×

การประชุม G20 ปิดฉาก อินเดียส่งไม้ต่อบราซิลรับหน้าที่ประธานกลุ่มต่อไป

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2023
  • LOADING...
G20

การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 กันยายน) โดยอินเดียได้ส่งมอบตำแหน่งประธานของกลุ่มให้กับบราซิลต่อไป ขณะที่รัสเซียชื่นชมฉันทมติของการประชุมที่ไม่ได้ประณามมอสโกสำหรับการทำสงครามในยูเครน แต่เรียกร้องให้ชาติสมาชิกหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง

 

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ยังได้ขอให้เหล่าผู้นำประเทศสมาชิก G20 จัดการประชุมเสมือนจริงในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เพื่อทบทวนความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อเสนอแนะด้านนโยบายและเป้าหมายที่ประกาศในที่ประชุมช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

“เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องพิจารณาข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นเพื่อดูว่าเราจะสามารถเร่งผลักดันความคืบหน้าได้อย่างไร” ผู้นำอินเดียกล่าวในแถลงการณ์

 

เมื่อวันเสาร์ (9 กันยายน) ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม ที่ประชุม G20 ได้รับรองปฏิญญาผู้นำ (Leaders’ Declaration) ซึ่งหลีกเลี่ยงการประณามรัสเซียสำหรับการทำสงคราม แต่เน้นย้ำถึงความทุกข์ทรมานของประชาชนที่เกิดจากความขัดแย้ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกรัฐไม่ใช้กำลังเพื่อยึดดินแดน

 

ฉันทมติดังกล่าวของที่ประชุมถือเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนถึงการประชุมสุดยอด ประเทศสมาชิกยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับสงคราม ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้อาจคว้าน้ำเหลว โดยชาติตะวันตกเรียกร้องให้สมาชิกประท้วงมอสโกสำหรับการทำสงครามรุกรานยูเครน ด้านรัสเซียขู่ว่าจะขัดขวางมติใดๆ ก็ตามที่ไม่สะท้อนถึงจุดยืนของตน

 

รัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัสเซีย กล่าวว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จสำหรับอินเดียและกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของโลก)

 

ลาฟรอฟกล่าวในการแถลงข่าวว่า จุดยืนของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ในการเจรจาช่วยป้องกันไม่ให้การประชุม G20 ถูกบดบังโดยประเด็นเกี่ยวกับยูเครน “อินเดียรวมสมาชิก G20 จากซีกโลกเข้าด้วยกันได้อย่างแท้จริง”

 

ด้าน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ปฏิญญาของการประชุมสุดยอด “ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการยืนหยัดต่อหลักการที่ว่ารัฐต่างๆ ไม่สามารถใช้กำลังเพื่อแสวงหาการครอบครองดินแดน หรือละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐอื่น”

 

ขณะที่เยอรมนีและอังกฤษต่างชื่นชมปฏิญญาของการประชุมเช่นกัน แต่ยูเครนกล่าวว่า “ไม่มีอะไรน่าภาคภูมิใจ”

 

ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า G20 จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การประชุมนี้จึงไม่ใช่สถานที่ที่จะมาคาดหวังถึงความก้าวหน้าทางการทูตเกี่ยวกับสงครามในยูเครน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวในงานแถลงข่าวว่า ปฏิญญาของกลุ่ม G20 ไม่ใช่ชัยชนะทางการทูตสำหรับรัสเซีย ซึ่งถูกโดดเดี่ยวจากการประชุมสุดยอด

 

ด้านนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าวว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจสั่นคลอนรากฐานของกลุ่ม G20

 

วาระสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ยังรวมถึงการประกาศรับสหภาพแอฟริกา (African Union: AU) ซึ่งประกอบด้วยรัฐสมาชิก 55 ประเทศ เข้าเป็นสมาชิกถาวรของ G20 ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงการเป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้

 

เมื่อวันอาทิตย์ บรรดาผู้นำซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี, นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ, ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ยังได้ไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานของมหาตมะ คานธี วีรบุรุษแห่งเอกราชของอินเดีย รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำส่วนใหญ่เดินเท้าเปล่าไปยังจุดที่เผาศพคานธี ซึ่งถูกลอบสังหารโดยกลุ่มหัวรุนแรงชาวฮินดูในปี 1948

 

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ไบเดนออกเดินทางต่อไปยังเวียดนามทันที โดยไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในช่วงสุดท้าย ทำเนียบขาวเผยว่าไม่ทราบว่าไบเดนได้พูดคุยกับลาฟรอฟ หรือนายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง ของจีน ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนจีนในการประชุมสุดยอดครั้งนี้หรือไม่

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ต่างก็ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่นิวเดลี

 

“นี่เป็นหนึ่งในการประชุมสุดยอด G20 ที่ยากที่สุดในประวัติศาสตร์เกือบ 20 ปีของการประชุม… ใช้เวลาเกือบ 20 วันในการตกลงเกี่ยวกับปฏิญญาก่อนการประชุมสุดยอด และ 5 วันในช่วงของการประชุม” สำนักข่าว Interfax ของรัสเซียรายงานโดยอ้างคำกล่าวของ สเวตลานา ลูกาช ผู้เจรจาของรัฐบาลรัสเซียในการประชุม G20

 

“นั่นไม่ได้เป็นเพราะความขัดแย้งบางประการในประเด็นของยูเครนเท่านั้น แต่ยังเนื่องมาจากความแตกต่างในประเด็นสำคัญทั้งหมด โดยหลักๆ คือประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ…”

 

เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปรายหนึ่งกล่าวว่า สงครามในยูเครนเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในการเจรจา

 

“หากไม่ใช่เพราะความเป็นผู้นำของอินเดียมันคงเป็นไปไม่ได้” เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าว พร้อมเสริมว่า บราซิลและแอฟริกาใต้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความแตกต่างด้วยเช่นกัน

 

ภาพ: Money SHARMA / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising