×

‘ก้าวสู่ประชาคมโลก’ โอกาสครั้งสำคัญของไทย ที่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สรุปประเด็นจาก FTA THAI-EU Moving Forward

โดย THE STANDARD TEAM
30.09.2021
  • LOADING...
FTA THAI-EU Moving Forward

ความตกลงระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่อาจสร้างผลกระทบแก่ทุกภาคส่วน ทั้งสร้างผลกระทบเชิงบวกและลบไปพร้อมกัน สิ่งสำคัญคือกระบวนการก่อนที่การเจรจาจะเกิดขึ้น ที่จะต้องมีการรับฟังเสียงจากประชาชน พร้อมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขของการเจรจาที่จะช่วยสร้างผลประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ชนชั้นแรงงาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง 

 

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าการเจรจาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงสนับสนุนให้เกิดเวทีเสวนา FTA THAI-EU Moving Forward เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างพื้นที่การรับฟังเสียงจากประชาชนในแต่ละภาคส่วนให้ทั่วถึงมากที่สุด ก่อนนำความคิดเห็นทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณา เพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในขั้นตอนถัดไป 

 

โลกเปลี่ยนไป ไทยต้องปรับตัว โอกาสของการเป็น ‘เรือเหนือน่านน้ำ’ ของภูมิภาคอาเซียน 

 

 

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องของความตกลงการค้าเสรีคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งหากจะพิจารณาได้อย่างรอบด้าน ต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์โลกในทุกมิติ 

 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวบนเวทีเสวนาถึง 4 ประเด็นสำคัญที่เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ได้แก่

 

  1. เทคโนโลยีดิสรัปทีฟ: การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเชน, Digital & Cryptocurrency, การผลิตและบริโภคพลังงาน รวมไปถึงเทคโนโลยีควอนตัม 2.0 
  2. โลจิสติกส์: จากภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าระหว่างประเทศ 
  3. Global Value Chains (GVCs): ในอนาคตอันใกล้กระแสทางเศรษฐกิจที่กำลังผันแปรโดยมีศูนย์กลางเป็นอาเซียน เกิดการนำเข้าและส่งออกสินค้าอีกมากมายจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยต้องคว้าโอกาสนี้ไว้
  4. New Normal: วิถีชีวิตแบบปกติใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ที่ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน 

 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยจะต้องไม่ละเลยในการพิจารณาความตกลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถือได้ว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยที่จะต้องปรับตัวให้เป็น ‘ผู้ได้ประโยชน์’ จากกระแสเศรษฐกิจที่กำลังวนมาหาประเทศแถบอาเซียน และหากช้าไปกว่านี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘เวียดนาม’ ก็จะเป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่สามารถสร้างคุณค่า ต่อยอดประโยชน์จากความตกลงกับสหภาพยุโรป และสร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจในประเทศได้อีกมหาศาล

 

นอกจากนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ ยังกล่าวต่ออีกว่า ความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปครั้งนี้ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญอย่างแท้จริง เพราะในการเจรจาแบบ 1 ต่อ 1 ย่อมมีความซับซ้อนและยุ่งยากในการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน ต้องใช้ทรัพยากรและเวลามาก แต่ครั้งนี้เป็นการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปซึ่งมีจำนวน 27 ประเทศ เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงสมบูรณ์ (Absolute Advantage) จึงขอเสนอว่าให้เดินหน้าเจรจา

 

ด้าน ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย Socio-Political Economic Modelling Centre สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ได้ตอกย้ำความละเอียดอ่อนของการทำ FTA กับสหภาพยุโรปว่า การเจรจาย่อมเกิดผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ขึ้น 

 

สำหรับด้านประโยชน์ของการเจรจาครั้งนี้ ได้ทดลองใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างร้อยละของการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการและลดอุปสรรคการค้าและบริการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การทำ FTA THAI-EU อาจมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดย GDP อาจเติบโตระหว่าง 2.45-6.91 หรือราว 4 แสนล้าน – 1.2 ล้านล้านบาท ขึ้นอยู่กับระดับการเปิดเสรี 

 

 

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า การทำ FTA THAI-EU ประชาชนยังมีความกังวลในเรื่องของค่าครองชีพ คุณภาพสินค้า การจ้างงาน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญอยู่ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลกระทบจากข้อกังวลเหล่านี้จะนำไปสู่ชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นหน่ึงในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

FTA THAI-EU Moving Forward

 

ดังนั้นนี่จึงถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของประเทศที่จะต้องผลักดันให้ไทยเข้าสู่ประชาคมโลกไปพร้อมกับการดูแลผู้เสียประโยชน์จากความตกลงให้ได้อย่างแท้จริง 

 

