×

ต่อต้านการลืมหาย ‘จาก เฮอร์มาน เฮนดราวัน ถึง สมชาย นีละไพจิตร’

12.03.2024
  • LOADING...

ในช่วงการเลือกตั้งอินโดนีเซียที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในเมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย โดยการร่วมมือของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับคณะสังคมและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา โดยกิจกรรมได้มีการบรรยายทางด้านวิชาการ แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการรุ่นใหม่ เยี่ยมพรรคการเมือง กลุ่มภาคประชาสังคม และลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ฯลฯ

 

ทั้งหมดคือเรื่องใหม่ ได้ประโยชน์และความรู้เกี่ยวกับการเมืองของประเทศอินโดนีเซียมาพอสมควร และชวนให้คิดและเปรียบเทียบกับไทย แต่ในบทความนี้ผู้เขียนอยากเสนอเรื่องความทรงจำและการต่อต้านการถูกทำให้ลืม

 

ภาพโปสเตอร์ใต้ตึกคณะสังคมและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา

 

ระหว่างเดินขึ้นลงตึกคณะสังคมและรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแอร์ลังกา ผู้เขียนได้สังเกตเห็นภาพโปสเตอร์ แน่นอนคงไม่ใช่โปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครการเลือกตั้งหากดูจากสภาพโปสเตอร์ แต่มันคือภาพรุ่นพี่ของนักศึกษาคณะนี้ที่ชื่อว่า เฮอร์มาน เฮนดราวัน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอร์ลังกาในสุราบายา อินโดนีเซีย ได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2541 ข่าวรายงานล่าสุดได้รับแจ้งจากหัวหน้าตำรวจชวาตะวันออกเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2541 ว่าเขาได้กลับบ้านแล้ว แต่จนถึงขณะนี้เขายังคงสูญหายอยู่ และเขาได้หายตัวไปพร้อมกับนักศึกษาอีกสองคน

 

ผมได้สอบถามนักศึกษาว่าโปสเตอร์นี้จะสื่อถึงอะไร นักศึกษาสองคนได้พูดอย่างชัดเจนว่ารุ่นพี่ของเขาได้ถูกทำให้หายตัวไปในช่วงที่นายพลปราโบโว ซูเบียนโต อดีตผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งและปฏิบัติการอุ้มตัวและทรมานนักเคลื่อนไหว ปัญญาชน ประชาชนจำนวนมาก พวกเขาจึงไม่อยากให้ลืมเรื่องนี้

 

นายพลปราโบโว ซูเบียนโต คือผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียครั้งนี้ โดยเป็นที่ทราบกันว่าการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จากนายพลผู้เคร่งขรึม มาเป็นลุงผู้น่ารักในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ TikTok มีผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ในอดีตของนายพลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนสูญหายจำนวนมาก

 

อาจารย์รุ่นใหม่เชื้อสายจีนที่มีพ่อและแม่เป็นอดีตนักศึกษาคณะสังคมและรัฐศาสตร์สถาบันเดียวกัน ให้ความเห็นตอกย้ำว่า ในลานกลางตึกของคณะคือพื้นที่แรกๆ ของมหาวิทยาลัยที่พ่อและแม่ของเธอได้เข้ามาทำกิจกรรมชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีจอมเผด็จการซูฮาร์โตเมื่อปี 2541 ซึ่งซูฮาร์โตคือพ่อตาของนายพลปราโบโว เธอจึงเห็นว่าความทรงจำของพื้นที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้ว่าปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว โดยอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมายืนเคียงข้างนักศึกษาหรือทำกิจกรรมทางด้านการเมืองเพื่อปกป้องประชาธิปไตย เพราะจะถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพ่งเล็ง และอาจจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานในอนาคตก็ตาม และแม้ว่ากิจกรรมเล็กๆ ของนักศึกษาที่ระลึกถึงรุ่นพี่ที่ถูกทำให้หายตัวไปจากรัฐบาลในอดีตจะถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองและไม่เป็นกลาง แต่เธอก็ยังยืนยันว่ามันคือเสรีภาพและความจริงที่เกิดขึ้นอดีตที่นักศึกษาสามารถพูดและแสดงออก

 

การเลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งนี้มีการใช้ AI และสื่อโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบเพื่อสื่อสารทางด้านเมืองต่อประชาชนที่มีจำนวนมาก หลากหลายภาษา ฯลฯ​ แต่ที่น่าสนใจก็คือ การใช้ Deepfake ต่อการบิดเบือนประวัติศาสตร์ทั้งส่วนตัวบุคคลและประวัติศาสตร์การเมืองอย่างมากที่สุด การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ สร้างวาทกรรมใหม่ ลืมประวัติศาสตร์บาดแผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง ฯลฯ เป็นการถูกทำให้ลืมอดีต และให้คนผิดลอยนวล

 

ป้ายผ้าบนตึกคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

กลับมาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้จัดงานระลึกถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร โดยใช้ชื่องานว่า ‘you lost we born’ 20 ปี การถูกอุ้มหายของทนายสมชาย พวกเขาได้ให้เหตุผลว่า เมื่อปี 2547 เป็นปีที่ทนายสมชายหายตัวไป และเป็นปีเดียวกับที่พวกเขาเกิด แม้ว่าพวกเขาไม่ได้เคยรู้จักและเห็นหน้าค่าตาตัวจริง แต่ก็ได้ยินเรื่องราวของทนายสมชาย และพวกเขาก็ได้เชื่อมโยงกับบุคคลอื่นๆ ที่ได้ถูกทำให้หายตัวไป ไม่ว่าจะเป็น บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ พวกเขาต้องการบอกว่าเรื่องการอุ้มหาย ลักพาตัว ไม่ควรเกิดขึ้นในรุ่นของพวกเขาอีกต่อไป นักศึกษาจึงใช้กรณีตัวอย่างจากอดีตเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต

 

พื้นที่หลักของการจัดกิจกรรมคือพวกเขาต้องการจัดงานในห้องประชุมที่ทนายสมชายเคยมาบรรยาย เพราะต้องการระลึกถึงว่าทนายสมชายเคยมาบรรยายในมหาวิทยาลัย แล้วกลับไปกรุงเทพฯ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ได้ถูกอุ้มหายไปจนถึงปัจจุบัน แต่ทว่าห้องประชุมข้างต้นก็ไม่ว่าง พวกเขาก็ได้เลือกพื้นที่คณะรัฐศาสตร์แทน การใช้พื้นที่กับความทรงจำเป็นการระลึกถึงในรูปแบบหนึ่งเพื่อไม่ให้ลืม และตอกย้ำสิ่งที่ผ่านมาให้สังคมรับทราบ

 

โดยกิจกรรมหลักของพวกเขาคือการได้รู้ถึงหลักสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้า เคารพสิทธิผู้คนและพร้อมกันปกป้องหากมีใครในสังคมโดนละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าใครคนนั้นจะมีความเชื่อ เพศ ความคิดทางการเมือง แตกต่างจากพวกเขาก็ตาม เพราะทุกชีวิตต้องได้รับการปกป้อง

 

กิจกรรมเหล่านี้คือการต่อต้านการถูกลืม เป็นการรักษาพื้นที่ความทรงจำของคนในสังคม อีกทางหนึ่งคือการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคม ที่ปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นลอยนวล ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สูญหายยังคงอยู่เหนือกฎหมายและได้อภิสิทธิ์ชน โดยตอกย้ำความเจ็บปวดในอดีตไว้กับเหยื่อและครอบครัวของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลือดเย็น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising