หนี้ครัวเรือนยังพุ่งสูง แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อทำตลาดรถยนต์ชะลอ ส.อ.ท. เผย เดือนมีนาคม 2567 ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยลดลง 23.08% ส่งผลให้ยอดขายลดลง 29.83% รวมถึงยอดส่งออกลดลง 3.35% ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น 2,965% แต่ยอดขายประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ลดลง 28.38%
วันนี้ (25 เมษายน) สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนมีนาคม 2567 มีการผลิตทั้งสิ้น 138,331 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 23.08% โดยมีปัจจัยหลักจากการผลิตขายในประเทศลดลง 41.01% จากการผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งที่ลดลงตามยอดขายในประเทศที่ลดลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หนี้ท่วมไทย…ปัญหาอยู่ที่ใคร? ‘บ้าน-รถยนต์’ ถูกยึด แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น 50% เพราะคนผ่อนต่อไม่ไหว
- กลุ่ม EV ยังยืนหนึ่งเป็นธุรกิจแห่งอนาคตอยู่หรือไม่ | THE STANDARD WEALTH
- เก็บตก Motor Show 2024 – EV จีนบุกไทย ใครได้ประโยชน์? | MORNING WEALTH INTERVIEW
- ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย ถูกกินรวบ ฟากทุนจีนเช่าเหมานิคม ‘Smart Park’ ลงทุนชิ้นส่วน EV-พลังงาน
“เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่มาก เพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางบริษัทยังไม่พร้อม ซึ่งคาดว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 3”
ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 414,123 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 18.45%
ยอดขายทรุดหลังหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจยังอ่อนแอ
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 56,099 คัน ลดลง 29.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนที่สูงมากและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เพราะความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าไปหลายเดือน ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชะลอตัวไปด้วย ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังยอดขายรถยนต์จะดีขึ้นจากการใช้จ่าย การลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลร่วมกับการลงทุนของเอกชน และการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นมากกว่า 33 ล้านคน
“โดยรวมไตรมาสแรกมียอดขาย 163,756 คัน ลดลง 24.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยอดขายรถกระบะลดลงมาก โดยมีสัดส่วนน้อยกว่ารถยนต์นั่ง เพราะแบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อลดลงถึง 50%” สุรพงษ์กล่าว
เช่นเดียวกับยอดการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 ส่งออกได้ 95,089 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 7.18% แต่ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 3.35% ทั้งนี้ เชื่อว่าการส่งออกยังคงแข็งแกร่งตามยอดขายของประเทศคู่ค้าที่ยังเติบโต เช่น ประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์
โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์ในเดือนมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 67,926.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 12%
ดังนั้น การส่งออกในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2567 อยู่ที่ 270,525 คัน ลดลง 1.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 248,608.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้ว่ายอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเดือนมีนาคม รวมมีการจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 2,965%
แต่เมื่อดูประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่แล้วมียอดจดทะเบียนใหม่ 7,436 คัน ลดลง 15.59% จากเดือนมีนาคมปีก่อน
ส่งผลให้ยอดขายรวม BEV เดือนมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 4,615 คัน หรือ 8.23% ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ 28.38%
เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้บริโภคเร่งจดทะเบียนให้ทันภายในกำหนดเวลา เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการ EV3.5 ในการลดภาษีสรรพสามิต 150,000 บาทต่อคัน
สุรพงษ์กล่าวสรุปอีกว่า “แม้เดือนมีนาคม ภาพรวมทั้งยอดผลิตรถยนต์ ยอดขาย ยอดส่งออกลดลง แต่ปีนี้ยังคงเป้าหมายการผลิตที่ 1.9 ล้านคัน การส่งออก 1.15 ล้านคัน และเป้าหมายขายในประเทศ 750,000 คัน ท่ามกลางหลายปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิด”