×

เสียงเตือนจาก ธปท. กรณีระดมทุนผ่าน G-Token ย้ำต้องไม่ใช้สร้างเงินและไม่นำมาใช้เป็นสื่อกลางชำระเงิน แนะรัฐทดลองในวงจำกัดภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์

17.05.2025
  • LOADING...
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงความเห็นต่อ G-Token

ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งความเห็นถึงรัฐบาล กรณีออกโทเคนดิจิทัล (G-Token) แนะให้ทดลองออกในวงจำกัด (Pilot Project) ก่อนนำไปใช้ระดมทุนจากประชาชนรายย่อยในวงกว้าง และต้องดำเนินการภายใต้ 5 ประการ รวมถึงอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ย้ำต้องไม่นำ G-Token มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือเวียนเสนอความคิดเห็นต่อการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (G-Token) หนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ล. 336/2568 เรื่อง ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อการขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะในรูปแบบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล ลงวันที่ 3 เม.ย.2568 ลงนามโดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.

 

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

 

ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 0503/ว(ล) 6346 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2568 แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเป็นการระดมทุนในรูปแบบการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) เพื่อพัฒนากลไกการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพ และภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

 

ธปท. ขอเรียนว่า การออกโทเคนดิจิทัล เป็นหนึ่งในวิธีการระดมทุนที่รัฐบาลอาจพิจารณาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมให้สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงเป็นทางเลือกในการลงทุนและการออมของประชาชน

 

ทั้งนี้ การออก G-Token เทียบได้กับการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น การออก G-Token จึงจำเป็นที่ต้องมีระบบและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เป็นไปตามกรอบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุนเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งต้องมีองค์ประกอบในการดำเนินการอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้

 

  1. ระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ G-Token ต้องมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยระบบที่รองรับการให้บริการต้องมีความเสถียร มั่นคง และปลอดภัย ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบัน โดยครอบคลุมตั้งแต่การเสนอขาย การตรวจสอบธุรกรรม การจัดการทะเบียนของผู้ถือ การเก็บรักษาและรับฝาก และการไถ่ถอน รวมทั้งผู้ให้บริการต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมกับรัฐบาลในการจัดการโทเคนดิจิทัล ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น หากมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถไถ่ถอนโทเคนดิจิทัลเป็นเงินได้ ผู้ให้บริการต้องแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เพื่อมิให้ส่งผลต่อการออกพันธบัตรรัฐบาลและการระดมทุนของรัฐบาลในวงกว้าง

 

  1. การออก G-Token ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสม โดย G-Token มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนและการออม โดยมีลักษณะและสาระสำคัญเทียบเท่าตราสารหนี้ภาครัฐอื่นๆ ที่ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากรัฐบาล ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 อีกทั้ง G-Token มีวัตถุประสงค์ต่างจากโทเคนดิจิทัลประเภทที่ให้สิทธิได้รับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token) เช่น บัตรกำนัลดิจิทัล ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561

 

ดังนั้น การออก G-Token จึงควรอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่แน่นอนของสถานะทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้รองรับกับการออกและการกำกับดูแลหลักทรัพย์ที่ออกโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งน่าจะเป็นกรอบกฎหมายที่เหมาะสมกับการออก G-Token มากกว่า

 

  1. การระดมทุนด้วย G-Token ต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง เช่นเดียวกับการกู้ยืมเงินของรัฐบาลผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยต้องนับเป็นการกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ

 

  1. การบริหารจัดการ G-Token ต้องไม่มีขั้นตอนใดที่เป็นการสร้างเงิน ซึ่งจะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา เช่น หากมีการจ่ายผลตอบแทนของ G-Token ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลใดๆ รัฐบาลจะต้องเตรียมเงินเต็มจำนวน (Fully Backed) เพื่อรองรับ เช่น ในกรณีของรัฐบาลฮ่องกงที่มีการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบโทเคนดิจิทัล (Tokenized Green Bond) ก็ได้เตรียมเงินไว้เต็มจำนวนเพื่อรองรับการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือ

 

  1. การออก G-Token ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนและการออมของประชาชนเท่านั้น โดยต้องไม่นำ G-Token มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน (Means of Payment: MOP) โดยต้องมีกลไกติดตามเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วย

 

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงความเห็นต่อ G-Token

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ธปท. มีความเห็นว่า การระดมทุนด้วยการออก G-Token ของรัฐบาล ควรทำเป็นโครงการทดสอบในวงจำกัด (Pilot Project) ก่อน เพื่อที่จะได้ทดสอบให้มั่นใจว่า การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กับระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่การออกเสนอขายจนสิ้นสุดที่การไถ่ถอน มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงประเมินความเสี่ยงได้อย่างรอบด้าน และปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรัดกุม ก่อนที่รัฐบาลจะนำไปใช้ระดมทุนจากประชาชนรายย่อยในวงกว้างต่อไป

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนของภาครัฐ และส่วนใหญ่เป็นการทำในระดับ Pilot Project เท่านั้น โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมในภาคการเงินเช่นเดียวกัน เช่น โครงการพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศ (โครงการ mBridge) ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการทีละขั้นตอน โดยเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงแนวคิด (Proof-of-Concept) ก่อนขยายไปสู่การทดสอบในระดับ Pilot Project แล้วจึงนำผลจากการทดสอบมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สามารถนำระบบมาใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

อนึ่ง ในระหว่างที่รัฐบาลทำ Pilot Project ดังกล่าว ประชาชนก็ยังคงสามารถลงทุนและเก็บออมผ่านพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้วด้วย เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ดิจิทัล “วอลเล็ต สะสมบอนด์มั่งคั่ง” ซึ่งประชาชนสามารถซื้อขายพันธบัตรผ่าน mobile application ได้โดยสะดวก

 

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงความเห็นต่อ G-Token

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising