×

ฤาถึงคราวสิ้นมนต์ ‘ตั๋วเครื่องบินราคาถูก’ ผ่าอนาคตสายการบินโลว์คอสต์ ชีวิตพลิก 3 ด้าน ‘ราคา-ลูกค้า-เส้นทางบิน’ หลังวิกฤตโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
13.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • แม้บรรยากาศโควิด-19 จะเริ่มเข้าสู่ช่วงคลายล็อกดาวน์ แต่อนาคตของสายการบินโลว์คอสต์กลับกำลังแขวนอยู่บนด้ายเส้นบาง เพราะมีความท้าทายไม่ต่ำกว่า 3 ด้านที่อาจเป็นกับดักชี้เป็นชี้ตายสายการบินโลว์คอสต์ทั่วโลก
  • 1 ใน 3 ความท้าทายนั้นคือราคา สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินแล้วว่าราคาตั๋วเครื่องบินมีโอกาสเพิ่มขึ้น 54% เพราะนโยบาย Social Distancing โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกที่อาจจะเข้าสู่ภาวะ ‘หมดยุคเที่ยวบินประหยัด’ อย่างสมบูรณ์ 
  • อีกความน่าเป็นห่วงคือพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนไปในยุคหลังโควิด-19 คาดว่าผู้คนจะให้ความสนใจกับการขับรถเที่ยวมากกว่านั่งเครื่องบิน เหมือนกับช่วงโศกนาฏกรรม 911 ที่เคยทำให้ตลาดการบินซบเซา

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยตัวเลขประเมินอย่างเป็นทางการแล้วว่าราคาตั๋วเครื่องบินในเอเชียแปซิฟิกมีโอกาสเพิ่มขึ้น 54% เพราะนโยบาย Social Distancing ที่ทำให้สายการบินต้องเว้นที่นั่งคั่นกลางหรือ Middle Seat ให้ว่าง เบื้องต้นคาดว่านักเดินทางในเอเชียแปซิฟิกจะตกเป็นผู้รับเคราะห์ที่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินในราคาแพงขึ้นสูงที่สุดในโลก

 

สถานการณ์นี้ตอกย้ำว่าโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะ ‘หมดยุคเที่ยวบินประหยัด’ อย่างสมบูรณ์ ทำให้อนาคตของสายการบินโลว์คอสต์ทั่วโลกหม่นหมองลงอย่างน่าใจหาย 

 

หลายสำนักข่าวมองว่าสายการบินราคาประหยัดกำลังถึงกาลอวสาน โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่รัฐบาลและหน่วยงานการบินกำลังเจรจาเข้มข้นเพื่อตกลงว่าจะนำกฎหรือมาตรฐานใดบ้างมาใช้เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้โดยสารสายการบิน

 

หากต้องปล่อยที่นั่ง Middle Seat ให้ว่าง IATA ประเมินว่าจำนวนที่นั่งซึ่งสายการบินจะสามารถขายตั๋วได้นั้นจะลดลงเกือบ 40% เมื่อรายได้หดเกือบครึ่ง ค่าใช้จ่ายในการให้บริการก็จะสูงขึ้น ในที่สุดสายการบินจะต้องปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร

 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD

 

ทุนบานดันราคาขึ้น

ไบรอัน เพียร์ซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IATA กล่าวในนามตัวแทนสมาชิก 290 สายการบิน ซึ่งคิดเป็น 82% ของปริมาณการจราจรทางอากาศทั่วโลกว่า นอกจากการเว้นที่ Middle Seat ตามนโยบาย Social Distancing ยังมีกระบวนการฆ่าเชื้อในห้องโดยสารที่ต้องดำเนินการให้ละเอียดถี่ถ้วนและบ่อยครั้ง 

 

รวมถึงมาตรการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้โดยสารสวมหน้ากากตลอดเวลาในเที่ยวบิน และไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในหมู่ผู้โดยสาร ทั้งหมดนี้ย่อมทำให้ต้นทุนของสายการบินขยายตัวก้าวกระโดด

 

ผู้บริหาร IATA ยอมรับว่าสัญญาณเหล่านี้ตอกย้ำถึงการสิ้นสุดของยุคการเดินทางแบบโลว์คอสต์ เห็นได้ชัดเมื่อการสำรวจของ IATA พบว่าสายการบินส่วนใหญ่มีแผนขึ้นราคาค่าโดยสาร และมีเพียง 4 สายการบินจาก 122 สายการบินที่สำรวจโดย IATA เท่านั้นที่สามารถคุ้มทุนได้ แม้จะมีปัจจัยอื่นกระตุ้นให้ทุนสูงขึ้นแบบหยุดไม่อยู่ โดยทั้ง 118 สายการบินยอมรับว่าจะขาดทุนแน่นอนหากไม่ขึ้นราคา

 

ประเด็นการเว้นที่ Middle Seat ยังอยู่ในช่วงหาข้อสรุป โดยฝ่ายต่อต้านมีรายใหญ่ในยุโรปอย่างสายการบิน Ryanair เป็นผู้นำ โดยยื่นคำขาดว่าบริษัทจะไม่กลับมาให้บริการหากมีการกำหนดกฎนี้ออกมา

 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา  / THE STANDARD

 

สำหรับประเทศจีนที่เริ่มมีการคลายล็อกดาวน์จนมีการเพิ่มเส้นทางการบินภายในประเทศอย่างมากในช่วงวันแรงงาน ซึ่งเป็นวันหยุดสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม สถิติจากเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ Trip.com พบว่าแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ราคาตั๋วเครื่องบินจากปักกิ่งไปหางโจวนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่า 700% ในครึ่งชั่วโมง หลังจากที่รัฐบาลปักกิ่งปรับลดระดับการล็อกดาวน์ 

 

แม้ราคาจะเพิ่มขึ้น แต่ชาวจีนก็ไม่หวั่น เพราะยอดการจองเที่ยวบินโดยรวมจากเมืองหลวงของจีนพุ่งขึ้น 1,500% ทันที ประเด็นนี้ ชีชี รองศาสตราจารย์ วิทยาลัยการบินพลเรือนกวางโจว วิเคราะห์ว่าค่าโดยสารเครื่องบินภายในประเทศของจีนจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีการควบคุมที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยให้สอดรับกับกฎระเบียบของรัฐบาลที่เข้มงวด

 

อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้กำลังภายในเพื่อกดราคาตั๋วเครื่องบินหรือการหาช่องให้สายการบินโลว์คอสต์สามารถกลับมาบินได้ แต่ราคาที่ถูกลงจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในช่วงหนึ่งเท่านั้น และในที่สุดราคาก็จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาที่กดไว้ไม่ยั่งยืนในระยะยาว

 

การเปลี่ยนจากภาวะค่าตั๋วเครื่องบินระดับต่ำไปสู่การกำหนดราคาที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจะเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับทุกสายการบิน ท่ามกลางโควิด-19 ที่ถือเป็นภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้ความต้องการของตลาดลดวูบ 96% เนื่องจากการล็อกดาวน์ไม่ให้มีการเดินทาง

 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา  / THE STANDARD

 

รายใหญ่ลดราคาตั๋วชั่วคราว

ภาวะนี้ทำให้สายการบินต้องดิ้นทำการตลาดเพื่อจูงใจลูกค้าให้กลับมาบิน เช่น กรณีที่สายการบิน Qantas ยอมรับว่ามีแผนแจ้งเกิดเที่ยวบินราคาประหยัดเพื่อกระตุ้นความต้องการในช่วงที่สายการบินจะเริ่มกลับมาให้บริการบินต่อในเดือนกรกฎาคม 

 

ขณะที่ อลัน จอยซ์ ซีอีโอ Qantas ชี้ว่าเที่ยวบินประวัติศาสตร์ราคาประหยัดจะเริ่มที่เส้นทางระหว่างเมลเบิร์นและซิดนีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางภายในประเทศที่คึกคักที่สุดในโลก

 

ในช่วงแรกคาดว่าตั๋วโดยสารจะมีราคาต่ำถึง 400 บาท (95 ดอลลาร์ฮ่องกง) จากประมาณ 800 บาท (195 ดอลลาร์ฮ่องกง) เช่นเดียวกับ Ryanair ที่เริ่มส่งสัญญาณลดราคาครั้งใหญ่เพื่อเป็นเครื่องมือในการจูงใจนักเดินทาง 

 

การจูงใจนี้เป็นผลส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าวิกฤตไวรัสที่ทำให้การท่องเที่ยวสะดุดลงทั่วกระดานจะกลับมาโดยเริ่มจากทริปท่องเที่ยวในท้องถิ่น

 

 

นั่งรถแทนบิน เส้นทางบินไกลสะดุด

นอกจากราคา อีกสองความท้าทายที่สายการบินโลว์คอสต์ต้องเผชิญคือพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่จะเลือกนั่งรถมากกว่าเครื่องบินในช่วงแรกหลังปลดล็อกดาวน์  ขณะที่การเลือกเส้นทางบินระยะไกลของสายการบินจะสะดุดลงในทำนองเดียวกัน

 

อลิซาเบธ โมนาฮาน โฆษกของ Tripadvisor.com เชื่อว่าการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในช่วงคลายล็อกดาวน์จะเปลี่ยนไปเป็นการเช่าบ้านท่องเที่ยวมากกว่าเช่าโรงแรมใหญ่ การเดินทางจะเน้นการนั่งรถยนต์มากกว่าเครื่องบิน โดยผู้คนจะซื้อประกันการเดินทางมากขึ้น

 

เทรนด์นี้ทำให้การวางแผนเส้นทางการบินของสายการบินทั้งโลว์คอสต์และทุกขนาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เส้นทางบินไกลจะสะดุดและมีเงื่อนไขจำกัดมากขึ้น 

 

ที่สำคัญการกู้คืนสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินโลว์คอสต์จะเป็นไปได้ช้า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีพันธมิตรและสายป่านยาวพอจะพาบริษัทให้อยู่รอดได้นานที่สุด

 

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา  / THE STANDARD

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising