×

อนาคตใหม่ เปิดตัวร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า หวังปลดล็อกจากการผูกขาดกินรวบ

โดย THE STANDARD TEAM
14.01.2020
  • LOADING...

วันนี้ (14 มกราคม) พรรคอนาคตใหม่ นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กรุงเทพฯ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า โดยคาดจะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

ด้านพิธาได้กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายปลดล็อกสุรา ในฐานะของการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร และการสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยระบุว่า ประสบการณ์แรกๆ ที่ทำให้ตนได้เห็นถึงโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรไทย คือการเดินทางไปโอกินาวา และพบกับเหล้า ‘อาวาโมริ’ ซึ่งถ้ายังจำกันได้เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตนมีโอกาสอภิปรายในสภาด้วย

 

ในครั้งนั้นตนพูดมาจากประสบการณ์จริง เหล้าอาวาโมริเกิดขึ้นเมื่อ 600 ปีที่แล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่คนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาเอาข้าวจากประเทศไทยไปทำเหล้าของเขา ข้าวที่ใช้คือข้าวอินดิกา คือข้าวยาวที่ประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก

 

40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกข้าวอินดิกาไปญี่ปุ่นทั้งหมด 2 แสนตัน ตกกิโลกรัมละ 10-20 บาทแล้วแต่ช่วงเวลา แล้วญี่ปุ่นก็ส่งออกเหล้าอาวาโมริกลับมาขายให้กับพวกเรา คิดเป็นลิตรแล้วตกลิตรละ 2,500 บาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มถึง 170 เท่า นี่คือผลผลิตที่มาจากวัตถุดิบไทยที่คนไทยมองข้าม แต่คนต่างชาติเห็นมูลค่าของมันมานานกว่า 600 ปี 

 

จากการเดินทางของตนในช่วงที่มาเป็นนักการเมืองนั้น ได้พบกับความหลากหลายของเหล้าพื้นบ้านในทุกภาคทั่วประเทศ ขนาดมีการปิดกั้น ยังมีเหล้ากลั่นอยู่ประมาณ 2,000 โรง คราฟต์เบียร์ 70 ยี่ห้อ นี่คือสิ่งที่เป็นศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยที่กำลังรอการปลดปล่อยอยู่

 

พิธา กล่าวต่อว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นน้ำเมา แต่มันคือเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องประวัติศาสตร์ มันคือสูตรและความลับทางการค้า เรื่องคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ และแน่นอนมันคือเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะแก้ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำในประเทศไทยได้ และนี่คือเรื่องของเครื่องหมายทางการค้า และภาษีที่ประเทศไทยจะได้รับ

 

ยกตัวอย่าง เหล้าสะเอียบที่จังหวัดแพร่ เหล้าสะเอียบเสียภาษีให้สรรพสามิต 400 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นยอดขายประมาณ 1,000 ล้านบาท ขนาดมีกฎหมายกดทับขนาดนี้ ขนาดที่ยังไม่มีการเปิดรับกับอุตสาหกรรมขนาดนี้ ยังสามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล เหล้าสะเอียบเป็นภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 200 ปี ในหนึ่งขวดใช้ข้าวเหนียวถึง 1 กิโลกรัม ผลิตจนข้าวเหนียวหมดจังหวัด ต้องไปซื้อมาจากภาคอีสาน

 

พิธา กล่าวต่อถึงมูลค่าตลาด โดยระบุว่าคราฟต์เบียร์มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 122-180 ล้านบาท หรือประมาณ 0.01% ของมูลค่าตลาดเบียร์ทั้งหมดในประเทศ ส่วนสุราชุมชน มุลค่าตลาดอยู่ที่ 2,800-3,200 ล้านบาท เก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตจากสุราชุมชนได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท

 

พิธา ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับบางคนที่เป็นนักธุรกิจ อาจจะไม่ตื่นเต้นกับตัวเลขนี้  แต่ในแง่การเจริญเติบโต คราฟต์เบียร์ที่นำเข้าจากออสเตรเลียและกัมพูชามีการเจริญเติบโตที่สูงมาก คำถามคือถ้าปลดล็อกแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ตนชวนคิดง่ายๆ ในปัจจุบันเบียร์มีมูลค่าในตลาดอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท สุราชุมชนอยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ถ้าเราปลดล็อกเรื่องของเบียร์ แล้วให้คราฟต์เบียร์เป็นเพียง 1% ของส่วนแบ่งในตลาดที่ทุนใหญ่ครองอยู่ทุกวันนี้ ก็เท่ากับคราฟต์เบียร์มีโอกาสที่จะโตได้ขึ้นถึง 11 เท่าเป็นอย่างน้อย

 

ส่วนสุราชุมชน ทุกวันนี้สุราชุมชนกว่า 50% อยู่นอกระบบ ถ้าเราปลดล็อกแล้วเอาทุกคนมาอยู่ในระบบได้ มูลค่า 3,000 ล้านบาท จะกลายเป็น 6,000 ล้านบาททันที และถ้าธุรกิจเติบโตเท่าที่เหล้าสะเอียบเคยทำได้ หรือโตแค่ 2 เท่า ส่วนแบ่งตลาดจะเป็นแค่ 7% แต่มูลค่าจะกลายเป็น 12,000 ล้านบาททันที

 

“เมื่อนำมูลค่าเหล่านี้มาบวกเพิ่มกับภาษีสรรพสามิตที่เคยอยู่นอกระบบ บวกกับการลงทุน การจ้างงาน เราจะได้มูลค่าทั้งหมดอย่างต่ำ 15,000 ล้านบาท อย่างกลาง 18,000 ล้านบาท และอย่างสูง 20,000 กว่าล้านบาทที่จะป้อนเข้าสู่เศรษฐกิจไทย ถ้ามีการปลดล็อกตรงนี้ ให้สิทธิชุมชนและภูมิปัญญาของชาวบ้านได้กลับมา ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ก็จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าจะเพิ่มให้กับเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่ในตอนนี้ได้” พิธา กล่าว

 

พิธา ยังกล่าวต่อไปว่า การแถลงข่าววันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น ยังมีงานต้องทำอีกมากมาย ทั้งการเผยแพร่ความรู้ การศึกษา การรับฟังความคิดเห็น ตนมีแผนงาน จะเดินทางไปดูสุราพื้นบ้านที่อีสานและภาคเหนือในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และหวังว่าจะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาได้ก่อนการปิดสมัยประชุมนี้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X