ไทยต้องเข้าสู่ประชาคมโลกก่อนเป็นประเทศล้าหลัง

จากการเปลี่ยนผ่านของ Global Value Chains (GVCs) ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทยที่ต้องปรับตัวและเป็นผู้ได้ประโยชน์การเจรจา อย่างไรก็ตาม หลังเกิดวิกฤตการณ์โควิด ซึ่งสร้างผลกระทบต่อนานาประเทศทั่วโลก ก่อให้เกิดการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวและพร้อมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและโอกาสในอนาคต แต่หลายประเทศยังติดอยู่ในหลุมของปัญหา ซึ่งไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องกำหนดเส้นทางในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

 

ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวบนเวทีเสวนาถึงความสำคัญของการทำ FTA THAI-EU ว่า

 

“เวลาเราทำข้อตกลงการค้า เราก็ต้องมองอนาคตว่า เราอยากให้ประเทศไทยหลุดจากสถานะวิกฤตของโควิดปัจจุบันนี้ แล้วมีอะไรบ้างที่จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นวิกฤต การเจรจาการค้าเป็นอย่างหนึ่งที่จะสร้างรายได้จากการส่งออก คำถามคือ ถ้าเราไม่ได้ทำ FTA การค้าไม่เดิน นักท่องเที่ยวไม่มา แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อจะหารายได้เข้าประเทศ ถ้าเราจะหวังจากการค้าในประเทศอย่างเดียวมันไม่พอ

 

“ยิ่งช้ายิ่งเหนื่อยสำหรับเอกชน ถ้าเราเร่งสปีดได้ทัน คิดว่าทำให้ได้ทัน โอกาสของประเทศไทยมีมโหฬารจริงๆ ซัพพลายเชนเรากับทางอียูเข้มแข็งมาก และอียูก็ใช้เราเป็นซัพพลายเชนในเรื่องของการขยายตลาดของเขาเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ส้มหล่นไปที่เวียดนามหรือสิงคโปร์แน่ๆ เพราะเขาพร้อม เขาทำอยู่แล้ว แล้วเราทำไมไม่ทำ เอกชนต้องการให้เดินหน้าเพื่อโอกาสของประเทศไทย ในอนาคตไม่มีอะไรแน่นอน โดยเฉพาะหลังโควิด พร้อมไว้ ทำไว้ โอกาสมาถึงก็จะสะดวกมากขึ้น” 

 

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าความตกลง FTA THAI-EU เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยมิอาจปฏิเสธได้ และจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเปิดรับโอกาสในอนาคตได้อีกมหาศาล 

 

ทว่า อีกประเด็นสำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในการเจรจาคือ การปรับภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างไทยและสหภาพยุโรป หมายความว่าหากความตกลงได้เกิดขึ้นเมื่อใด นั่นหมายถึงเวลาที่สินค้าในประเทศจะมีคู่แข่งจากต่างประเทศ

 

สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภคอย่างมากมาย ช่วยเพิ่มตัวเลือกของผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่ผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นผู้แพ้ในสมรภูมิการค้าคือ ชนชั้นแรงงานของกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นๆ สิ่งที่ต้องคุยกันต่อคือ เรื่องของ ‘ศักยภาพ’ การแข่งขันของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในแต่ภาคอุตสาหกรรมมีความพร้อมมากน้อยขนาดไหนต่อการเปลี่ยนแปลง

 

ชกมวยตัวเปล่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องยอมรับ

อุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการแข่งขันจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาสินค้าของประเทศไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้ หัวใจสำคัญคือ ‘กำแพงภาษี’ 

 

พฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งบริษัท แดรี่โฮม จำกัด ได้กล่าวถึงศักยภาพของไทย และเน้นย้ำถึงความสำคัญของ ‘กำแพงภาษี’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องให้ผลิตภัณฑ์ไทยสามารถแข่งขันอยู่ในสนามการค้าได้ 

 

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคุณภาพที่ต้องพัฒนา แต่หัวใจคือความแตกต่างของต้นทุนที่ต่างกัน ทั้งต้นทุนการใช้ชีวิตของชนชั้นแรงงาน รายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศ ยังไม่รวมเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญที่ต้องยอมรับว่ายุโรปมีประสบการณ์มากกว่าประเทศไทย 

 

“ทำไมเราถึงยังต้องมีกำแพงภาษี ในเมื่อโลกควรจะค้าขายแบบเปิดประตูเข้าหากัน ผมอยากยกตัวอย่างว่า ถ้าเราชกมวย เราไปแบกน้ำหนักมาก เราก็คงไม่มีทางชนะ ตัวเปรียบเทียบที่ทำให้เห็นว่าเราไม่ควรไปชกตัวต่อตัวกับเขาคือ ประเทศในยุโรป ยกตัวอย่างประเทศที่ทำนมเก่งๆ และส่งมาขายเรา รายได้ต่อหัวประชากรของเขาคือ 5-6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อปี ของไทยอยู่ที่ 7 พันดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะฉะนั้นนี่คือการแบกน้ำหนักของเรา เทคโนโลยีต่างๆ ความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ที่เขาสั่งสมมาก็มีมากกว่าเรา”

 

นอกจากนี้หากเราพิจารณาถึงภาคเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเคยเป็นประเด็นร้อนกับเรื่องข้อตกลง CPTPP มาแล้วครั้งหนึ่ง ในความตกลง FTA THAI-EU นี้เองก็เป็นประเด็นที่เกิดความกังวลขึ้นอย่างแท้จริง เพราะถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

FTA THAI-EU Moving Forward

 

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ตัวแทนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้กล่าวถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยอาจเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากความตกลง FTA THAI-EU คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องของยา 

 

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตยานั้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากฝั่งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

 

FTA THAI-EU Moving Forward

 

นั่นหมายความว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้แต้มต่อในการแข่งขันครั้งนี้ แต่จะเป็นฝ่ายที่ต้องยอมรับผลกระทบ ที่สุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อผู้บริโภคที่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นอีกอย่างน้อย 2 พันล้านบาท และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ กับการผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย 

 

“คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่เข้าร่วมเจรจา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเข้าไปร่วมเจรจาแบบไหน ซึ่งการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกรอบการเจรจาที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนควรจะมีโอกาสเข้ามาพูดคุยหารือกันว่ากรอบการเจรจาควรจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงเรื่องประเด็นอ่อนไหวที่อาจจะไม่สามารถเจรจาหรือยอมถอยไปได้มากกว่านี้ เพื่อที่จะให้เราเห็นชัดว่าสิ่งที่เราจะได้และเสียเราจะยอมเสียมากน้อยแค่ไหน โดยที่ต้องคิดไตร่ตรองอย่างมีส่วนร่วม”

 

กุญแจสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อในครั้งนี้คือ ‘กรอบการเจรจา’ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง และต้องทำให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ประชาคมโลกได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

‘กรอบการเจรจา’ ประตูด่านแรกเพื่อป้องกันความเสียหายจากความตกลง 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch ได้ตอกย้ำความสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ ซึ่งจะสร้างผลกระทบมหาศาลแก่ประชากรในประเทศ หากขาดความระมัดระวังและไม่ได้บรรจุข้อกังวลลงในกรอบการเจรจา

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นนอกจากภาษีศุลกากรคือ ผลกระทบต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการผลักผลกระทบให้เกิดขึ้นต่อคนจนอย่างแท้จริง 

 

“คุณทำลายหลักการของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คุณจะทำให้เป็นเรื่องของคนจนและคนรวย สุดท้ายเมื่อยาแพง คนที่ถูกบังคับให้ร่วมจ่าย สุดท้ายเราจะไม่มี Safetyness ในภาวะที่เราเผชิญกับวิกฤตโควิดแบบนี้

 

“สิ่งสำคัญที่ไทยไม่ควรยอมรับจากอียูเลยคือ เรื่องสิทธิบัตรยา UPOV และกลไกการระงับข้อพิพาทของรัฐ”

 

นอกจากนี้กรรณิการ์ยังกล่าวต่ออีกว่า

 

“กรอบเจรจาทำให้มันชัดเจน แล้วประกาศต่อสาธารณชนว่า นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะนำไปเจรจา”

 

ดังนั้นในการที่จะผลักดันประเทศไทยให้สามารถเจรจากับสหภาพยุโรปได้มีประสิทธิภาพและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนั้น ‘กรอบการเจรจา’ จะเป็นด่านแรกที่ภาครัฐต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมยาที่จะต้องถูกบรรจุลงไปในข้อกังวลข้างต้น แต่เป็นทุกภาคส่วนที่ต้องมีการพิจารณาอย่างที่ถ้วน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อคนตัวเล็กที่ต้องรับความเปลี่ยนแปลงนี้โดยตรงอย่าง ‘เกษตรกร’

 

‘เยียวยาน้อย ไร้คนเข้าถึง’ ต้องเปลี่ยนผ่านเงินเยียวยาสู่กองทุนนวัตกรรม

 

FTA THAI-EU Moving Forward

 

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไทยเดินหน้าทำความตกลงทางการค้ากับอียูว่า อาจเป็นเหมือนฝันร้ายของเกษตรกรทุกคน หากพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เยอะมาก แต่ในตัวเลขเหล่านั้นมีจำนวนเกษตรกรอยู่มหาศาล ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง บางคนขาดความรู้ ความการเข้าถึงการเยียวยา รู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว

 

พฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งบริษัท แดรี่โฮม จำกัด เป็นอีกหนึ่งเสียงในเวทีเสวนาครั้งนี้ ที่ตอกย้ำถึงปัญหาในการเข้าถึงกองทุนของภาคเกษตรกร 

 

โดยที่ผ่านมาเรียกได้ว่ากระบวนการเยียวยาในความตกลงอื่นๆ นอกจาก FTA THAI-EU นั้นไม่ได้มีส่วนช่วยเหลืออย่างแท้จริง เกษตรกรจำนวนน้อยที่สามารถเข้าถึงกองทุนได้และกองทุนที่มีก็ไม่เยอะ โดยพฤฒิได้ใช้คำว่า ‘น้อยแต่เหลือ’ สะท้อนถึงปริมาณและกระบวนการที่ไม่สอดคล้องต่อการใช้งาน หากจะดำเนินการเพื่อพัฒนาการผลักดันความตกลงครั้งนี้ต้องไม่ให้ฝันร้ายเกิดขึ้นซ้ำสองกับเกษตรกร 

 

อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบนั้นต่างเข้าใจดีถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจและอยากให้ทำอย่างจริงจังคือ ‘กรอบการเจรจา’ และมาตรการเยียวยาที่ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงกองทุนได้อย่างแท้จริง

 

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้กล่าวบนเวทีเสวนาเป็นคนสุดท้าย และได้ตอกย้ำว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างโอกาสจากความตกลงครั้งนี้ 

 

จากข้อมูลการนำเข้าและส่งออกมีความสำคัญเกือบ 120-130% ของ GDP ของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยสำคัญในการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด และสิ่งนี้อาจเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างศักยภาพการนำเข้าและส่งออกของประเทศไทยให้สามารถต่อสู้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ 

 

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบมีแน่นอน อย่างไรก็ตาม ดร.ชนินทร์ ได้กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีวิวัฒนาการ โดยทุกอย่างมีทางออก แต่ต้องเกิดการร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เราสามารถหลุดพ้นจากความยากจนของประเทศ กองทุนที่เรามีไม่ควรเป็นเพียงกองทุนเยียวยา แต่ต้องเป็นกองทุนนวัตกรรมที่ช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ไทยสามารถรับมือกับสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้

 

“ผมมองว่า การเปิดตัวเองเพื่อเรียนรู้วิวัฒนาการเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนของประเทศ คนที่มีข้อกังวล ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีทางออกหมด เพียงแต่เปิดใจมาคุยกัน ภาครัฐเองก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกฝ่ายมาคุยกัน ดีเบตกัน มียุทธศาสตร์ของแต่ละภาคส่วนที่ชัดเจน ใครแข็งแกร่งอยู่แล้ว อยู่ได้ด้วยตัวเองก็อยู่ไป ภาคส่วนที่มีข้อกังวลต้องมาสุมหัวช่วยกันคิด และมันจะสำเร็จได้”

 

การเดินหน้าต่อของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

FTA THAI-EU Moving Forward

 

ในส่วนสุดท้ายของงาน อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมในเวทีเสวนาครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงการรับฟังความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนในประเทศไทย โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการเจรจา

 

โดยจากการเจรจาในอดีตระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 นั้น ได้ถูกพักการเจรจาไว้จากปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย และสำหรับครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง 

 

ในเรื่องของความพร้อมของประเทศเชื่อว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่าในอดีตอยู่มาก มีการพัฒนากฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันในการเจรจาอยู่ในขั้นตอนที่รวบรวมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาเพื่อทำกรอบเจรจาต่อ 

 

“ณ ขณะนี้ เราจะเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำกรอบเจรจาต่อ และถ้าได้กรอบแล้วและความคาดหวังระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปจะต้องไม่ต่างกันมาก เราไม่อยากให้การเจรจาใช้เวลานานเกินไป และถ้าความคาดหวังของเราใกล้กัน เราจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแจ้งทางสหภาพยุโรปว่าเราพร้อมที่จะเจรจาต่อในลำดับถัดไป” 

 

ความตกลง FTA THAI-EU เป็นสิ่งที่ไทยต้องเผชิญหน้าไม่ช้าก็เร็ว และถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ไทยจะได้ยืนอยู่ในประชาคมโลก แต่สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ ความละเอียดอ่อนของ ‘กรอบเจรจา’ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและมีความโปร่งใส ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตต้องได้รับการแก้ไข ทั้งการเข้าถึงกองทุนและมาตรการเยียวยา รวมถึงกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย จึงจะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยสามารถขึ้นไปยืนเหนือน่านน้ำและกอบโกยผลประโยชน์ที่จะพัดมาสู่อาเซียนได้อย่างยั่งยืน 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising