×

จับตาประชุม G20 ผู้นำโลกจะคุยอะไรกัน ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่แตกร้าว

08.09.2023
  • LOADING...

เหลือเวลาอีกแค่เพียง 1 วัน การประชุม G20 ซึ่งอินเดียรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปีนี้ก็จะเปิดฉากขึ้นแล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอีเวนต์สำคัญประจำปฏิทินการเมืองโลก เนื่องจากผู้นำจากประเทศระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ บวกกับสหภาพยุโรป (EU) จะมาร่วมกันหารือประเด็นต่างๆ ที่เป็นวาระสำคัญของโลกในแต่ละปี

 

ปีนี้อินเดียได้พลิกโฉมการประชุม G20 ให้เป็นเวทีเจรจาทางการทูตสุดยิ่งใหญ่ โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023 อินเดียได้จัดการประชุมไปแล้วกว่า 200 ครั้งใน 60 เมือง ขณะที่มีการติดป้ายบิลบอร์ดและโปสเตอร์ขนาดใหญ่กระจายตัวทั่วกรุงนิวเดลี โดยเป็นภาพของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี พร้อมข้อความแสดงการต้อนรับผู้แทนจากทุกประเทศ อันเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าอินเดียพร้อมแล้วที่จะรับบทบาทเจ้าภาพเวทีการประชุมระดับโลกที่หลายฝ่ายตั้งตาคอย

 

แถลงการณ์ร่วมจะวินหรือวืด?

 

สิ่งที่อินเดียมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งนั้นคือ ‘แถลงการณ์ร่วม’ ของแต่ละชาติที่จะออกมาภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม เพราะหากการประชุม G20 ปีนี้เกิดวืด ไม่สามารถบรรลุฉันทมติร่วมกันได้ ก็จะถือเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่ไร้ซึ่งแถลงการณ์ใดๆ หลังการประชุมรูดม่านลง

 

ทว่าความพยายามดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มประเทศ G20 มีความคิดเห็นต่างกันในหลายประเด็น และประเด็นใหญ่ที่สุดก็หนีไม่พ้นสงครามยูเครน เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์ในการประชุม G20 เมื่อปี 2022 โดยย้อนกลับไปครั้งนั้น กว่าที่นานาประเทศจะเห็นชอบยอมออกแถลงการณ์ร่วมที่มีการประณามสงครามยูเครน ก็เล่นเอาเจ้าภาพอย่างอินโดนีเซียต้องปาดเหงื่อกว่าที่จะเฟ้นหาถ้อยคำที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากทุกชาติสมาชิก รวมถึงรัสเซียและจีนที่มีท่าทีคัดค้านก่อนหน้านี้

 

โดยในที่สุดข้อความของแถลงการณ์ก็สรุปได้อย่างคร่าวๆ ว่า สมาชิก ‘ส่วนใหญ่’ ประณามสงครามในยูเครนอย่างรุนแรง แต่ถึงเช่นนั้นก็มีบางชาติที่มีมุมมองต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าสถานการณ์ในวันนี้อาจยากลำบากกว่าที่เคย เพราะจีนและรัสเซียอาจไม่ยินยอมดังเช่นที่ผ่านมา ขณะที่ฝั่งโลกตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา ก็คงไม่ยอมถอยเช่นกัน เพราะอยากจะให้แถลงการณ์ที่ออกมานั้นมีการระบุถ้อยคำประณามสงครามยูเครนอย่างชัดแจ้ง

 

ส่วนเจ้าภาพอย่างอินเดียนั้นก็เป็นชาติที่วางตัวเป็นกลางมาตลอด โดยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ประณามเพื่อนรักเก่าอย่างรัสเซีย จึงทำให้เป็นที่จับตาว่าแล้วโมดีจะแสดงออกอย่างไรในการประชุมที่เตรียมเปิดฉากขึ้นนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งสองฝั่ง

 

นอกจากนี้การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แห่งจีน ไม่มาเข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเอง ก็อาจทำให้การตัดสินใจต่างๆ ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะถึงแม้รัสเซียจะเลือกส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่าง เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเป็นผู้แทน รวมถึงจีนที่เลือกส่ง หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรี มาแทนสีจิ้นผิง แต่เขาทั้งสองก็อาจไม่มีอำนาจมากพอที่จะตัดสินใจใดๆ ในนาทีสุดท้ายโดยไม่ปรึกษาผู้นำของตนเองเสียก่อน

 

แนวโน้มของการวืดแถลงการณ์ก็เคยปรากฏให้เห็นมาแล้ว เพราะการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G20 เมื่อช่วงต้นปีก็ปิดฉากลงโดยไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมแต่อย่างใด คงต้องลุ้นกันว่าในที่สุดนั้นอินเดียจะแก้ปมที่ยุ่งเหยิงนี้ด้วยวิธีการใดกันแน่

 

ถกประเด็นเศรษฐกิจ Global South

 

แม้ประเด็นสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ-เรื้อรังจะใหญ่แค่ไหน แต่เจ้าภาพอย่างอินเดียก็หวังว่ามันจะไม่ใหญ่พอจนเข้ามาบดบังความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาของกลุ่มประเทศ Global South ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอินเดียเตรียมที่จะผลักดันให้ถูกขึ้นโต๊ะเจรจาด้วย

 

ดังที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่ากลุ่ม G20 เป็นการรวมตัวกันของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ถามว่าใหญ่แค่ไหน ก็ต้องแจกแจงแบบนี้ว่ามีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP รวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 85% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้าคิดเป็น 75% ของทั้งโลก อีกทั้งยังมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของโลก

 

ที่ผ่านมานั้นอินเดียย้ำอยู่บ่อยครั้งว่าชาติสมาชิก G20 มีภาระความรับผิดชอบต่อประเทศที่ไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย อีกทั้งยังได้ตั้งตนขึ้นเป็นชาติผู้แทนที่คอยเป็นกระบอกเสียงให้กับ Global South ขณะที่สหภาพแอฟริกาก็ได้ประกาศส่งเสริมจุดยืนของอินเดียที่ต้องการมุ่งช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งประสบปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้สิน ตลอดจนราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากสงครามและโรคระบาด

 

ทันวี มาดัน (Tanvi Madan) นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบัน Brookings Institution กล่าวว่า อินเดียและบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม G20 ต้องการให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เข้ามาช่วยมอบทุนสนับสนุนเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ข้างต้น

 

แต่ประเด็นนี้ก็คงไม่ง่ายอีกเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ผ่านมาอินเดียและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ พยายามเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยและสถาบันการเงินใหญ่ๆ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ชาติต่างๆ ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชำระหนี้เงินกู้

 

ตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้คือจีน โดย เดวิด มัลพาสส์ อดีตประธานธนาคารโลก เคยกล่าวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมีหนี้สินรายปีรวมกันมากถึง 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และเงินจำนวน 2 ใน 3 จากสัดส่วนดังกล่าวก็มีจีนที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ โดยมีความเสี่ยงที่หลายประเทศจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ความยากจนทวีความรุนแรง รวมถึงราคาอาหารและพลังงานที่จะถีบตัวสูงขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว

 

มาดันกล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต้องการเจ้าหนี้ที่ช่วยพวกเขาปรับโครงสร้างกำหนดเวลาการชำระหนี้ได้ และในบางกรณีก็อาจต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องการเงินมากขึ้นด้วย ซึ่งแม้ในตอนนี้เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าผลลัพธ์จากการประชุมคืออะไร แต่แนวคิดหลักๆ คาดว่าจะเป็นเรื่องของการประนีประนอมให้มากขึ้น

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ชาติสมาชิก G20 ได้เห็นพ้องภายใต้กรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มประเทศยากจน แต่การดำเนินการดังกล่าวก็เป็นไปอย่างล่าช้า โดยชาติตะวันตกจวกว่าจีนเป็นชาติที่ถ่วงให้กระบวนการต่างๆ ชะลอตัว ขณะที่จีนก็โต้กลับว่าไม่เป็นความจริง

 

อย่างไรก็ตาม อินเดียคาดหวังว่าจะได้รับคำมั่นจากบรรดาประเทศร่ำรวยมากกว่านี้ โดยอินเดียสนับสนุนให้มีการขยายกรอบความร่วมมือดังกล่าวไปยังชาติ Global South มากขึ้น รวมถึงกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่หากว่าชาติตะวันตกยังคงยืนกรานที่จะกล่าวโทษจีนว่าเป็นสาเหตุของวิกฤตหนี้สิน ก็อาจทำให้ความฝันของอินเดียนั้นไปไม่ถึงดวงดาวได้

 

นอกจากนี้อินเดียยังหวังที่จะผลักดันให้มีการกำหนดกฎระเบียบกำกับดูแลสกุลเงินคริปโตในระดับโลก และยกเครื่องสถาบันการเงินหลักๆ เช่น ธนาคารโลก และ IMF ด้วย

 

โลกร้อน-โลกรวน

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญนอกเหนือไปจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์และเรื่องเงินๆ ทองๆ คือเรื่องของภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่อินเดียหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยอินเดียกล่าวว่าประเทศยากจนบางประเทศนั้นมีความเปราะบางต่อภาวะสภาพอากาศสุดขั้วอย่างมาก

 

ผู้นำอินเดียได้เขียนบทความฉบับหนึ่งที่มีการเผยแพร่วานนี้ (7 กันยายน) โดยระบุว่า “ความทะเยอทะยานในการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกรวนจะต้องสอดคล้องกับการดำเนินการด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี”

 

คำกล่าวของโมดีนั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่แตกต่างกันของสมาชิก G20 เกี่ยวกับประเด็นการเงินที่จะนำมาใช้เป็นงบแก้ปัญหาโลกรวน โดยปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนานั้นแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยากเข้าร่วมในเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะกังวลว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินที่ไหลเวียนในเศรษฐกิจนั้นลดลง และในทางเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาก็กล่าวโทษประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้วิกฤตสภาพอากาศลุกลาม และประเทศเหล่านี้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบด้วยการช่วยมอบงบประมาณ เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานแก่พวกเขา เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศดังกล่าว

 

ในข้อนี้ แฮปปีมอน เจคอป (Happymon Jacob) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru University ของอินเดีย กล่าวว่า สำหรับตัวเขาแล้ว เขาไม่คิดว่าการประชุม G20 ครั้งนี้จะให้ผลลัพธ์ที่เด็ดขาดเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อต่อสู้ภาวะโลกรวน แต่ถึงเช่นนั้นก็ชัดเจนว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมจะเป็นหนึ่งในหัวข้อใหญ่ที่ชาติสมาชิก G20 รวมถึงเจ้าภาพอย่างอินเดีย จะร่วมกันผลักดันให้ชาติร่ำรวยทุ่มทรัพยากรมาช่วยเหลือปัญหานี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

 

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นงานใหญ่สำหรับอินเดียที่จะต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี พร้อมกับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เพราะมันจะช่วยส่งเสริมสถานะของอินเดียในฐานะชาติมหาอำนาจสำคัญบนเวทีโลก

 

โดยในช่วงเวลาที่เปราะบางเช่นนี้หากอินเดียสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้จริง ก็จะเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าอินเดียไม่ใช่แค่ ‘เข้าใจ’ และยังสามารถ ‘สร้างสมดุล’ ท่ามกลางการขับเคี่ยวกันของชาติต่างๆ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีโมดีในระดับโลก รวมถึงในระดับประเทศ ก่อนที่อินเดียจะเปิดฉากการเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่ในปีหน้าด้วย

 

ภาพ: Money SHARMA / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X