×

นักสิ่งแวดล้อมหวั่น จีนประกาศระงับความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศกับสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้วิกฤตโลกรวนแย่ลง

06.08.2022
  • LOADING...
นักสิ่งแวดล้อม

วานนี้ (5 สิงหาคม) กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ประกาศระงับความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาหลากหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการระงับการเจรจาในประเด็นสภาพภูมิอากาศ เพื่อตอบโต้การเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส่งผลให้นักสิ่งแวดล้อมกังวลว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตโลกรวนที่กำลังเป็นภัยคุกคามมวลมนุษยชาติ 

 

เมื่อปีที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ เคยสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศข้อตกลงที่มุ่งผลักดันการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ แต่ความพยายามดังกล่าวก็ได้หยุดชะงักลง หลังจากที่จีนประกาศระงับความร่วมมือไปเมื่อวานนี้

 

อัลเดน เมเยอร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสถาบัน E3G ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นน่าวิตกกังวลอย่างมาก เพราะการแก้ไขวิกฤตโลกรวนจะไม่มีทางประสบความสำเร็จหากปราศจากความร่วมมือของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ เพราะทั้งสองชาติต่างเป็นผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก

 

ด้าน อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ UN ก็ได้ออกมาแสดงความกังวลเช่นกัน โดยระบุว่า ความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไข ‘ปัญหาเร่งด่วนที่สุด’ ของโลก

 

ฟร็องซัว เจอเมนเน ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การตัดสินใจของจีนถือเป็นหายนะของปัญหาสภาพภูมิอากาศ ไม่ต่างจากสมัยที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกเฉลี่ยให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

 

นอกจากนี้คำประกาศล่าสุดของจีนยังได้ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า แล้วการประชุม COP27 ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นที่อียิปต์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นไปในทิศทางใด โดย หลี่ซัว เจ้าหน้าที่จากองค์กรกรีนพีซ ได้ออกมาตั้งคำถามบน Twitter ว่า หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ “แล้วเงื่อนไขที่ทั้งสองชาติจะยอมกลับมาสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งคืออะไร” เงื่อนไขเหล่านั้นจะเน้นการแก้ปัญหาด้านภูมิอากาศหรือไม่ หรือท้ายที่สุดจะจบลงที่ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ของทั้งสองชาติ

 

ปัจจุบันโลกของเรามีอุณหภูมิร้อนขึ้นเฉลี่ยเกือบ 1.2 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งคลื่นความร้อน ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วมใหญ่ และพายุที่รุนแรงกว่าเดิม

 

ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ระบุว่า โลกของเราอาจเผชิญอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 2.8 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 แม้ว่าประเทศต่างๆ จะยอมปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศที่ให้ไว้ก็ตาม 

 

นอกจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แล้ว ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ได้ เนื่องจากหลายประเทศประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มีต้นเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด และการที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน ก็ส่งผลให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องหวนกลับมาเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกครั้ง

 

แฟ้มภาพ: Halfpoint Via Shutterstock

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X