×

สร้าง Edutainment พลิกโฉมวงการมิวเซียมไทย อว. เตรียมปั้น ‘Futurium’ พิพิธภัณฑ์แห่งโลกอนาคตที่ช่วยเพิ่มจินตนาการเด็ก

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2023
  • LOADING...
ศุภมาส อิศรภักดี

วันนี้ (6 พฤศจิกายน) ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากความฝันของตนในฐานะคุณแม่ที่เคยพาลูกไปต่างประเทศ แล้วคิดเอาเองว่านี่คือเหตุผลที่ทำไมเด็กต่างชาติโตไวกว่าเด็กไทย มีความกล้าแสดงออกมากกว่า ซึ่งเขาน่าจะโตมาท่ามกลางสิ่งที่เจอในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของต่างประเทศ เมื่อตนได้มีโอกาสอยู่ในกระทรวง อว. ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มากมายในสังกัด จึงมีโครงการให้ปรับปรุง โดยมีพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่งที่ตนจะผลักดันทำให้สำเร็จในเร็ววัน คือศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือ Futurium ซึ่งมาจากคำว่า Future ที่แปลว่าอนาคต ประกอบด้วย 2 ส่วน

 

ส่วนแรกคือ Job World ซึ่งอยากให้ลองนึกถึงอาชีพจำลองของเด็กๆ เช่น หากอยากเป็นนักบิน พนักงานธนาคาร พนักงานดับเพลิง คนทำเบเกอรี ตำรวจ ทหาร จะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการสร้างจินตนาการให้เด็ก ซึ่งหากใครมีลูกจะรู้ว่าต้องอ่านนิทานให้ลูกฟัง คุณหมอเด็กก็แนะนำเพราะสำหรับเด็กจินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็อยู่ในหัวตลอดมา อย่างที่หลายคนบอกว่าให้ลูกเล่นไปเล่นเยอะๆ เล่นบทบาทสมมติ เล่นเป็นครู เป็นพ่อแม่ ซึ่งเด็กสมัยนี้มีศูนย์เรียนรู้ให้เล่นมากขึ้น สามารถไปในที่เล่นของเด็กต่างๆ ถือเป็นการเสริมสร้างจินตนาการให้เด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาและคุณหมอบอกว่าสำคัญที่สุด ดังนั้น Job World เราจะมีที่ให้เด็กๆ ได้เข้าไปเล่นแบบสนุกไม่ใช่วิชาการ แต่จะมีการทดลองแล็บต่างๆ ให้เด็กๆ ได้ทดลอง

 

ส่วนที่สอง ฝั่งอนาคต คืออาชีพในอนาคต อาชีพใหม่ที่เราอาจไม่รู้จัก เช่น นักตัดต่อพันธุกรรม นักประดิษฐ์เสื้อทนความร้อน นักสร้างหุ่นยนต์ และนักสร้างเครื่องมือแพทย์ เป็นอาชีพในอนาคต ซึ่งความจริงแล้วที่ต่างประเทศมี ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะเปิดคณะแปลกๆ ที่ฟังแล้วยังคิดว่าคือคณะอะไร และอาชีพนักให้คำแนะนำว่าแต่ละบริษัทควรทำการตลาดแบบไหน มีโลโก้แบบไหน 

 

สิ่งเหล่านี้เป็นโลกอนาคตที่ไม่ไกลเกินเอื้อมของเด็กไทยที่กำลังเติบโตขึ้นมา รวมทั้งผู้ใหญ่เองด้วย หรืออยากจะเป็นศิลปินเคป๊อปจะต้องทำอย่างไร โดย Job World อาจมีอาชีพผู้ประกาศข่าวให้เด็กได้ลองดู และทาง อว. ได้สนับสนุนทุนให้ทำในส่วนนี้ เช่น การทำหนังสั้น เด็กๆ สามารถเข้าไปสถานที่แห่งนี้ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI หรือโปรแกรมจำลองต่างๆ ได้ด้วยตัวของเด็กเอง ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีหูตากว้างไกล โตไวขึ้น ประสบความสำเร็จได้ตามที่ต้องการ เพราะเขาได้ไปทดลองว่าอาชีพที่เขาต้องการนั้นเป็นอย่างที่คิดหรือไม่ 

 

ศุภมาสกล่าวว่า อย่างสมัยเราคือการจินตนาการ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่ที่ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือ Futurium จะบอกเยาวชนได้ว่าอาชีพไหนเป็นอย่างไร ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอาชีพในอนาคต ยังมีแต่อาชีพที่เป็นปัจจุบัน แต่ที่ Job World เราทำการบ้านอย่างหนัก ศึกษาหลายประเทศ มีการสร้างคน สร้างจินตนาการของเด็กก็จะเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป ซึ่งกระทรวง อว. พยายามทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น

 

รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์สตัฟฟ์ ที่เห็นช้างตัวใหญ่จริงๆ เห็นปลาพะยูนที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ชื่อว่าองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่สตัฟฟ์สัตว์ ทุกที่ในประเทศต้องส่งมาสตัฟฟ์ที่นี่เท่านั้น ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำเป็นระบบ แต่ต่อไปนี้มีความตั้งใจที่จะทำ MOU กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอื่นๆ ที่ดูแลสัตว์ เช่น หากมีสัตว์ป่าหายากตายก็อาจส่งมาทำการสตัฟฟ์ ตนเคยไปเห็นที่ฝรั่งเศส ตัวใหญ่มาก ลูกตื่นเต้นมาก เพราะเหมือนจริง ถ้าเราทำรูปปั้น ปูนปลาสเตอร์ หรือเรซิน มันก็ไม่เหมือน แต่ถ้าสัตว์จริงเราจะได้เห็นทุกอย่างที่เป็นของจริง

 

ดังนั้นพิพิธภัณฑ์สัตว์ไทย สัตว์หายาก ที่เป็นของสงวนสตัฟฟ์ เราจะได้รับการส่งต่อความกรุณามาจากหน่วยงานอื่นๆ หรือแม้กระทั่งสัตว์น้ำที่หายากๆ หรือสุนัขที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่เคยทำประโยชน์ให้เราสามารถเก็บเขาไว้ในพิพิธภัณฑ์ได้ 

 

“พิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันที่มีอยู่ก็ดีมาก แต่ยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไป เช่น ไดโนเสาร์ก็ยังเป็นไดโนเสาร์ที่ยังขยับไม่ได้ แต่เอกชนเขาขยับได้แล้ว เราก็พยายามทำ แต่ติดตรงที่ว่าที่ตั้งที่ได้รับจากรัฐบาลนั้นค่อนข้างไกล คือที่คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำให้ผู้ปกครองพาไปค่อนข้างยาก แต่เราได้คุยกันว่า ขนาดสวนสนุก สวนสัตว์ไกลๆ คนยังไปกันได้ ถ้าสถานที่น่าสนใจ และมีการโปรโมตที่เพียงพอ พ่อแม่ก็พาไปได้ เพราะฉะนั้นเรื่องสถานที่อาจเป็นอุปสรรคจริง แต่อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะทำให้คนไม่สนใจ แต่สิ่งที่คนไม่ได้ไปคือคนไม่รู้จัก หรือไปแล้วไม่ได้อยากไปอีก และนี่คือภารกิจของกระทรวง อว. ที่จะทำให้ฝันของเด็กๆ เป็นจริงขึ้นมา เติบโตขึ้นมาด้วยจินตนาการที่พร้อมที่จะไปถึงดวงจันทร์ได้”

 

ศุภมาสกล่าวว่า อยากให้เด็กมองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่ามีอาชีพที่หลากหลายและอาชีพในอนาคต เด็กๆ เดี๋ยวนี้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน เขาก็เห็นแล้วว่าอาชีพต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่ศึกษาไม่ได้ เพียงแต่ตรงนี้เป็นการส่งเสริมจากรัฐบาล เป็นสิ่งที่ไม่ได้แบนๆ อยู่ในจอ เราอาจเห็นเสือพันธุ์หายากได้ในอินเทอร์เน็ต แต่วันนี้จะได้เห็นตัวจริง เด็กๆ อาจดูจากในยูทูบเห็นพะยูนตาย แต่วันนี้จะได้เห็นตัวจริงๆ สิ่งเหล่านี้เราพยายามให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเราถือว่าพ่อแม่ลูกพากันไปเที่ยวถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรมสถาบันครอบครัวด้วย เด็กไปเที่ยวสวนสนุกก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพราะถือเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง

 

ขณะที่พิพิธภัณฑ์ของเราเปรียบเสมือน Edutainment คือมีคอนเทนต์ มีเนื้อหาเรื่องราวด้วย เช่น ได้รู้ว่าโลกเรามีกี่ฤดู หรือมีสัตว์จากเขตต่างๆ หรือเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเมืองไทยเพิ่งเริ่ม แต่ที่พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศมี AI ทุกที่ พอมี AI โลกมันง่ายขึ้น ดังนั้น AI คือเครื่องมือในการทำงานให้กับเด็กๆ ในอนาคต 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising