×

จาก Les Misérables ถึง Love, Simon และ Disobedience มนุษย์ผู้ถามหาตัวเอง

27.06.2018
  • LOADING...

หนึ่งในเพลงสำคัญและมีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจจากละครเพลงเรื่อง Les Misérables ซึ่งในเวลาต่อมาถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังชื่อเดียวกันและหลายคนคงยังไม่ลืมก็คือเพลงที่ใช้ชื่อว่า ‘Who Am I?

 

รื้อฟื้นความทรงจำสักนิด เพลงนี้อยู่สักราวๆ หนึ่งในสามของเรื่อง เป็นเหตุการณ์หลังจากที่ ฌอง วัลฌอง หนุ่มใหญ่ผู้ซึ่งมีภูมิหลังที่เจ้าตัวพยายามปกปิดซ่อนเร้นในฐานะคนนอกกฎหมาย พบว่าใครบางคนต้องตกที่นั่งลำบากเพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเขา

ในฐานะของคนที่พบเจอทั้งด้านเลวทรามต่ำช้าสุดๆ ของมนุษย์ และด้านที่สว่างไสวและกอบกู้ศรัทธา หรืออีกนัยหนึ่ง ได้รับทั้งก้อนหินและดอกไม้ เหตุการณ์เบื้องหน้าก่อให้เกิดความว้าวุ่นสับสนกับเจ้าตัวอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว

 

ตามเนื้อผ้า เพลง ‘Who Am I?’ ก็เป็นเสมือนการบรรยายความรู้สึกของตัวละครที่พบว่าตัวเองอยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่างการเลือกปกปิดซ่อนเร้นอัตลักษณ์ของเขา ปล่อยให้คนบริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์กรรม และใช้ชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดบาปที่เกาะกุมตลอดไป หรือยอมเปิดเผยตัวตน เพื่อว่าเขาจะได้ไม่ต้องอยู่กับการโป้ปดมดเท็จไปเรื่อยๆ ข้อสำคัญ ไม่ต้องรู้สึกอัปยศอดสูเวลาส่องกระจกมองหน้าตัวเอง แต่แน่นอน ราคาที่ต้องจ่ายก็คือการหวนกลับไปใช้ชีวิตที่ยากแค้นแสนเข็ญในฐานะนักโทษตามเดิม

 

 

ว่าไปแล้ว เป้าประสงค์จริงๆ ของเพลงนี้ก็คือการสำรวจ หรืออีกนัยหนึ่ง ถามหาตัวเอง ทำนองว่าตัวเขาเป็นคนประเภทไหนกันแน่ อุดมการณ์และจุดยืนที่แท้จริงของเขาคืออะไร และไหนๆ ก็ไหนๆ ผู้ชมก็ไม่ต้องเฝ้าคอยคำตอบเนิ่นนาน เพราะช่วงท้ายของเพลงนี้ หนุ่มใหญ่ก็ตระหนักได้ว่าเขาไม่สามารถทนดูดายอยู่กับความไม่ถูกต้องและอยุติธรรม

 

อย่างที่นักดูหนังทั้งหลายรับรู้รับทราบ หนังที่พูดถึงการค้นหาตัวเอง หรือหนังที่ตั้งคำถามทำนองว่า ‘ตัวฉันคือใคร’ และความต้องการที่แท้จริงของเขาหรือเธอคืออะไร ถูกสร้างออกมานับจำนวนไม่ถ้วนและอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หากจะต้องจัดลิสต์ก็คงยาวเหยียดและไม่มีที่สิ้นสุด ลองนึกเร็วๆ เราก็คงจะได้รายชื่อหนังแนว Coming of Age ร่วมสมัยอย่าง The Perks of Being a Wallflower, Boyhood, Call Me By Your Name ถอยกลับไปไกลกว่านั้นอีกนิด ก็มีหนังแอ็กชันที่ว่าด้วยสายลับลืมตัวเรื่อง The Bourne Identity หรือกระทั่งหนังผจญภัยคลาสสิกเรื่อง Stand By Me และ The Wizard of Oz ก็ล้วนพูดถึงแง่มุมเหล่านี้ หรือจริงๆ แล้วหนังเรื่อง มหา’ลัยเหมืองแร่ ก็เช่นเดียวกัน

 

ล่าสุด หนังอีก 2 เรื่องที่เพิ่งเข้าฉายคาบเกี่ยวกันในบ้านเรา อันได้แก่ Love, Simon (2018) ของ Greg Berlanti กับ Disobedience (2017) ของ Sebastián Lelio ก็ยิ่งทำให้ลิสต์ดังกล่าวมีรายชื่อสมาชิกที่น่าครุ่นคิดพิจารณา

 

ว่าไปแล้วความเหมือนกันของหนังทั้ง 2 เรื่องที่มากยิ่งไปกว่าการเป็นหนังที่พูดถึงการค้นหาตัวเองของตัวละคร ก็ได้แก่การที่มันเป็นหนังที่พูดถึงการยอมรับและเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงของตัวเองให้คนรอบข้างรับรู้ หรืออีกนัยหนึ่ง การไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และอยู่กับการโกหกหลอกลวงไปวันๆ

 

 

ในกรณีของ Love, Simon หนังที่สร้างความฮือฮาพอสมควร และเชื่อว่าหลายคนคงได้ดูไปแล้ว ความยุ่งยากของไซมอน (นิค โรบินสัน) ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มมัธยมปลายไม่ใช่เรื่องของความสับสนในเพศสภาพของตัวเอง เพราะดูเหมือนนั่นเป็นสิ่งที่เขาค้นพบและรู้ตัวมานานแล้ว หากทว่าได้แก่การเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่นและเข้าอกเข้าใจ และท่ามกลางกลุ่มเพื่อนสนิทชายหญิงซึ่งรักใคร่กลมเกลียว พูดง่ายๆ ว่าทุกอย่างรอบข้างเขาดูสงบเรียบร้อยและเป็นปกติธรรมดา จนชายหนุ่มไม่กล้าแตกหักหรือก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมกับสภาวะของความ ‘สงบเรียบร้อยและเป็นปกติธรรมดา’ บางทีเราอาจจะเรียกสิ่งนั้นว่า ความคาดหวังจากคนรอบข้างที่มองว่าเขาก็ควรจะเหมือนๆ กับคนทั่วไป และโดยอ้อม การทำตัวแปลกแยกและแตกต่างโดยเฉพาะในแง่ของเพศสภาพภายใต้กรอบสังคมที่ไม่ค่อยเปิดกว้างเท่าไรนักของโรงเรียนมัธยม และของ ‘ครอบครัวตัวอย่าง’ ที่แทบจะถอดแบบจากภาพในโปสการ์ด ก็กลับกลายเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนสำหรับเด็กหนุ่มผู้ซึ่งยังกล้าๆ กลัวๆ กับการก้าวเดินออกมาจาก ‘ตู้เสื้อผ้า’

 

แต่ก็นั่นแหละ ความเป็นหนังวัยรุ่นเบาสมองของ Love, Simon ก็ทำให้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเคร่งขรึมจริงจังจนเกินไป และปัญหาที่ตัวละครเผชิญก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเกินกำลังหรือแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตัวละครหลักในหนังเรื่อง Disobedience ต้องรับมือ ซึ่งนอกจากไม่มีอะไรเบาสมอง รูปการณ์ก็ยังดูถมึงทึง และสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความแห้งแล้งเย็นชา

 

ฉากหลังตามท้องเรื่องของ Disobedience ได้แก่ กรุงลอนดอน จุดเริ่มต้นปะทุมาจากการเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนของพระแรบไบสูงวัย และช่างภาพหญิงที่ชื่อ โรนิท (เรเชล ไวสซ์) ซึ่งเป็นลูกสาวและใช้ชีวิตอยู่ ณ เมืองนิวยอร์ก ได้รับแจ้งข่าวร้ายนี้ อันส่งผลให้เธอเดินทางกลับไปร่วมงานรำลึกและไว้อาลัย ข้อมูลเพิ่มเติมที่หนังบอกกล่าวทีละน้อยสรุปได้ว่า โรนิทอยู่ในสภาพเหมือนกับเนรเทศตัวเองออกจากชุมชนชาวยิวอันแนบแน่นที่เธอเกิดและเติบโต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้เป็นพ่อของเธอที่ห่างหายไปแสนนาน (ในข้อความแจ้งการเสียชีวิตของแรบไบถึงกับระบุว่า เขาลาโลกนี้ไปโดยไม่มีทายาท) และกล่าวได้ว่าต้นสายปลายเหตุเกี่ยวเนื่องกับอดีตแต่หนหลังที่เธอถูกจับได้ว่าลักลอบมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่ชื่อ เอสติ (ราเชล แม็กอาดัมส์)

 

 

จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์แบบชายรักชายหรือหญิงรักหญิงในสังคมสมัยใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอีกต่อไป หรือเป็นอะไรที่คนทำหนังต้องมานำเสนออย่างตีโพยตีพาย ทว่าตัวแปรที่ทำให้ทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เกี่ยวเนื่องกับความเป็นชุมชนชาวยิวที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด (บางคนยังคงเชื่อว่าโฮโมเซ็กชวลเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องเยียวยารักษา) และสิ่งที่โรนิทสัมผัสและรับรู้ได้จากสายตาที่ใครต่อใครจ้องมองเธออย่างไม่ต้อนรับ แม้ว่า ‘เหตุการณ์ครั้งกระนั้น’ จะผ่านพ้นไปนานแล้วก็สื่อสารโดยอัตโนมัติว่า นี่เป็นชุมชนที่ถูกกาลเวลาหลงลืม​

เรื่องคาดไม่ถึงสำหรับโรนิทจริงๆ ก็คือการได้พบเจอกับเอสติอีกครั้ง ข้อมูลล่าสุดก็คือ เอสติแต่งงานกับโดวิด (อเลสซานโดร นิโวลา) เพื่อนสนิทในช่วงวัยเด็กของเธอ และโดวิดก็เป็นเสมือนลูกบุญธรรมของแรบไบผู้ล่วงลับ เหนืออื่นใด เขาเป็นนักบวชที่ได้รับการคาดหมายว่าจะสืบทอดสถานะเสาหลักทางความเชื่อของคนในชุมชน

มองจากภายนอก ดูเหมือนทุกคนล้วนก้าวเดินไปข้างหน้า และงานศพเป็นเหมือนช่วงเว้นวรรคที่ไม่น่าจะส่งผลอะไร ทว่าด้วยแท็กติกและกลวิธีการบอกเล่าที่แยบยลและแนบเนียน เรารู้สึกและสังหรณ์ได้ถึงความไม่ชอบมาพากล ที่แน่ๆ เรื่องราวแต่หนหลังยังคงไม่จางหาย และคนที่จมจ่อมอยู่ในความทุกข์ทรมานมากกว่าใครเพื่อนก็คือเอสตินั่นเอง

 

 

พูดง่ายๆ ในฐานะเมียของแรบไบ หญิงสาวต้องดำเนินชีวิตภายใต้กรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ พิธีกรรม นั่นรวมถึงการจ้องมองเพดานในระหว่างมีเซ็กซ์ทุกคืนวันศุกร์เพื่อการสืบพันธุ์ ชีวิตความเป็นอยู่ของเอสติอาจอธิบายได้ด้วยสีหน้าสีตาของตัวละครซึ่งแทบจะปราศจากรอยยิ้ม และผู้ชมอนุมานได้ไม่ยากว่าเธอไม่มีความสุขอย่างรุนแรง เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเธอคงจะมีชีวิตเช่นนั้นไปเรื่อยๆ หากโรนิทไม่หวนกลับมา จนนำพาให้ไม่เพียงแค่เกิดสถานการณ์ถ่านไฟเก่าคุโชน (และว่ากันว่านี่คือฉากเซ็กซ์อันลือลั่นแห่งปี) แต่ยังนำไปสู่การตื่นรู้ทางเพศ หรือที่เรียกว่า Sexual Awakenings ของตัวละคร

 

และแล้วคำถามที่ว่า ‘ฉันคือใคร’ ก็ก้องกังวานในห้วงคำนึงของตัวละคร และเอสติก็ตกที่นั่งอันแสนยากลำบากแบบเดียวกับฌอง วัลฌอง (หรือจะชวนไซมอนมาร่วมว้าวุ่นสับสนด้วยก็ได้) นั่นคือการต้องเลือกระหว่างหนทางที่ล้วนแล้วไม่น่ารื่นรมย์ อันได้แก่ใช้ชีวิตแบบเดิมไปเรื่อยๆ และมีความทุกข์ระทมทางจิตใจ หรือก้าวออกมาจากมุมมืดและเผชิญหน้ากับการพิพากษาทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ตัวละครพบเจอในระหว่างนี้ก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยย่อยอื่นๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อาทิ ความเป็นตัวเราถูกสังคมรอบข้างปรุงแต่งและตั้งค่ามากน้อยแค่ไหน และสมมติว่า ‘การตั้งค่า’ เหล่านั้นไม่ได้สอดรับกับเสียงเพรียกจากข้างใน เราควรจะยอมจำนนหรือแตกหักมันไปเลย

 

จริงๆ แล้วหนังเรื่อง Disobedience ยังมีแง่มุมที่ชวนให้อภิปรายได้มากกว่านั้น แต่สมมติว่าจะมองหาบทสรุปรวบยอดเฉพาะจากประเด็นที่จั่วไว้ข้างต้น หนัง (และละครเพลง) ทั้ง 3 เรื่องที่ชวนคนดูตั้งคำถามว่า ‘ฉันคือใคร’ ก็มีจุดร่วมทางความคิดบางอย่างที่ละม้ายคล้ายคลึง อย่างน้อยที่สุด ทั้งหมดนั้นพยายามสื่อสารกับผู้ชมว่า ถึงที่สุดแล้ว คนเราไม่เหมือนกันและไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ความแตกต่างและหลากหลายเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมหรือภัยคุกคาม เหนืออื่นใด พวกเราเป็นมนุษย์มนาที่มีตัวตนและคุณค่า ไม่ใช่เพียงแค่อิฐก้อนหนึ่งในกำแพงแห่งอคติและความคับแคบ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านับวันผ่านพ้นไป สิ่งปลูกสร้างทางจินตนาการนี้จะถูกก่อร่างจนใหญ่โตและสูงตระหง่านมากขึ้น ข้อสำคัญ ดำรงอยู่ในแทบทุกองคาพยพของสังคมและอย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X