สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันที่กู้ไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท รวมเป็น 2.5 ล้านล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด
“เดิมเรามองอยู่แล้วว่ารัฐบาลอาจต้องใช้เงินราว 2 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยา กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้กู้มาแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าที่ควรและใช้ไปกับการเยียวยาเยอะ ขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายวัคซีนก็ยังทำได้ไม่ดีนัก ทำให้เราเริ่มมองว่าการกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ตัวเลขอาจต้องเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท” สุพันธุ์กล่าว
สุพันธุ์กล่าวว่า ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้วด้วย นอกเหนือจากการใช้เม็ดเงินไปกับมาตรการเยียวยา เช่น การให้เงินช่วยเหลือสำหรับภาคธุรกิจในการฟื้นฟูกิจการและการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งควรเร่งดำเนินการทันทีหลังสถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้น แต่การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็วภาครัฐจำเป็นต้องมีเงินสำรองเอาไว้ให้เพียงพอ ทำให้การกู้เงินเพิ่มเติมอาจเป็นเรื่องที่ต้องทำ
สุพันธ์ุระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเข้าพบหารือถึงประเด็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบรับจากนายกรัฐมนตรี
“ประเด็นที่ภาคเอกชนอยากหารือกับนายกรัฐมนตรีจะแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ 1. วัคซีนและการคัดกรอง และ 2. เรื่องการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้จะนำข้อเสนอต่างๆ ของ กกร. เรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบด้วย เช่น ขอให้ภาครัฐเร่งจัดหาวัคซีนเข้ามาให้มากที่สุดทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือก รวมถึงอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ แทนการขยายมาตรการล็อกดาวน์ การขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่าสำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน และการซื้อวัคซีนป้องกันโควิด” สุพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ยังอยากขอให้รัฐบาลบรรเทาผลกระทบของประชาชนด้วยการขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษีปีภาษี 2565 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 พร้อมเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป ขอกรมสรรพากรยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี ซึ่ง SMEs ต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ได้รับความเสียหายจากมาตรการล็อกดาวน์ค่อนข้างมาก ซึ่งหากการล็อกดาวน์ดำเนินไปถึงเดือนกันยายน ความเสียหายอาจจะมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำให้การขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 65-70% อาจเป็นเรื่องจำเป็น
“เมื่อความเสียหายมากยาต้องแรง เราคิดว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทคงจะไม่พอแล้ว และรอไปใช้ในไตรมาส 4 อาจช้าไป ต้องนำมาใช้ในไตรมาสนี้เลย จากนั้นควรมีการกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพราะขณะนี้ผลกระทบของโควิดที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงมาก ถ้ากระตุ้นช้าและไม่ดีพอ GDP จะติดลบยิ่งขึ้น โดยหอการค้ามองว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องอัดฉีดเงินอีกประมาณ 5 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 4 และอัดฉีดเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกปี 2565” สนั่นกล่าว