งานวิจัยจาก Economist Impact และ Nippon Foundation เปิดเผยว่า ยอดการใช้งานพลาสติกในกลุ่มประเทศสมาชิก G20 อาจพุ่งขึ้นแตะ 451 ล้านตันในปี 2050 จากระดับ 261 ล้านตันในปี 2019 หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.7 เท่า หากนานาประเทศยังไม่ออกมาตรการใหม่มาเพื่อลดการใช้งานพลาสติก ซึ่งปัจจุบันกำลังสร้างปัญหามลพิษให้กับท้องทะเลเป็นอย่างมาก
งานวิจัยยังระบุด้วยว่า แม้ประเทศต่างๆ จะมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เช่น มีการออกคำสั่งแบนผลิตภัณฑ์จากพลาสติกบางประเภท หรือเรียกเก็บภาษีมากขึ้น แต่ยอดการใช้งานพลาสติกก็ยังมีแนวโน้มสูงแตะ 325 ล้านตันในปี 2050 ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยจึงเน้นย้ำว่า หากนานาชาติไม่งัดใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการใช้งานพลาสติก ปัญหาขยะพลาสติกปนเปื้อนในทะเลก็จะไม่มีทางแก้ไขได้
องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ในแต่ละปีมหาสมุทรทั่วโลกกลายเป็นแหล่งสะสมขยะพลาสติกมากถึง 11 ล้านตัน และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2040 โดยขยะพลาสติกได้สร้างความเสี่ยงต่อชีวิตของสัตว์ทะเลและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศชายฝั่งกว่า 800 สายพันธุ์
นอกจากจะเป็นที่รู้กันดีว่าขยะพลาสติกเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล จากที่เรามักเห็นข่าวเศร้าว่าสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น เต่าทะเล พะยูน หรือแม้กระทั่งวาฬ ยักษ์ใหญ่แห่งมหาสมุทร ต้องมาจบชีวิตลงเพราะกินขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ ล่าสุดยังมีงานวิจัยออกมาด้วยว่าสัตว์บางชนิดก็มีโอกาสตายลงหรือมีโครงสร้างทางร่างกายที่ผิดปกติ หากใช้ชีวิตอยู่ในน้ำทะเลที่เจือปนด้วยพลาสติกในปริมาณที่เข้มข้นสูง ยกตัวอย่างเช่น เม่นทะเล
ที่ผ่านมานั้น กลุ่ม G20 ได้พยายามยกระดับการลดมลพิษจากขยะพลาสติกในทะเล โดยในปี 2019 ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อนึ่ง กลุ่ม G20 ประกอบด้วยอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
แฟ้มภาพ: Larina Marina Via Shutterstock
อ้างอิง: