×

วิเคราะห์ปมร้อนคลองฟูนันเตโช เมกะโปรเจกต์เชื่อมพนมเปญ-อ่าวไทย ที่อาจสะเทือนเศรษฐกิจไทย-เวียดนาม

16.06.2024
  • LOADING...
วิเคราะห์ปมร้อน ‘คลองฟูนันเตโช’ เมกะโปรเจกต์เชื่อมพนมเปญ-อ่าวไทย ที่อาจสะเทือนเศรษฐกิจไทย-เวียดนาม

โครงการขุด คลองฟูนันเตโช (Funan Techo Canal) ความยาว 180 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือจากแม่น้ำโขง ผ่านแม่น้ำบาสักในกรุงพนมเปญ ไปถึงทะเลอ่าวไทยทางใต้ของกัมพูชา กำลังกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง หลังฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศเตรียมเดินหน้าโครงการในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาของเขา

 

ฮุน มาเนต ประกาศว่า โครงการเมกะโปรเจกต์นี้เป็น ‘โครงการชาตินิยม’ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชาวกัมพูชาทุกคน หลักๆ คือ ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การขนส่ง และการลงทุนจากต่างชาติ ที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมทางน้ำระหว่างอ่าวไทยและจังหวัดต่างๆ ภายในกัมพูชา อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และลดการพึ่งพาเวียดนาม จากเดิมที่สินค้านำเข้าและส่งออกของกัมพูชาราว 33% ต้องผ่านท่าเรือทางภาคใต้ของเวียดนามที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำโขง

 

แผนที่รัฐบาลกัมพูชาวางไว้คือ เปิดใช้งาน คลองฟูนันเตโช ในช่วงต้นปี 2028 ซึ่งงบลงทุนจะอยู่ที่ราว 1.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 6 หมื่นล้านบาท โดยผู้นำกัมพูชายืนยันว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากกัมพูชา

 

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้กำลังกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยนอกจากกรณีของเวียดนามที่ดูจะไม่ค่อยพอใจนัก ยังมีประเด็นผลกระทบ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมในระดับอนุภูมิภาค ตลอดจนประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกจับตามอง เนื่องจากผู้สนับสนุนรายสำคัญของโครงการคลองฟูนันเตโชคือมหามิตรอย่าง ‘จีน’ ซึ่งถูกมองว่าพยายามวางยุทธศาสตร์โอบล้อมทั่วทั้งภูมิภาคอินโดจีน

 

ขณะที่ไทยเราเองก็ต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของกัมพูชาในครั้งนี้ เนื่องจากการวางแผนยกระดับเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมอ่าวไทยนี้อาจทำให้บทบาทพื้นที่เศรษฐกิจของกัมพูชาติดอ่าวไทยเพิ่มมากขึ้น และก่อผลกระทบให้กับไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

รู้จัก คลองฟูนันเตโช

 

จากข้อมูลในเอกสารที่รัฐบาลกัมพูชาส่งให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล ที่ทำหน้าที่ประสานงาน จัดการ และพัฒนา แหล่งน้ำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยมีสมาชิก ได้แก่ ไทย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา พบว่าโครงการคลองฟูนันเตโช หรือชื่อเต็มคือ โครงการระบบขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์โตนเลบาสัก (Tonle Bassac Navigation Road and Logistics System Project) มีระยะทาง 180 กิโลเมตร เชื่อมเส้นทางคมนาคมทางเรือ โดยมีจุดเริ่มต้นจากแม่น้ำโขง บริเวณแปรกตาแก้ว ห่างจากใจกลางกรุงพนมเปญไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 30 กิโลเมตร ผ่านไปยังท่าเรือพนมเปญในแม่น้ำบาสัก และผ่านจังหวัดกันดาล ตาแก้ว กำปอด ไปถึงแกบ เมืองชายฝั่งทางใต้ของกัมพูชาติดกับอ่าวไทย โดยยังเป็นโครงการที่เชื่อมตรงระหว่างพนมเปญกับท่าเรือในสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวของประเทศ รวมถึงท่าเรือใหม่ในจังหวัดกำปอดด้วย

 

ขนาดของคลองฟูนันเตโชมีทางน้ำกว้าง 100 เมตร ลึก 5.4 เมตร และมีร่องน้ำสำหรับเดินเรือ ลึก 4.7 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าน้ำหนักมากถึง 3,000 DWT (Deadweight Tonnage หรือปริมาณน้ำหนักในการบรรทุกของเรือลำหนึ่ง) นอกจากนี้ยังมีโครงการประกอบอื่นๆ รวมถึงประตูกั้นน้ำ 3 แห่ง สะพาน 11 แห่ง และทางเดินเท้า ความยาวทั้งสิ้น 208 กิโลเมตร

 

แนวคิดในการขุดคลองฟูนันเตโชนั้นมีการนำเสนอมาตั้งแต่ยุคอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ก่อนจะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีกัมพูชาในเดือนพฤษภาคม 2023

 

โดยกัมพูชามองว่าคลองแห่งนี้จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้มากถึง 16% ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ประกอบการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีส่วนสนับสนุนและขยายการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาที่สอดคล้องกับโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทางน้ำ ทางทะเล และท่าเรือ ตลอดจนการลงทุนด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม

 

ฮุน มาเนต ให้ความสนใจและประกาศเดินหน้าโครงการนี้หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยเขาเผยว่า ก่อนหน้านี้โครงการนี้จะเป็นการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ 100% แต่ตอนนี้เงินลงทุน 51% จะเป็นของชาวกัมพูชา และชาวกัมพูชาจะมีส่วนร่วมในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่

 

“ในบริษัทการลงทุนของกัมพูชาที่จัดตั้งขึ้นแห่งนี้ เรามีบริษัทของรัฐของเรา รวมถึงท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ (PAS) และท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญ (PPAP)”

 

รายงานข่าวที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ระบุว่า บริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) รัฐวิสาหกิจจีนที่เคยทำหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในกัมพูชา จะรับผิดชอบการขุดคลอง และเป็นการดำเนินการภายใต้กลไกแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) หรือเอกชนได้รับสัมปทานในการลงทุน ก่อสร้าง และบริหารจัดการ เพื่อหาผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แลกกับการโอนสินทรัพย์ให้แก่รัฐบาลกัมพูชาเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทาน ซึ่งรายงานที่ไม่ยืนยันจากสื่อจีนระบุว่า CRBC อาจได้รับสัมปทานยาวนาน 40-50 ปี

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุสาเหตุที่กัมพูชาตัดสินใจเริ่มต้นโครงการนี้ หลักๆ แบ่งเป็น 3 ข้อ ได้แก่

 

  1. ไม่ต้องการยืมจมูกเวียดนามหายใจ โดยลดการพึ่งพาท่าเรือทางใต้ของเวียดนาม ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านแม่น้ำโขงสู่ตลาดโลก

 

  1. ต้องการให้เกิดการจ้างงานชาวกัมพูชาจำนวนมาก โดยคาดว่าประชาชนกว่า 1.6 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ตลอดแนว 2 ฝั่งคลอง จะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงข่ายคลองฟูนันเตโช

 

  1. เป็นความภาคภูมิใจเรื่องชาตินิยม และเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ฮุน มาเนต ต้องการผลักดัน เพื่อให้กัมพูชามีอำนาจด้านการค้าและโลจิสติกส์มากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

 

ความหมายของชื่อคลองฟูนันเตโช คำว่า ฟูนัน นั้นมาจากอาณาจักรฟูนัน ซึ่งเป็นอาณาจักรเก่าแก่ของขอมโบราณที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 6 โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ส่วนคำว่า เตโช หมายความถึงอำนาจหรือความยิ่งใหญ่

 

รศ.ดร.ดุลยภาค เผยว่า หลักฐานที่พบจากจีนบ่งชี้ว่า ในอดีตยุคอาณาจักรฟูนันเคยมีการขุดคลองเพื่อเชื่อมโลจิสติกส์สำหรับค้าขายมาก่อนแล้ว ซึ่งข้อมูลที่ได้จากชาวกัมพูชาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและให้คำแนะนำในโครงการขุดคลองฟูนันเตโชยังระบุว่า คลองนี้มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์

 

“หมายถึงว่ามันมีร่องคลองที่เชื่อมอ่าวไทยเข้าไปในแถบนั้นอยู่แล้ว ถ้าเอาภาพถ่ายดาวเทียมและทำวิจัยเชิงลึกจะพบหลักฐานต่างๆ”

 

ผลกระทบต่อเวียดนามและประเทศลุ่มน้ำโขง

 

แง่หนึ่งที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะเวียดนามแสดงความกังวลต่อโครงการขุดคลองฟูนันเตโชคือ ประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแถบลุ่มน้ำโขง เนื่องจากอาจส่งผลต่อการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง และอาจกระทบต่อปริมาณน้ำและการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงบริเวณภาคใต้ของเวียดนาม เนื่องจากการขุดคลองอาจทำให้เกิดการผันน้ำจากแม่น้ำโขงไหลเข้าสู่แม่น้ำบาสักมากขึ้น จนทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลง

 

ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 1995 (1995 Mekong Agreement) ระบุว่า “โครงการที่กระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขงต้องได้รับการประเมินทางเทคนิคจาก MRC และรับฟังข้อมูลจากประเทศสมาชิก” จะต้องผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) กับคณะกรรมาธิการ

 

แต่เอกสารฉบับเดียวที่แจ้งเกี่ยวกับโครงการนี้แก่ MRC เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2023 ระบุว่า โครงการนี้ถูกกำหนดให้เป็นโครงการแม่น้ำสาขา (แม่น้ำบาสัก) ของแม่น้ำโขง ทำให้รัฐบาลกัมพูชาสามารถหลีกเลี่ยงข้อตกลงแม่น้ำโขง ที่กำหนดให้ต้องมีกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากับคณะกรรมาธิการ MRC และสามารถเริ่มการก่อสร้างได้โดยที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบทางเทคนิคและกระบวนการอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ต้องปรับปรุงการออกแบบและการดำเนินโครงการขุดคลอง

 

นอกจากนี้ MRC ยังชี้ว่า กัมพูชาไม่ได้เปิดเผยการศึกษาความเป็นไปได้ของคลอง แม้จะมีการร้องขอไปหลายครั้ง และมีจดหมายอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ ที่ส่งไปในเดือนสิงหาคมและตุลาคมปีที่ผ่านมา

 

ทางด้าน ซุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า กัมพูชาได้แจ้งเรื่องโครงการคลองฟูนันเตโชต่อ MRC แล้ว แต่จะไม่ปรึกษาเรื่องนี้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และเสริมว่า หาก MRC ร้องขอ ก็จะให้ข้อมูลโครงการเพิ่มเติม แต่ยืนยันว่าไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายใดๆ

 

ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามแถลงเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า “ข้อมูลที่มีเกี่ยวกับโครงการคลองฟูนันเตโชนั้นไม่เพียงพอสำหรับการประเมินระดับผลกระทบของโครงการ”

 

รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับเวียดนาม นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ในเบื้องลึกยังมีกระแสความไม่พอใจจากการที่กัมพูชาพยายามลดการพึ่งพาเวียดนาม

 

โดยกลุ่มชาตินิยมในเวียดนามยังมองว่า กัมพูชาไม่ ‘ระลึกถึงบุญคุณ’ ทั้งที่เวียดนามเคยเข้าไปช่วยเหลือกัมพูชาบ่อยครั้งในระหว่างการพัฒนาประเทศช่วงสงครามเย็น ตลอดจนการเรืองอำนาจของฮุน เซน ก็ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเช่นกัน

 

ยุทธศาสตร์โอบล้อมของจีน

 

อีกประเด็นความกังวลคือ ด้านความมั่นคง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า สหรัฐฯ และเวียดนาม มีความกังวลเนื่องจากบริษัทจีนให้การสนับสนุนการขุดคลอง และอาจทำให้จีนใช้ประโยชน์จากการได้สิทธิสัมปทาน เพื่อโจมตีหรือคุกคามเวียดนามได้ในอนาคต

 

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ การเคลื่อนไหวและการสนับสนุนของจีนต่อกัมพูชาถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์โอบล้อมในภูมิภาคอินโดจีน ท่ามกลางการแข่งขันขยายอิทธิพลและคานอำนาจสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

 

โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ แสดงท่าทีกังวลเกี่ยวกับฐานทัพเรือเรียมที่อยู่ทางตอนใต้ของกัมพูชาติดชายฝั่งอ่าวไทย เนื่องจากจีนกำลังปรับปรุงฐานทัพแห่งนี้ และดูเหมือนว่าจะมีการส่งเรือบางลำเข้าประจำการในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วย

 

ขณะที่บทความในวารสารวิชาการของ 2 นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาการวิจัยตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมสหพันธ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดำเนินการโดยรัฐบาลเวียดนาม เตือนว่า คลองฟูนันเตโชอาจเป็นโครงการแบบ ‘ใช้สองทาง’

 

“ประตูกั้นบนคลองฟูนันเตโชสามารถสร้างความลึกของน้ำที่จำเป็นสำหรับเรือทหาร เพื่อเข้ามาจากอ่าวไทย หรือจากฐานทัพเรือเรียม และเดินทางลึกเข้าไปในกัมพูชาและเข้าใกล้ชายแดน (กัมพูชา-เวียดนาม) ได้”

 

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ดุลยภาค ชี้ว่า ในแง่การทหารนั้น เขายังมองไม่เห็นภาพชัดที่จีนจะได้ประโยชน์จากคลองฟูนันเตโช

 

โดยหากเกิดกรณีขัดแย้งกับเวียดนามในทะเลจีนใต้ กองเรือของจีนที่ประจำการในฐานทัพเรือเรียมสามารถล่องเรือไปตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย และโจมตีตลบหลังเวียดนามได้ง่ายกว่า แต่การที่กองเรือรบจะเดินทางผ่านแนวคลองที่มีความกว้าง 100 เมตร ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างแคบนั้น ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ และจีนจะใช้ประโยชน์จากคลองแห่งนี้ในเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารได้แค่ไหน

 

ด้านเดวิด ฮัตต์ นักข่าวและนักวิจัยจาก Central European Institute of Asian Studies (CEIAS) เขียนบทความที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ข่าว The Diplomat ชี้ให้เห็นว่า โครงการคลองฟูนันเตโชนั้นไม่มีจุดมุ่งหมายทางทหาร และค่อนข้างจะเกินจริงไปหน่อย หากจะมองว่าคลองแห่งนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเวียดนาม

 

โดยเขาระบุเหตุผลว่า หากกัมพูชายอมให้กองทัพจีนใช้น่านน้ำภายในประเทศเพื่อบุกโจมตีเวียดนาม จะง่ายกว่าไหมถ้าหากพนมเปญปล่อยให้กองทัพจีนใช้ถนนและทางรถไฟ (ที่จีนสร้าง) เพื่อบุกเวียดนามทางบก ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามไม่แพ้กัน

 

อ่าวไทย แต่บทบาทไทยอาจน้อยลง

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ยังแสดงข้อห่วงใยจากโครงการคลองฟูนันเตโช ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยโดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจและการค้า เนื่องจากในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จังหวัดแกบ ที่เป็นปากคลองฟูนันเตโช อาจพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นพื้นที่การค้าหรือเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะเป็นจุดที่เรือสินค้าสามารถขนส่งสินค้าผ่านและเข้าไปถึงกรุงพนมเปญได้โดยตรง ซึ่งดักเส้นทางเรือสินค้าให้ไม่ต้องมาแวะท่าเรือของไทย เช่น ท่าเรือคลองเตย

 

ขณะเดียวกันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย ก็อาจได้รับผลกระทบจากการเติบโตของคลองฟูนันเตโช เนื่องจากในลักษณะทางกายภาพของอ่าวไทยนั้น ถือว่า EEC อยู่ในจุดที่ค่อนข้างลึก และยังไม่แน่ว่าจะเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์กับคลองฟูนันเตโชได้อย่างไร

 

เช่นเดียวกับโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย ข้ามผ่านจังหวัดระนองและชุมพร ซึ่งรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันพยายามผลักดัน ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเชื่อมไปถึงคลองฟูนันเตโชได้อย่างไร และไทยจะได้หรือเสียประโยชน์แค่ไหน และมีอุปสรรคอะไรบ้าง

 

“ผมมองว่าในทางภูมิรัฐศาสตร์และโลจิสติกส์ รัฐใดจะมีอำนาจต้องนึกถึงการขุดคลอง ซึ่งของไทยคือคอคอดกระที่ยังไม่ผ่าน และโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังต้องลุ้นกันต่อ แต่ของกัมพูชา โครงการคลองฟูนันเตโชที่ผ่านแล้ว ในมุมมองของฮุน เซน และฮุน มาเนต นี่คือคลองที่จะทำให้กัมพูชา Great Again หรือกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

 

สำหรับการแสดงท่าทีของไทยต่อโครงการคลองฟูนันเตโชนั้น รศ.ดร.ดุลยภาค ชี้ว่า ไทยมองเรื่องนี้ไปในลักษณะของความขัดแย้งระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม ทั้งที่จริงแล้วผลกระทบจะเกิดต่อไทยด้วย โดยเฉพาะการเติบโตของเมืองการค้าทางทะเลของกัมพูชา

 

ขณะที่ภูมิทัศน์อ่าวไทยนั้นเปลี่ยนไปมาก โดยที่ผ่านมากัมพูชาไม่ใช่รัฐมหาอำนาจในอ่าวไทย แต่หลังการประกาศโครงการคลองฟูนันเตโช ก็เป็นไปได้ที่กัมพูชาจะทำให้ศักยภาพการพัฒนาเมืองการค้าริมทะเลเติบโตได้ ซึ่งโจทย์ใหญ่จะตกอยู่ที่ไทยว่าจะขยับหรือดำเนินการอะไรหรือไม่ เพื่อคงบทบาทและอำนาจของไทยในอ่าวไทย

 

“ชื่อมันก็ฟ้องอยู่แล้ว อ่าวไทย Gulf of Thailand แต่หลังๆ อำนาจไทยในอ่าวไทยอาจลดน้อยลงถ้าเราไม่ขยับอะไรเลย เราปล่อยให้อ่าวไทยกลายเป็นทะเลสาบมังกรขนาดย่อมในบางส่วน ปล่อยให้เป็นพื้นที่รองรับการขยายอำนาจของกัมพูชา แล้วไทยเราจะวางตำแหน่งอยู่ตรงไหน”

 

โดย รศ.ดร.ดุลยภาค ย้ำว่า “หากไทยขยับน้อยไป หรือมีนโยบายต่างประเทศหรือเศรษฐกิจเชิงรุกในการรักษาทรัพยากรในอ่าวไทย หรือใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแรงหรือไม่รุกมาก ไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

 

“ในอนาคตอ่าวไทยอาจกลบชื่อไทยที่เป็นผู้นำในแถบนี้ ด้วยกลุ่มตัวแสดงอื่นๆ ที่มีมากขึ้น”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising