×

อนาฅต บริบทแบบไทยๆ จะเปลี่ยนแปลงไหมในโลกอนาคต?

11.12.2024
  • LOADING...
อนาฅต Netflix

HIGHLIGHTS

  • ชื่อกามาลอร์ซิตี้มีสองความหมาย ทั้งเป็นเมืองแห่งกามารมณ์ และความกำมะลอ หรือเมืองปลอมๆ ที่ไม่มีอยู่จริง เหมือนกับที่สังคมไทยไม่เคยยอมรับการค้าบริการทางเพศว่ามีอยู่และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ และแม้จะเล่าเรื่องของโลกอนาคต แต่ เทคโนโยนี กลับใช้องค์ประกอบศิลป์จากยุค 60-70 ซึ่งเป็นยุคที่ซอฟต์พาวเวอร์ของโสเภณีไทยกระจายไปทั่วโลกผ่านทหารจีไอในยุคนั้น 
  • ความน่าสนใจของ ศาสดาต้า ว่าด้วยการตีความศาสนาผ่านมุมมองที่ต่างกันโดยที่ไม่มีใครถูกผิด เพราะในขณะที่ ULTRA ใช้วิธีทำบุญหวังผลและวัตถุนิยมเป็นตัวล่อ ศาสนาในวิถีเดิมก็ใช้วัตถุมงคลชักจูงให้ผู้คนศรัทธาเหมือนกัน และถึงแม้ ULTRA จะแปลกใหม่และตั้งใจจะมาแทนที่พระสงฆ์ แต่สุดท้ายก็ยังอยากได้พระสงฆ์เข้าร่วมเพื่อให้พระรัตนตรัยครบองค์อยู่ดี 
  • หลังจากตอนอื่นๆ ในซีรีส์ อนาฅต เลือกหยิบประเด็นไทยๆ ออกมาตีแผ่ แต่ เด็กหญิงปลาหมึก เลือกประเด็นสากลกว่านั้นคือเรื่องภาวะโลกร้อน แล้วเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเวรี่ไทยเข้าไปใส่อย่างมันมือ จนกลายเป็นซีรีส์ตลกร้ายคล้ายๆ กับนิสัยของคนไทย ที่เรามักมีอารมณ์ขันกับชะตากรรมของตัวเอง

 

 

“โลกทันสมัยแต่แนวคิดแบบไทยๆ ทันสมัยตามโลกหรือเปล่า” นี่คงเป็นคำถามที่ทำให้ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา สร้างสรรค์ อนาฅต ซีรีส์จบในตอน 4 เรื่อง ว่าด้วยโลกอนาคตในบริบทแบบไทยๆ กลายเป็นซีรีส์ไซไฟที่คอนเทนต์ไทยยังไม่ค่อยมีใครทำ เมื่อบวกเงินทุนหนาๆ จาก Netflix กับความเชี่ยวชาญด้านซีจีของผู้กำกับ อนาฅต จึงเนรมิตภาพเมืองไทยในอนาคตโดยแฝงกลิ่นอายแบบไทยๆ ได้อย่างครบถ้วน

 

ที่สำคัญไม่ใช่แค่ภาพสวย แต่ประเด็นที่เอาใส่ก็น่าสนใจ สะท้อนความเป็นไทยแบบจิกกัดพอประมาณ และยังซาบซึ้ง จริงใจ ไม่ตัดสิน กลายเป็นซีรีส์ดีๆ มีรายละเอียดมากมายให้คนดูได้ขบคิด 

 

(บทความเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง)

 

 

นิราศแกะดำ หรือว่าโลกนี้ไม่มีที่ว่างให้ ‘แกะดำ’ 

 

เปิดตัวซีรีส์ด้วยอีพีแรกที่พาคนดูไปสู่อนาคตของเมืองไทยในอีก 15 ปีข้างหน้า ว่าด้วยเรื่องราวของ หมอนุ่น (อิ้งค์-วรันธร เปานิล) นักบินอวกาศหญิงไทยคนแรกที่ได้ขึ้นไปทำวิจัยเรื่องการสร้างอวัยวะมนุษย์บนสถานีอวกาศ ซึ่งในขณะที่จะกลับมายังโลกยานอวกาศเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เธอเสียชีวิต ทำให้ นนท์ (บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ตกอยู่ในอารมณ์โศกเศร้า จนมีความคิดที่จะโคลนนิ่งร่างนุ่นกลับมาอีกครั้ง 

 

นนท์ไปขอความช่วยเหลือจาก หมอวี (ปอย-ตรีชฎา หงษ์หยก) และขโมยร่างของนุ่นจากครอบครัวที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ จนกระทั่งเข้าสู่ขั้นตอนการถ่ายโอนความทรงจำ ทำให้ความลับที่ซ่อนไว้ของนุ่นเปิดเผยออกมา

 

 

จากบทสัมภาษณ์ของปวีณเล่าว่า ทั้งชื่อของบุคคลและสถานที่ในเรื่องมีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่ ก็ไม่แปลกที่เราจะสะดุดหูกับชื่อจริงของหมอนุ่นคือ กนิษฐภาดา สมพงษ์ ณ ดารา ซึ่งนามสกุลหมายถึงการร่วมวงศ์ตระกูลบนดวงดาว มีความหมายโดยนัยว่าเพศวิถีของเธอยังไม่ยอมรับแบบสนิทใจบนโลกมนุษย์ เมื่อรวมกับหลักวิทยาศาสตร์ที่ผู้สร้างหยิบมาเล่าคือเซลล์ใหม่ไม่อาจเติบโตภายใต้แรงโน้มถ่วง ก็เหมือนสิ่งใหม่แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้บนโลกใบนี้ 

 

และแม้ซีรีส์จะว่าด้วยเรื่องอวกาศและวิทยาศาสตร์ล้ำสมัย แต่แนวคิดแบบไทยๆ ยังสอดแทรกอยู่มากมายผ่านครอบครัวของนุ่น ทั้งพ่อที่ไม่อาจยอมรับตัวตนของลูกได้ หรือแม่ที่เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้คือเวรกรรม การจากไปของนุ่นจึงเหมือนการสิ้นเวรหมดกรรมที่ครอบครัวไม่คิดอยากให้นุ่นกลับมา

 

นอกจากตัวบท สิ่งที่น่าชื่นชมคือการแสดงของ อิ้งค์ วรันธร ที่ทำออกมาได้ดี ยิ่งเมื่อย้อนดูตอนที่ทุกอย่างเฉลยแล้ว จะเห็นความพอดิบพอดีตามวิถีทางเพศของเธอ อีกส่วนที่น่าจะประทับใจคือในตอนจบที่สุดท้ายนุ่นได้กลายเป็นสิ่งที่อยากเป็นแบบไม่ตัดสิน ไม่ระบุเพศ ทำให้เนื้อหาของ นิราศแกะดำ ไม่ใช่เรื่องราวของผู้หญิงที่อยากเป็นผู้ชาย แต่คือเรื่องราวของใครก็ได้ที่อยากเป็นตัวของตัวเอง

 

 

เทคโนโยนี ยอมรับเสียทีว่าโสเภณีมีอยู่จริง

 

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือคนไทยเป็นคนที่เปิดกว้าง เรายอมรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นยอมรับความจริง โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจบริการทางเพศ ซึ่งเทคโนโยนี หยิบประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึง ในเมื่อไม่ยอมรับว่ามีก็หาสิ่งอื่นขึ้นมาทดแทนนั่นคือ Sex Robot 

 

เจสสิก้า (วี-วิโอเลต วอเทียร์) เป็นลูกสาวของโสเภณีคนหนึ่ง เธอเกิดและเติบโตที่กามาลอร์ซิตี้ ศูนย์รวมแห่งอุตสาหกรรมเรื่องเพศของไทย เจสสิก้าเป็นเด็กหัวดีจึงได้ทุนไปเรียนต่อที่ MIT แล้วเกิดไอเดียเปิดบริษัทสตาร์ทอัพในชื่อ ParadiseX เพื่อผลิตเซ็กซ์ทอย รวบรวมภูมิปัญญาด้านกามารมณ์ของกะหรี่ตัวแม่เอาไว้ในหุ่น Sex Robot  

 

ปรากฏว่าสินค้าของเธอขายดีและเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติที่ติดใจในรสชาติความแซ่บนัวของโสเภณีไทย แต่ในประเทศแม่กลับไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก็คงไม่ใส่ใจเพราะอย่างไรก็รวยแล้ว แต่สำหรับเจสสิก้า Sex Robot เป็นมากกว่าสินค้า เพราะเธอตั้งใจสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมและปมในอดีตของตัวเอง แต่ยิ่งนานวันก็ยิ่งเกิดคำถามว่า สิ่งที่เธอทำอยู่มันจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า? 

 

 

ชื่อกามาลอร์ซิตี้มีสองความหมาย ทั้งเป็นเมืองแห่งกามารมณ์ และความกำมะลอ หรือเมืองปลอมๆ ที่ไม่มีอยู่จริง เหมือนกับที่สังคมไทยไม่เคยยอมรับการค้าบริการทางเพศว่ามีอยู่และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ และแม้จะเล่าเรื่องของโลกอนาคต แต่ เทคโนโยนี กลับใช้องค์ประกอบศิลป์จากยุค 60-70 ซึ่งเป็นยุคที่ซอฟต์พาวเวอร์ของโสเภณีไทยกระจายไปทั่วโลกผ่านทหารจีไอในยุคนั้น 

 

นอกจากการจิกกัดความมือถือสากปากถือศีลแล้ว ความโดดเด่นของ เทคโนโยนี คือการไม่ตัดสินถูกผิด เพราะแม้จะมีนวัตกรรมที่เข้ามาบำบัดอาการคันของผู้คนแล้ว แต่ก็มีผลกระทบที่ตามมา อีกส่วนคือเรื่องการค้าประเวณีในเด็กที่คนดูไม่ได้เห็นการบังคับขืนใจแต่อย่างใด แต่อยู่ในภาวะจำยอมเพื่อปากท้อง กลายเป็นสังคมที่ต้องหาทางออก 

  

 

 

 

ศาสดาต้า ศาสนาเสื่อมหรือคนเสื่อม 

 

ท่ามกลางข่าวฉาวแวดวงสงฆ์ในปัจจุบัน จนเกิดเป็นคำถามว่าถ้าในอีกเกือบ 10 ปีข้างหน้าเกิดปัญญาประดิษฐ์รวบรวมพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สามารถติดตามเราไปได้ทุกที่ แบบนี้พระสงฆ์ยังจำเป็นอยู่ไหม? 

 

ULTRA เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่รวบรวมเอาพระธรรมคำสอนจากพระไตรปิฎก เอาไว้อย่างครบถ้วนจนใกล้เคียงคำสอนของพระพุทธเจ้ามากที่สุด สร้างสรรค์โดย นีโอ (เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ที่เคยเจ็บปวดจากความเชื่อทางศาสนา ความพิเศษของเจ้าสิ่งนี้คือมีระบบแต้มบุญ สามารถนำไปเป็นส่วนลดสินค้าและบริการต่างๆ ตามสโลแกนที่ว่า “ทำบุญชาตินี้ต้องได้ใช้ชาตินี้”

 

ปรากฏว่า ULTRA ได้รับความนิยมอย่างมากจนคนเสื่อมศรัทธาในวัดและพระสงฆ์ ขณะเดียวกันเจ้าเครื่องนี้ก็มีประเด็นผิดเพี้ยนหลายอย่าง ทำให้ พระอเนก (เร แม๊คโดแนลด์) อดีตวิศวกรไอทีบริษัทดัง ร่วมมือกับ อะตอม (เผือก-พงศธร จงวิลาส) สร้าง AI ในวิถีพุทธศาสนาแบบเดิมในชื่อ IBUDDHA ขึ้นมาต่อกร กลายเป็นการต่อสู้บนเส้นทางความเชื่อ

 

 

 

ศาสดาต้า โยนคำถามที่ยากจะหาคำตอบ และผู้ชนะอย่างแท้จริงเมื่อสิ่งประดิษฐ์อย่าง ULTRA คือพระธรรมคำสอนที่แทบจะบริสุทธิ์ เหมือนการป้อนข้อมูลดีๆ ในคอมพิวเตอร์ เพียงแต่สเปกแต่ละเครื่องไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างจนกลายเป็นเครื่องมือของทุนนิยม

 

ขณะเดียวกันแนวทางของพระอเนกคือการใส่ตัวกรองผ่านผู้เชี่ยวชาญ นั่นคือพระสงฆ์ระดับเกจิ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมี Human Error เพราะเอาเข้าจริงๆ ต่อให้แก่พรรษาขนาดไหนพระก็ยังคงเป็นนักศึกษาหาทางดับกิเลสของตัวเอง จนเกิดเป็นเรื่องราวอย่างที่เราเห็นในซีรีส์ ที่หนึ่งในตัวละครบอกไว้ “เราเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่พระอริยะ”

 

 

ความน่าสนใจของ ศาสดาต้า ว่าด้วยการตีความศาสนาผ่านมุมมองที่ต่างกันโดยที่ไม่มีใครถูกผิด เพราะในขณะที่ ULTRA ใช้วิธีทำบุญหวังผลและวัตถุนิยมเป็นตัวล่อ ศาสนาในวิถีเดิมก็ใช้วัตถุมงคลชักจูงให้ผู้คนศรัทธาเหมือนกัน และถึงแม้ ULTRA จะแปลกใหม่และตั้งใจจะมาแทนที่พระสงฆ์ แต่สุดท้ายก็ยังอยากได้พระสงฆ์เข้าร่วมเพื่อให้พระรัตนตรัยครบองค์อยู่ดี 

 

อีกส่วนที่น่าชื่นชมคือการแสดงเป็นพระยุคใหม่สายเคร่งของ เร แม๊คโดแนลด์ ที่ทำออกมาได้พอดิบพอดี แบบไม่จำเป็นต้องสุขุม ลุ่มลึก ดูทรงภูมิ แต่มีความเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่สนใจศึกษาพระธรรมมากกว่า  

 

 

เด็กหญิงปลาหมึก ปลาหมึกแถวล่างของสังคมไทย 

 

ว่าด้วยเรื่องราวในปี 2594 คนทั้งโลกเจอกับฝนที่ตกไม่หยุดต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 ปีจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดโลกระบาดใหม่ที่มากับน้ำ จนองค์การอนามัยโลกคิดค้นวัคซีนมนุษย์น้ำ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ก็ต้องยอมรับผลข้างเคียงคือจะมีหนวดงอกออกมาเหมือนหมึก 

 

กัลปังหา (มินนา-วณิชชยา พรมปนฤทธิชัย) และ มุก (แตงกวา-ชนัญธิชา ชัยภา) เป็นเด็กที่เติบโตที่นีโอคลองเตย ชุมชนแออัดที่ยังคงอยู่ในระดับล่างสุดของกรุงเทพฯ ขณะที่คนอื่นๆ ย้ายขึ้นสู่ที่สูงเพื่อหนีน้ำกันไปหมดแล้ว ทั้งคู่ตั้งใจช่วยเหลือชุมชนด้วยการไปประกวดร้องเพลงจนทำให้กัลปังหากลายเป็นคนดังในชั่วพริบตา นำมาซึ่งความช่วยเหลือผู้คนในชุมชนนีโอคลองเตย

 

ถึงอย่างนั้นก็ต้องเจอกับความฉ้อฉลของระบบ กลายเป็นเรื่องตลกร้ายจิกกัดแทบทุกองคาพยพของสังคมไทยในปัจจุบัน  

 

 

หลังจากตอนอื่นๆ ในซีรีส์ อนาฅต เลือกหยิบประเด็นไทยๆ ออกมาตีแผ่ แต่ เด็กหญิงปลาหมึก เลือกประเด็นสากลกว่านั้นคือเรื่องภาวะโลกร้อน แล้วเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเวรี่ไทยเข้าไปใส่อย่างมันมือ จนกลายเป็นซีรีส์ตลกร้ายคล้ายๆ กับนิสัยของคนไทย ที่เรามักมีอารมณ์ขันกับชะตากรรมของตัวเอง

 

เรียกว่างานนี้ทางผู้สร้างไล่เก็บความแปลกประหลาดในสังคมไทยแทบทุกเม็ดทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอุโมงค์น้ำที่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เสาไฟกินรีซึ่งตอนนี้พัฒนาขึ้นเป็นโดมแก้วกินรี น้องออนิวในยุคนี้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และคลอดน้องเอไอเป็นประชากรรุ่นใหม่ของประเทศไทย ดาราโลกสวยกับไอเดียที่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย หรือแม้แต่รายการประกวดร้องเพลงที่เป็นเหมือนความฝันเดียวของประชาชนไทยในยุคนี้ การกระจายทรัพยากรที่กลายเป็นเวทีสำหรับนักการเมืองหิวแสงผ่านพิธีกรรมไร้สาระ รวมทั้งการเล่าเรื่องผสมมุกตลกคาเฟ่ที่คนไทยชื่นชอบ

 

 

สิ่งที่ต้องชื่นชมคือการแสดงของเด็กหญิงทั้งสองคนและทีมนักแสดง โดยเฉพาะแตงกวาในบทของมุก มีความฉอเลาะจนขโมยซีนทุกครั้งที่ปรากฏตัว รวมถึงนักแสดงคนอื่นๆ ที่เหมือนผู้กำกับหลอกล่อให้เราหลงอยู่ในค่ายกล 7 ดอกท้อ เพลิดเพลินกับความตลก และค่อยๆ หลงรักตัวละคร ก่อนที่จะจบแบบโศกนาฏกรรมสะกิดใจคนดู 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X