×

‘สงครามการค้าเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกสู่หุบเหววิกฤต’ สาส์นเตือนจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง-ผู้ว่าธนาคารกลาง G20

12.06.2019
  • LOADING...
สงครามการค้า

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มประเทศ G20 ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน มีบทสรุปร่วมกันโดยยอมรับว่า อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในเวลานี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีความเสี่ยงซวนเซสู่ทิศทางขาลง โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญก็คือ สงครามการค้า
  • ไฮไลต์สำคัญของการประชุมคราวนี้ (ซึ่งจะเป็นวาระหลักในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในช่วงปลายเดือนนี้ด้วย) คือการหาทางรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • นับเป็นครั้งแรกที่มีการหยิบยกเรื่องบทบาทของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในโลกการเงินมาเป็นประเด็นพูดคุยในที่ประชุมอย่างจริงจัง พร้อมเตือนว่า ฟินเทคกำลังสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม

การประชุม G20 ระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ปิดฉากลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขุนคลังและผู้ว่าแบงก์ชาติของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งกลุ่มเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่เห็นพ้องตรงกันว่า สงครามการค้า หรือ Trade War ที่กำลังดุเดือดเข้มข้นอยู่นี้ เป็นภัยคุกคามต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก

 

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เข้าร่วมประชุมด้วย เตือนว่ากำแพงภาษีที่สหรัฐฯ และจีนตั้งขึ้นเพื่อเล่นงานสินค้านำเข้าจากฝ่ายตรงข้าม เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก (GDP) ลง 0.5% ในปี 2020 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เลี่ยงใช้ถ้อยคำหรือแสดงจุดยืนต่อต้านการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ โดยญี่ปุ่นซึ่งดำรงบทบาทประธาน G20 ปีนี้ พยายามลดความขัดแย้ง และหาจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่ทับซ้อนภายในกลุ่ม G20

 

ด้วยเหตุนี้ในแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของ G20 ปีนี้ จึงไม่ได้บรรจุสาส์นเกี่ยวกับแนวคิดต่อต้านนโยบายกีดกันการค้า หรือ Protectionism เหมือนกับที่เคยทำในอดีต

 

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะแถลงการณ์ร่วมของ G20 ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาก็พยายามหลีกเลี่ยงเช่นกัน โดยสาเหตุสำคัญก็เพื่อลดการกระทบกระทั่งกับสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินนโยบายยึดโยงกับหลักการ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีดังกล่าว

 

แถลงการณ์ฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากบนเวที G20 แม้ว่าหลายๆ นโยบายที่ประกาศออกมาจะสวนทางกับกระแสโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่แนวคิดการค้าเสรี ไปจนถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Climate Change   

 

พวกเขาเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกจะได้แรงขับเคลื่อนให้เติบโตได้ในระดับปานกลางในปีนี้ แต่สงครามการค้าจะเพิ่มความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นผู้นำ IMF ซึ่งแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีประชุม G20 ระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่เมืองฟุกุโอกะ จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกกลับไปติดหล่มวิกฤตอีกครั้ง

 

สำหรับสาระสำคัญของประชุมครั้งนี้ THE STANDARD ได้สรุปไว้ดังนี้

 

สงครามการค้า

 

สงครามการค้า – ความเสี่ยงใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลก

บรรดาขุนคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง G20 เห็นตรงกันว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และคาดว่าจะขยายตัวในระดับพอประมาณในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2020

 

การฟื้นตัวจะได้ปัจจัยหนุนจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในบางประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และมีความเสี่ยงซวนเซสู่ทิศทางขาลง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ ปัญหาขัดแย้งทางการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังตึงเครียดขึ้น ซึ่งกลุ่ม G20 ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้ต่อไป และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือ

 

G20 ยังยึดมั่นในพันธกรณีที่จะใช้เครื่องมือนโยบายทั้งหมดในการบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งการป้องกันความเสี่ยงที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ด้วยการส่งเสริมการพูดคุย และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

 

G20 เห็นพ้องว่านโยบายการคลังควรมีลักษณะยืดหยุ่น และเป็นมิตรต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ควรสร้างหลักประกันว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ในระดับที่สร้างความยั่งยืน ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางก็ควรเอื้อต่อการปรับตัวสู่เป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อที่สร้างเสถียรภาพ

 

การปฏิรูปโครงสร้างก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโต โดยที่การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศยังคงเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโต ผลิตภาพ นวัตกรรม การสร้างงาน และการพัฒนา

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความไม่แน่นอนจากปัญหาเทรดวอร์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจตัดสินใจประกาศใช้มาตรการภาษีชุดใหม่กับสินค้าจีนครอบคลุมมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หลังทรัมป์แย้มเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หากการเจรจากับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในที่ประชุม G20 ที่นครโอซาก้าปลายเดือนนี้ไม่คืบหน้า เขาอาจขยายกรอบกำแพงภาษีเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลให้สินค้านำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมดถูกเก็บอากรขาเข้า

 

แม้ G20 เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือกันเพื่อลดความขัดแย้ง และได้แสดงเจตจำนงสานต่อพันธกิจจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปีที่แล้ว แต่หลายฝ่ายมองว่า G20 ควรเริ่มจากการระบุถึงต้นตอปัญหาเป็นลายลักษณ์อักษรในแถลงการณ์ นั่นก็คือการบรรจุคำว่า ‘Protectionism’ ลงไปอย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลา

 

เช่นเดียวกับแถลงการณ์ในปีที่แล้ว พวกเขาเน้นย้ำเพียงว่า ปัญหาตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยไม่ได้ระบุคำว่า ‘การกีดกันทางการค้า’ ลงไปแบบเจาะจง

 

กระนั้น มัตสึมูระ ฮิเดกิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัยญี่ปุ่น แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ที่ประชุมจะไม่เอ่ยถึงจุดยืนต่อนโยบายกีดกันการค้าโดยตรง แต่เขาคิดว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมมีการบรรจุประเด็นเรื่องการค้าเข้าไป

 

มัตสึมูระมองว่า ญี่ปุ่นทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในจุดนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรจุถ้อยคำในแถลงการณ์ที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาโดยตรง

 

ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจถูกเทรดวอร์บดบัง

ไม่ใช่สงครามการค้าเพียงอย่างเดียวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ปีนี้ ได้ชูประเด็นเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทั่วโลกเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมคราวนี้

 

อาโสะ ทาโระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นระบุว่า ปัญหานี้ควรหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้บนโต๊ะประชุมที่มุ่งถกแต่เรื่องข้อพิพาททางการค้าเพียงมิติเดียว

 

บัญชีเดินสะพัดของประเทศต่างๆ ครอบคลุมทั้งดุลการค้าและบริการ ไปจนถึงกำไรจากการลงทุน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ประเทศที่มีแนวโน้มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากจะเป็นประเทศที่ลงทุนในด้านต่างๆ สูง

 

แถลงการณ์ร่วมจากที่ประชุมระบุว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง แต่ปัญหานี้ไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมากขึ้น ดังนั้นจึงแนะให้ประเทศต่างๆ ควบคุมและติดตามองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยนโยบายเศรษฐกิจระดับมหภาคและการปฏิรูปโครงสร้างที่เหมาะสมตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศนั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

 

สงครามการค้า

 

การดิสรัปต์ของฟินเทค อาจทำให้เสถียรภาพการเงินโลกลดลง

อีกหนึ่งวาระสำคัญในที่ประชุมคราวนี้ คือการหามาตรการรับมือกับการขยายบทบาทมากขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในโลกการเงิน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เวที G20 หยิบยกเรื่องบริษัทเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลมาหารือกันอย่างจริงจัง

 

คริสติน ลาการ์ด เตือนว่า บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกกำลังมีอิทธิพลต่อระบบการเงินโลกอย่างมีนัยสำคัญ และอาจสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวม

 

“กระแสดิสรัปชันที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเงินโลก อาจเกิดจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ซึ่งมีฐานลูกค้าขนาดมหึมา และใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินบนพื้นฐาน Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยบริษัทบางแห่งสามารถให้บริการชำระเงิน และการชำระหนี้ตามกฎหมายด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้” ผู้นำ IMF กล่าว

 

เธอมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วยให้สิ่งต่างๆ มีความทันสมัยขึ้น เช่น การชำระเงินซื้อสินค้าและบริการ รวมไปถึงการกู้ยืมเงิน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการรวบอำนาจครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง

 

หากการดิสรัปต์เช่นนี้ดำเนินต่อไป โมเดลธุรกิจของธนาคารและบริษัทประกันภัยก็จะตกอยู่ในความเสี่ยง ในขณะที่ผู้ให้บริการและสตาร์ทอัพในรูปแบบฟินเทคสามารถมอบบริการที่สะดวกสบายและการเข้าถึงที่ง่ายกว่าให้กับลูกค้า

 

“บริษัทเทคโนโลยีอาจช่วยให้ผู้คนเข้าสู่ระบบการเงินได้มากขึ้น แต่โมเดลธุรกิจของพวกเขาก็ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว การแข่งขัน และการผูกขาดตลาด โดยสิ่งเหล่านี้อาจทำให้ระบบการเงินอ่อนแอลง” ลาการ์ดกล่าว

 

การเติบโตอย่างรวดเร็วของฟินเทคช่วยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินที่ราคาถูก ในขณะที่ธนาคารแบบดั้งเดิมมีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากบางส่วนก็ปิดตัวลงจากกระแสดิจิทัลดิสรัปชัน

 

ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงปัญหานี้ และกำลังจับตาการขยายบทบาทของฟินเทคผ่านระบบการชำระเงินบนมือถือ โดยรัฐบาลหลายประเทศกำลังวิตกถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะฟินเทคกำลังสร้างผลกระทบ (ดิสรัปต์) ต่ออุตสาหกรรมการเงินที่มีอายุหลายร้อยปี

 

ด้วยเหตุนี้ที่ประชุม G20 ระดับรัฐมนตรีคลังคราวนี้ จึงถกกันในเรื่องทางเลือกต่างๆ ซึ่งหนึ่งในมาตรการก็คือการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล โดยให้อิงจากแหล่งที่มาของกำไร มากกว่าการอิงสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่

 

อาจกล่าวได้ว่าเวทีประชุม G20 ระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางถือเป็นการโหมโรงก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่เมืองโอซาก้า ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ โดยประเด็นหลักในที่ประชุมจะถูกส่งต่อมาพูดคุยกันในเวทีระดับผู้นำประเทศ ซึ่งน่าจับตาว่า การหารือนอกรอบระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับสีจิ้นผิง จะเกิดผลลัพธ์เป็นบวกหรือไม่ แต่คาดว่าแถลงการณ์ร่วมในที่ประชุมใหญ่จะยังคงเลี่ยงใช้ถ้อยคำที่เอ่ยถึง ‘การกีดกันการค้า’ อันเป็นการพาดพิงถึงสหรัฐฯ โดยตรง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising