ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่เผย ผู้ผลิตจ่อปรับขึ้นราคาสินค้าเดือนพฤษภาคมนี้ หลังภาครัฐเตรียมลดเงินอุดหนุนราคาดีเซลเดือนพฤษภาคมนี้ แนะทยอยขึ้นแบบขั้นบันได ป้องกันภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ พร้อมหนุนเร่งเปิดประเทศ-คนละครึ่งเฟส 5
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ในวันนี้ (22 เมษายน) ว่า หนึ่งในประเด็นที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลค่อนข้างมากในขณะนี้คือการที่ภาครัฐจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในส่วนที่เกินจาก 30 บาท ลงเหลือ 50% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากลิตรละ 30 บาท ไปอยู่ที่ลิตรละ 35.50 บาท
โดยประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ กล่าวว่า หากราคาดีเซลมีการปรับเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าวจริงจะทำให้เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และค่าครองชีพจะเร่งตัวขึ้นสวนทางกับรายได้ของภาคครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวและยังมีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง
“หากราคาดีเซลขยับขึ้นไปอยู่ที่ 35.5 บาทต่อลิตร จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 10-15% ผู้ประกอบการภาคธุรกิจจะส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคอย่างแน่นอน โดยราคาสินค้าและบริการอาจปรับสูงขึ้น 10-15% ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6-7% ซึ่งน่ากังวล” เกรียงไกรกล่าว
เกรียงไกรประเมินว่า การลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐจะทำให้ภาคธุรกิจต้องเริ่มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งวัตถุดิบในสต๊อกของหลายธุรกิจเริ่มหมดลงแล้วเนื่องจากคนกังวลว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นในอนาคต จึงมีการซื้อสินค้าเพื่อกักตุนล่วงหน้าจนเกิดเป็นดีมานด์เทียม ทำให้จากเดิมที่คาดว่าภาคธุรกิจจะแบกรับต้นทุนได้ 2-3 เดือน อาจทำไม่ได้อีกต่อไป
“ทุกวันนี้ภาคเอกชนก็พยายามควบคุมต้นทุนการผลิตและลดค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้อยู่แล้ว ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคก็ทำได้จำกัดจากสภาวะเศรษฐกิจ คนที่ส่งผ่านได้คงต้องทำ แต่คนที่ส่งผ่านไม่ได้ทั้งหมดคงต้องแบกรับเอาไว้เอง” เกรียงไกรกล่าว
เกรียงไกรกล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีการหยิบยกเอาประเด็นเรื่องภาวะต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกมาหารือเป็นหัวข้อใหญ่
“สิ่งที่เราอยากเสนอไปยังภาครัฐคืออย่าปล่อยให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดในครั้งเดียวจนเกิดเป็นภาวะช็อก แต่ให้ทยอยปรับเพิ่มขึ้น 3-4 ครั้ง เป็นขั้นบันได เช่น ขยับจาก 30 บาท ไปที่ 32 บาท, 33 บาท, 34 บาท ขณะเดียวกันก็อยากเสนอให้ภาครัฐขยายเวลามาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท ที่จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมนี้ออกไปอีก 3 เดือน เพราะหากไม่มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าว ราคาดีเซลในเดือนมิถุนายนก็จะขยับขึ้นอีก 3 บาท” เกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ ประธาน ส.อ.ท. ยังเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าหากในปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 5-6 ล้านคน ก็จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน ลดภาระภาครัฐ และเติมเงินเข้ากระเป๋าประชาชน
“ตอนนี้มีการพูดถึงมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ผมมองว่าในระยะสั้นเรายังจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายอยู่ ซึ่งมาตรการนี้จะมีส่วนช่วยได้ ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ที่ 62% จากเพดานที่ 70% ซึ่งหมายความว่าเรายังมีช่องว่างในการกู้ยืมเพิ่มได้อีกราว 1.3 ล้านล้านบาท แต่เมื่อกู้ยืมมาแล้วต้องใช้ให้ตรงจุด ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการให้ความช่วยเหลือ” เกรียงไกรกล่าว