×

เสียงสะท้อนจากแพทย์ด่านหน้า ระบบสาธารณสุขไทยใกล้ล่มสลาย เมื่อหมอต้องปฏิเสธคนไข้ให้กลับไปตายที่บ้าน

26.06.2021
  • LOADING...
แพทย์ โควิด

“เท่าที่เจอคือเรื่องเคสที่หนักมากขึ้น ต้องพูดให้ผู้ป่วยหนักที่ห้องฉุกเฉินกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน การทำงานใน ICU และสภาพหอผู้ป่วยโควิด-19 ปัจจุบันที่เบียดเสียด” กลุ่มหมอไม่ทน โดย หมอเปิ้ล จากโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในเขตปริมณฑล บอกกับ THE STANDARD 

 

เมื่อวาน (25 มิถุนายน) เราเห็นข่าวสามี-ภรรยาอยู่ในห้องเช่า 7 วันเพราะติดโควิด-19 แต่ไม่มีเตียงรักษา ต้องกักตัวเองในห้องแคบๆ สุดท้ายสามีนั่งมองภรรยาสิ้นใจไปต่อหน้า

 

วันนี้ (26 มิถุนายน) เราเห็นข่าวยายวัย 84 ย่านถนนตก ติดโควิด-19 รอเตียงมา 10 วัน เสียชีวิตคาบ้าน

 

แต่คุณหมอด่านหน้า ต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ทุกวัน วันละหลายเคส เรามาถึงจุดที่แพทย์ต้องโทรไปบอกญาติคนป่วยว่าคนที่คุณรักคงไม่ได้ไปต่อ เราขอเตียง ICU นี้ให้กับคนที่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ ถ้าจะบอกว่าระบบสาธารณสุขของไทยตอนนี้ ‘วิกฤต’ อาจจะฟังดูเฝือ และไม่สะท้อนปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์หน้างานต้องเจอด้วยซ้ำไป

 

ทุกทรัพยากรระดมสู่โควิด-19 ผู้ป่วยโรคอื่นต้องตายทั้งที่รักษาได้

 

หมอเปิ้ล แพทย์จากกลุ่มหมอไม่ทน ซึ่งทำหน้าที่แพทย์ด่านหน้าอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในเขตปริมณฑล เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ตอนนี้ภาพผู้ป่วยโควิด-19 ขึ้นมาบังภาพของผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด-19 หมดเลย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของไทย ซึ่งต้องได้รับการดูแลภายใน 24 ชั่วโมงโดยการสวนหัวใจใส่ขดลวด ซึ่งไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลจะทำได้ ต้องเป็นศูนย์โรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น แต่ตอนนี้ศูนย์โรงพยาบาลใหญ่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หมดจนไม่มีเตียงเหลือให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทำให้เขาต้องเสียชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาลต้นทางเพราะไม่สามารถส่งต่อได้

 

“ตอนนี้ผู้ป่วยอายุมากที่ติดเตียง หมอต้องคุยกับญาติว่าต้องทำใจปล่อยแกไปเพราะมันไม่มีเตียง บางครอบครัวที่ทำใจไม่ได้ก็จะพาคุณปู่คุณย่ากำใบส่งตัวไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ว่าจะมีที่ไหนมีเตียงให้พวกเขาบ้าง แต่ทุกโรงพยาบาลก็เตียงเต็มหมด มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันไม่ใช่ข้ออ้าง สุดท้ายหมอต้องให้มอร์ฟีนกลับไป และให้ไปเสียชีวิตที่บ้าน

 

“มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะพูดกับคนไข้ผู้ป่วยติดเตียง เพราะเขาก็ยังสื่อสารได้ แค่นอนติดเตียงเฉยๆ แต่ตอนนี้เราต้องบอกเขาว่าต้องทำใจนะคุณคงไปต่อไม่ได้เพราะเราไม่มีบุคลากร เราไม่มีเตียง มันทำใจยากมากเพราะเรารู้ว่าเมื่อให้เขากลับบ้านไปเขาต้องไปเสียชีวิต

 

“มันยากมากนะที่ต้องบอกคนไข้ว่าขอโทษนะเราไม่มีเตียง เรารู้ว่ากลับไปเขาก็ตาย และญาติก็รู้ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายเขาต้องยอมรับความจริงว่ามันไม่มีเตียง อันนี้มันสะเทือนใจมาก และทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขวัญเสีย หมดกำลังใจในการทำงาน

 

“มีเคสผู้ชายอายุ 30 ปี เส้นเลือดหัวใจตีบ จริงๆ แค่รับมาสวนหัวใจภายใน 3 ชั่วโมงเขาสามารถเดินกลับบ้านพรุ่งนี้ได้เลย แต่กลายเป็นว่าเขาต้องเสียชีวิตที่โรงพยาบาลต้นทาง เพราะไม่มีโรงพยาบาลไหนสามารถรับเขาได้เลย 

 

“คำที่เขาพูดว่ามีเตียง แต่หน้างานคือมันไม่ใช่เลย สิ่งที่เขาพูดมันคือคำโกหกที่บุคลากรทางการแพทย์รับไม่ได้ที่สุด”

 

หมอเปิ้ลบอกด้วยว่า ส่วนผู้ป่วยมะเร็ง ถ้าใครค้นพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ต้องทำใจเลยว่าหนักแน่นอนเพราะไม่มีโรงพยาบาลไหนสามารถรองรับได้อีกแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งจะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะรักษาน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายก็จะได้รับการพูดคุยให้ยุติการรักษาเพราะไม่มีเตียง และกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน

 

การเพิ่มเตียงไม่ง่าย เพราะปัจจัยสำคัญคือบุคลากรที่เพิ่มได้ยาก

 

หมอเปิ้ลกล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่นี้วิกฤตหนักมาก การจำแนกผู้ป่วยเบื้องต้นตอนนี้แบ่งเป็น สีเขียว สีส้ม และสีแดง แต่สถานการณ์ตอนนี้หลายโรงพยาบาลที่สอบถามเพื่อนหมอด้วยกันไม่สามารถรับผู้ติดเชื้อที่โทรแจ้งไปที่ 1669 ได้แล้วเพราะจำนวนเตียงไม่พอ เหลือแค่รับผู้ป่วยตามสิทธิ์ของโรงพยาบาลนั้นๆ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีเตียงพอเช่นกัน ทำให้หลายโรงพยาบาลไม่รับตรวจโควิด-19 แล้วเพราะถ้าตรวจเจอจะไม่สามารถรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้ อีกทั้งบุคลากรที่ตรวจโควิด-19 หลายคนติดเชื้อโควิด-19 แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว

 

หมอเปิ้ลปูพื้นความเข้าใจถึงระดับการดูแลผู้ป่วยสีต่างๆ ว่า ผู้ป่วยสีเขียว คือผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการน้อย กลุ่มนี้ใช้แพทย์ดูแลน้อย และไม่ต้องเป็นแพทย์เชี่ยวชาญ อาจจะใช้พยาบาลเยอะสัดส่วน 1 ต่อ 10 

 

แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสีส้ม ต้องใช้แพทย์ที่ชำนาญมากขึ้น เช่น แพทย์อายุรกรรม หรือต้องใช้แพทย์หน่วยอื่นมาเข้ารับการอบรมเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์อายุรกรรม ส่วนพยาบาลที่ดูแลอาจจะดูแลผู้ป่วยประมาณ 4 คน ส่วนแพทย์ 1 คนควรจะดูคนไข้ไม่เกิน 30 คน แต่สถานการณ์ตอนนี้เฉพาะโรงพยาบาลที่หมอเปิ้ลสังกัด แพทย์ 1 คนต้องดูผู้ป่วยสีส้ม 70 คน แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ขนาดเล็กกว่านี้ก็จะมีสัดส่วนมากกว่านี้อีก ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ‘ผู้ป่วยสีส้ม’ บางส่วนที่อาการเป็นสีแดงแล้วแต่ยังไม่มีที่ไปเพราะ ‘เตียง ICU เต็ม’ ก็จะต้องนอนอยู่ในหอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ป่วยสีส้มเหมือนเดิม โดยอาจจะใส่เครื่องช่วยหายใจ และใช้ยาให้คนไข้หลับสนิทตลอดเวลา 

 

ส่วนผู้ป่วยสีแดง ตามปกติแพทย์ 1 คนควรดูแลผู้ป่วย ICU ไม่เกิน 7 เตียง และใช้พยาบาลดูแล 1 ต่อ 1 เพราะต้องดูแลใกล้ชิดตลอด แต่สถานการณ์ตอนนี้แพทย์ 1 คนต้องดูผู้ป่วย 10-12 เตียง และพยาบาล 1 คนต้องดูแลผู้ป่วย 2 เตียงแทน

 

“คำสั่งที่ให้เพิ่มเตียง ICU ของนายกฯ นั้นถ้าเป็นเรื่องอุปกรณ์สามารถเพิ่มได้ แต่บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยวิกฤตมันไม่สามารถเพิ่มได้เร็วขนาดนั้น ถ้าเป็นพยาบาลต้องใช้เวลาอบรมเป็นปี ถ้าเป็นหมอต้องเรียนต่ออีก 2 ปี” 

 

โควิด-19 รอบนี้สีเขียว 40% จะเป็นสีส้ม สุดท้ายไปกระจุกอยู่โรงพยาบาล

 

หมอเปิ้ลกล่าวถึงปัญหาในส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ว่าเริ่มมีปัญหาตั้งแต่การตรวจเลย เพราะจะตรวจฟรีกับคนที่เข้าเกณฑ์เท่านั้น คือต้องมีอาการ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ต้องเสียเงินจ่ายเอง แต่ตอนนี้มีหลายโรงพยาบาลไม่รับตรวจเพราะถ้าเจอต้องรับรักษาแต่ไม่มีเตียงแล้ว อีกทั้งคนที่ตรวจหลายคนก็ติดโควิด-19 ทั้งที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว

 

ส่วนโรงพยาบาลสนามที่รับผู้ป่วยสีเขียวตอนนี้ เริ่มไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ เพราะการระบาดระลอกนี้ผู้ป่วยถึง 40% จากกลุ่มสีเขียวจะยกระดับมาเป็นสีส้ม ซึ่งสุดท้ายก็จะมากระจุกที่โรงพยาบาลซึ่งไม่มีเตียงอยู่แล้ว ต่างจากระลอกก่อนหน้าที่ผู้ป่วยสีเขียวส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้เอง 

 

การตรวจไม่ทั่วถึงก็สร้างปัญหา ปัจจุบันที่เราเห็นยอดผู้ป่วยรายวัน 3-4 พันคน แต่เราไม่รู้ว่าตรวจวันละกี่คน แต่ในโรงพยาบาลมีหลายคนมากที่มารักษาด้วยอาการอื่น แต่ตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 ดังนั้นเราไม่มีทางรู้เลยว่ายอดผู้ป่วยที่แท้จริงมีเท่าไรกันแน่ ปัญหาสำคัญคือผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับการตรวจ เวลามีอาการมาโรงพยาบาลก็คือเมื่ออาการหนักแล้ว

 

หมอต้องบอกญาติคนป่วย ขอสละเตียงให้คนอื่นที่มีโอกาสมากกว่า

 

หมอเปิ้ลเล่าต่อว่า ส่วนผู้ป่วยสีส้ม สีแดง ที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่หัวจ่ายออกซิเจนก็มีเท่าเดิม ทำให้หมอต้องเลือกว่าจะให้ใครก่อน ต่อให้อาการหนักเหมือนกันแต่เราต้องเอาของทั้งหมดไปให้คนที่มีความหวังมากกว่า ส่วนคนที่มีความหวังน้อยลงมาก็อาจจะต้องปล่อยให้เขาเสียชีวิต

 

“ผู้ป่วย ICU ก็มีเหตุการณ์ที่ต้องโทรหาญาติตรงๆ เลยว่าญาติคุณไม่ไหวแล้ว อาจจะต้องให้คนอื่นที่มีโอกาสมากกว่ามาแทน” 

 

การตายด้วยโควิด-19 เป็นการตายที่น่ากลัวมาก เพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และต้องฉีดยาให้หลับสนิทเพื่อไม่ให้เขาขยับได้เลยเพื่อป้องกันไม่ให้ไอ ซึ่งเสี่ยงแพร่เชื้อ และถ้ามีปอดบวมรุนแรงต้องจับนอนคว่ำวันละ 16 ชั่วโมง และจับนอนหงาย 8 ชั่วโมงสลับกันแบบนี้ 48 ชั่วโมงเพื่อให้ปอดขยาย ซึ่งในช่วงนี้ถ้าคนป่วยเสียชีวิตเขาจะไม่มีทางรู้ตัวเลย ภาพสุดท้ายที่เขาเห็นคือการใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่มีโอกาสได้บอกลาใครเลยแม้แต่นิดเดียว

 

หมอหน้างานถูกเซ็นเซอร์ สะท้อนความจริงไม่ได้

 

หมอเปิ้ลบอกว่า หมอก็ได้แค่พูดในวงแคบๆ เพราะถ้าพูดในวงกว้างก็จะโดนตักเตือน ในวงการหมอด้วยกันเองก็มีการเซ็นเซอร์กันเอง ทำให้หมอหน้างานไม่สามารถสะท้อนปัญหาสู่สังคมได้อย่างตรงไปตรงมา คนทั่วไปไม่รู้ว่าหน้างานเป็นอย่างไร และอาจจะทำให้รัฐบาลไม่รู้ว่าหน้างานจริงๆ เป็นอย่างไรได้เหมือนกัน

 

ส่วนตัวเห็นว่าประชาชนก็ป้องกันตัวและทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสียงไปถึงรัฐบาลให้ได้ยินว่าตอนนี้ปัญหามันหนักหนาแค่ไหน ตอนนี้มันถึงคราวล่มสลายจริงๆ ของระบบสาธารณสุข อย่าปฏิเสธ ให้ยอมรับและหาทางแก้ไข

 

“คิดว่าคนทั่วไปในฐานะประชาชนคิดว่าดูแลตัวเองเต็มที่แล้ว แต่ตอนนี้อยากให้ทุกคนช่วยกดดันไปถึงรัฐบาลว่ามันถึงคราวล่มสลายแล้วของระบบสาธารณสุข อย่าปฏิเสธ ให้ยอมรับและหาทางแก้ไข”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X