สำนักข่าว Reuters รายงานว่า วันนี้ (15 พฤศจิกายน) บรรดาผู้นำจากกลุ่มประเทศ G20 อยู่ในระหว่างพิจารณาร่างข้อมติในการประณามรัสเซียที่เปิดฉากทำสงครามในยูเครน ซึ่งยิ่งซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก
ประเทศส่วนใหญ่ของกลุ่ม G20 เห็นพ้องที่จะให้มีการประณามรัสเซีย โดยร่างคำประกาศซึ่งมีความยาวรวม 16 หน้า มีบางช่วงบางตอนที่ระบุไว้ว่า “สมาชิกส่วนใหญ่ประณามอย่างรุนแรงต่อสงครามในยูเครน และเน้นย้ำว่าสงครามได้สร้างความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษย์ และทำให้เศรษฐกิจโลกเปราะบางมากกว่าเดิม” และ “การประชุม G20 ไม่ใช่การประชุมที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านความมั่นคง แต่ถึงเช่นนั้น ที่ประชุมก็ตระหนักว่าปัญหาด้านความมั่นคงอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก”
อย่างไรก็ตาม ร่างคำประกาศดังกล่าวระบุด้วยว่า มีบางประเทศที่มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมถึงการออกมาตรการคว่ำบาตร โดยเอกสารที่ Reuters นำมาเสนอนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากที่ประชุม และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมได้ในอนาคต
หากย้อนดูจากเหตุการณ์ในอดีต การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม G20 ในช่วงที่ผ่านมาก็ประสบความล้มเหลวในการออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยเหตุผลหนึ่งคือที่ประชุมหาข้อสรุปไม่ได้ว่าควรใช้ภาษารูปแบบใดในการอธิบายภาพของสงครามที่เกิดขึ้น ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สำหรับร่างคำประกาศล่าสุดนี้ ข้อความที่ใช้คือคำว่า ‘สงครามในยูเครน’ มิใช่ ‘สงครามของรัสเซียในยูเครน’ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าร่างดังกล่าวพยายามที่จะประนีประนอมอยู่ด้วย
อนึ่ง การประชุมในครั้งนี้เป็นเวทีแรกที่ผู้นำจากกลุ่ม G20 ได้มาร่วมประชุมกันนับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัสเซียเลี่ยงที่จะใช้คำว่าการก่อสงคราม แต่ระบุว่าเป็น ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’
ขณะเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้กล่าวปราศรัยผ่านทางวิดีโอลิงก์ว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่จะหยุดยั้งสงครามที่เกิดขึ้น โดยจะต้องยุติลงด้วยความยุติธรรม และอยู่บนพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการจำกัดราคาพลังงานรัสเซีย และขยายโครงการริเริ่มการส่งออกธัญพืช พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษยูเครนทั้งหมด
ขณะที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ในฐานะผู้นำประเทศเจ้าภาพ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสามัคคีกัน และกำหนดแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก แม้จะมีความขัดแย้งจากสงครามที่กำลังเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการประชุมได้มีเสียงเรียกร้องจากผู้นำชาติตะวันตกบางคนที่ต้องการให้แบนรัสเซียจากการประชุมครั้งนี้ แต่อินโดนีเซียยังคงยืนกรานที่จะเชิญรัสเซียมา แม้ในท้ายที่สุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะติดภารกิจจนไม่สามารถเดินทางมาร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง
สำหรับท่าทีของจีนซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของรัสเซียนั้น มีรายงานจากสื่อจีนว่า ในวันนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ในระหว่างการประชุมระดับทวิภาคีว่า จีนสนับสนุนการหยุดยิงในยูเครน และอยากให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างสันติ ขณะแถลงการณ์จากทำเนียบขาวเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และสีจิ้นผิง ได้เน้นย้ำว่าพวกเขาคัดค้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนระหว่างการหารือแบบตัวต่อตัวเมื่อวานนี้ด้วย
ภาพ: Kay Nietfeld / Picture Alliance via Getty Images
อ้างอิง: