรักษาหนี้ที่นอกเหนือจากโครงการริเริ่มระงับการชำระหนี้อย่างทันท่วงที เป็นระเบียบ และมีการประสานงานกัน ตลอดจนการหารือกันเกี่ยวกับวิธีทำให้กรอบการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ
ด้าน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ความเห็นต่างในประเด็นเรื่องรัสเซียได้ขัดขวางไม่ให้รัฐมนตรีคลังและธนาคารกลางออกแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการ แต่กลุ่มนี้มี ‘ฉันทามติที่เข้มแข็ง’ เกี่ยวกับความจำเป็นในการจัดการกับวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารที่เลวร้ายลง
ขณะที่ประเทศตะวันตกได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มงวด อันเป็นผลพวงจาก ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ ในยูเครน ส่วนชาติสมาชิก G20 อื่นๆ รวมถึงจีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ กลับยังคงนิ่งเงียบไม่มีการตอบสนองใดๆ
“ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายเพราะรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของ G20 และไม่เห็นด้วยกับพวกเราที่เหลือเกี่ยวกับวิธีการอธิบายลักษณะของสงคราม” เยลเลนกล่าว และเน้นว่า ความขัดแย้งไม่ควรขัดขวางความคืบหน้าในประเด็นที่เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลกในเวลานี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความล้มเหลวต่อการตกลงในแถลงการณ์สะท้อนถึงความอ่อนแอของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่
เควิน เกลลาเกอร์ หัวหน้าศูนย์นโยบายการพัฒนาโลกของมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า “เราอยู่ในช่วงเวลาที่ไร้การควบคุมในเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่ม G20 ที่เป็นอัมพาตจากสงครามของปูติน และ G7 ไม่สามารถเป็นผู้นำที่คอยโน้มน้าวชี้นำด้านสินค้าสาธารณะทั่วโลก”
ด้าน คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกโรงเตือนนานาประเทศเกี่ยวกับระดับหนี้ โดยพบว่ามากกว่า 30% ของประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา และอีก 60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีความเสี่ยงมากขึ้นในการประสบปัญหาวิกฤตหนี้สิน
จอร์เจียวาย้ำว่า สถานการณ์หนี้กำลังแย่ลงอย่างรวดเร็ว และควรมีกลไกที่ทำงานได้ดีในการแก้ปัญหาหนี้
นอกจากนี้ บรรดานักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า การล้มเหลวในการออกแถลงการณ์ร่วมจะเป็นตัวเตะถ่วงความร่วมมือในความพยายามคลี่คลายวิกฤตเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานและภาวะขาดแคลนอาหาร
อีริค เลคอมบ์ ซีอีโอของเครือข่าย Jubilee USA Network กลุ่ม NGO ที่ล็อบบี้ให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลก เพื่อช่วยผ่อนภาระหนี้สินให้ประเทศยากจน กล่าวว่า การปราศจากแถลงการณ์ร่วมของบรรดารัฐมนตรีคลัง G20 จะทำให้เป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นสำหรับ G20 ในการหล่อหลอมความเห็นพ้องต้องกันในประเด็นสำคัญต่างๆ ต่อไป
อ้างอิง: