สายการบิน Air France ของฝรั่งเศสตกอยู่ในความระส่ำระสาย หลังวิกฤตพนักงานหยุดงานประท้วงซึ่งล่วงเลยสู่วันที่ 14 ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ขณะที่อนาคตการดำเนินงานของสายการบินก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย หลัง ฌอง-มาร์ก ฌาเนลญัก (Jean-Marc Janaillac) ประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Air France-KLM สืบเนื่องจากเขาไม่สามารถสะสางปมขัดแย้งเรื่องค่าแรงกับสหภาพการค้าของทางสายการบินได้
สหภาพเรียกร้องอะไร
อย่างที่ทราบกันว่าปัญหาพนักงานสายการบินหยุดงานประท้วงได้กลายเป็นวิกฤตที่สร้างความเสียหายแก่บริษัทเป็นอย่างมาก แม้มีการเจรจามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยสมาชิกสหภาพการค้าของสายการบินได้เรียกร้องขอขึ้นค่าแรง 5.1% ในปีนี้ แต่บอร์ดบริหารของ Air France กลับเสนอปรับขึ้นค่าแรงให้รวม 7% ภายในช่วง 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สหภาพฯ ยอมรับไม่ได้ และกลายเป็นกระแสกดดันให้ฌาเนลญักประกาศก้าวลงจากเก้าอี้ซีอีโอเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
วิกฤต Air France รุนแรงแค่ไหน
บรูโน เลอแมร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ BFM โดยเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งรวมทั้งลูกเรือ พนักงานภาคพื้นดิน และนักบินที่เรียกร้องขอขึ้นค่าแรงให้แสดงความรับผิดชอบ เพราะโอกาสอยู่รอดของ Air France มีเพียง 50-50 แล้วในตอนนี้
ขณะที่ข่าวการลาออกของฌาเนลญักได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้หุ้น Air France-KLM Group ดิ่งลงถึง 13% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเช้านี้ ซึ่งถือเป็นการร่วงลงหนักที่สุดในรอบ 9 ปีของบริษัท
แม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะถือหุ้นใน Air France จำนวน 14.3% แต่เลอแมร์ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่เข้าไปโอบอุ้มธุรกิจของสายการบินที่กำลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ส่งผลให้อนาคตของสายการบินยิ่งมืดมนหนักเข้าไปอีก
“เรามีหุ้นส่วนน้อยอยู่ใน Air France ซึ่งทำให้หลายคนคิดว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยพยุงธุรกิจ Air France ที่มีหนี้สินพอกพูน แต่เราจะไม่ทำเช่นนั้นแน่” เลอแมร์กล่าว
“Air France จะหายไป หากทางสายการบินไม่รีบดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดการบินได้ต่อไป”
ที่ผ่านมา ปัญหาพนักงานสไตรก์ได้สร้างความเสียหายแก่ Air France คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านยูโรแล้ว ขณะที่นักบิน พนักงานภาคพื้น และลูกเรือของสายการบินเตรียมจะนัดหยุดงานประท้วงต่อในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.) ด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัท Air France ยืนยันว่าทางสายการบินยังสามารถให้บริการเที่ยวบินระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้ได้ราว 99%, 80%, และ 87% ของตารางบินในวันนี้ (7 พ.ค.) แม้บริษัทจะยอมรับว่าไม่สามารถผลักดันการเจรจาให้เดินหน้าต่อเพื่อยุติปัญหาดังกล่าวให้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้นก็ตาม
ผลประกอบการย่ำแย่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันสูง
นอกจากปัญหาผละงานประท้วงแล้ว Air France-KLM ยังประสบปัญหาขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ประกาศตัวเลขผลประกอบการล่าสุด ซึ่งปรากฏว่าขาดทุนสุทธิสูงถึง 269 ล้านยูโรในไตรมาสแรกของปี 2018 ขณะที่สายการบินคู่แข่งในยุโรปทั้ง British Airways ของอังกฤษ และ Lufthansa ของเยอรมนีต่างต้องตัดลดต้นทุนขนานใหญ่เพื่อพยุงธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับสายการบินโลว์คอสต์และสายการบินอาหรับ
นักวิเคราะห์มองว่า Air France ดำเนินการปรับโครงสร้างช้าเกินไป และที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาขาดทุนสะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทประสบปัญหาทางการเงินหนักขึ้นไปอีก
นอกจากธุรกิจสายการบินแล้ว ฝรั่งเศสมีเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าจากปัญหาแรงงานในภาคคมนาคมผละงานประท้วงอยู่แล้ว หลังสหภาพแรงงานของการรถไฟฝรั่งเศส (SNCF) ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านนโยบายปฏิรูปภาคแรงงานของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งส่งกระทบต่อผู้ใช้บริการรถไฟกว่า 4.5 ล้านคนต่อวัน
เลอแมร์เปิดเผยว่า ปัญหาพนักงานสไตรก์ในฝรั่งเศสได้ฉุดรั้งการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถึง 0.1% โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการขนส่งวัตถุดิบ
ดังนั้นจึงน่าจับตาว่าท้ายที่สุดแล้วสายการบินที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของฝรั่งเศสจะผ่านพ้นคลื่นลมมรสุมที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักหน่วงได้หรือไม่ และรัฐบาลฝรั่งเศสจะยอมนิ่งเฉยจริงหรือ ซึ่งเวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ
อ้างอิง: