×

สรุปเสวนาประสบการณ์ต่อสู้ของผู้หญิง ‘จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา’

23.03.2022
  • LOADING...
พรรคเพื่อไทย เสวนา

วานนี้ (22 มีนาคม) พรรคเพื่อไทยจัดเสวนาหัวข้อ ‘จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาทผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการชื่อ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ จากความพยายามศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบาย ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า (Free Pads for All)’ โดยมีเสวนาประเด็นสตรีนิยมทุกวันอังคาร 3 สัปดาห์ และเปิดให้ชมงานศิลปะฟรีทุกวันระหว่างวันที่ 8-31 มีนาคม เวลา 10.00-18.00 น. บริเวณร้านกาแฟ ThinkLab พรรคเพื่อไทย จัดแสดงงานศิลปะว่าด้วย ‘กีและผู้มีประจำเดือน’ ของศิลปิน Juli Baker and Summer, Prim Issaree และ Pyra

 

สำหรับหัวข้อเสวนาทุกวันอังคารในสามสัปดาห์ประกอบด้วย

8 มีนาคม: สวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน

15 มีนาคม: เป็นพ่อแม่ด้วย ทำงานด้วย มันเหนื่อยมากเลยนะ

22 มีนาคม: จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาทผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้

 

การเสวนา ‘จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาทผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้’ มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

  • ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
  • มีมี่ Feminist FooFoo เยาวชนนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน
  • อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย วัยรุ่นเดือนตุลาฯ

ดำเนินรายการโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย

 

– ประสบการณ์ถูกคุมตัว ปิดตา เมื่อรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ใช้มาตรา 44

 

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เล่าถึงเหตุการณ์ถูกควบคุมตัวเมื่อปี 2559 กรณีส่งจดหมายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 โดยทัศนีย์กล่าวว่า ขณะนั้นเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ต้องการจะสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อความสั้นๆ ให้ประชาชนตัดสินใจโดยไม่ได้บอกให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เขียนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นร่างที่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย แล้วแต่ประชาชนตัดสินใจ ขอให้คิดให้ดี ขณะที่เวลาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเนื้อหาไปที่บ้านอ่านแล้วก็เหมือนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

 

เราส่งจดหมายซึ่งเป็นวิธีเช่นเดียวกับทางราชการ เหตุที่ไม่ลงชื่อว่าเป็นอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย เพราะเกรงประชาชนจะคิดว่าเราโน้มน้าวให้ไม่รับร่าง จึงทำเป็นจดหมายขึ้นมา พิมพ์ในโรงพิมพ์ ส่งจดหมายอย่างเปิดเผยไม่ได้ถอดทะเบียนรถ ไม่คิดว่าจะเป็นความผิด 

 

ขณะนั้นหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 เป็นเครื่องมือ ตอนถูกจับถูกหาว่าบิดเบือน น้องสาวซึ่งเป็นทันตแพทย์ก็ถูกคุมตัวด้วยในช่วงนั้น ตอนไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีทหารคือ ‘บุรินทร์ ทองประไพ’ มาคุมตัวไปมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) อย่างที่มีภาพข่าว ถูกสอบด้วยคำถามซ้ำๆ จนบางทีเราก็โมโห

 

ระหว่างถูกคุมตัวมีช่วงที่ถูกปิดตา แล้วทหารหญิงจะขอใช้ผ้ามัดมือระหว่างพาขึ้นรถเพื่อจะพาไปจุดที่ต้องนอนพัก เราบอกว่าไม่ได้ ถ้ามัดมือต้องกรี๊ดแน่นอน เขาบอกว่าถ้ามัดไม่ได้จะขอจับมือไว้ จะให้นั่งเฉยๆ ไม่ได้ 

 

ไปเปิดตาเมื่อไปถึงห้องซึ่งเป็นบ้านเก่าหลังหนึ่ง เวลาเราไปเข้าห้องน้ำเขาก็ต้องพาเราไป ไปอาบน้ำเขาก็เฝ้าหน้าห้องน้ำ ระหว่างนอนก็มีคนอยู่ในห้องและอยู่หน้าห้อง แล้วเขาเอาคนมาค้นคอนโดฯ ที่กรุงเทพฯ ทำให้แตกตื่นเหมือนเราเป็นอาชญากร ตอนเข้าไปเราเปิดคอนโดฯ ให้ บอกให้เขาถอดรองเท้า เขาก็ไม่ถอด ไปค้นหนังสือที่เราอ่านแล้วถามว่าอ่านหนังสือแบบนี้เหรอ เอกสารที่เราจดเขาก็เอาไป แล้วเอาไปแจ้งความทั้งที่ไม่เกี่ยวกับคดี แล้วกลับไป มทบ.11 รวมอยู่ในนั้น 7 วัน เขาไปแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งเราปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

เขาคุมตัวกลับไปเชียงใหม่ด้วยเครื่องบินตำรวจเก่าๆ แล้วสอบอีก 2 วัน เอาไปขึ้นศาลทหาร ไม่ให้ประกันตัว เอาไปฝากขัง ถูกตรวจร่างกาย ใส่ชุดนักโทษ ถูกถ่ายรูป ปั๊มนิ้วมือ เช่นเดียวกับ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ก็โดน เรามีประวัติต้องคดี จะเป็นตราบาปที่เขายื่นให้โดยที่เราไม่ได้ทำ

 

เวลาพ่อแม่ไปเยี่ยมเรารู้สึกสงสาร แต่เราก็บอกพ่อแม่ว่าไม่เป็นไร ซึ่งเรื่องนี้ใครที่โดนแบบนี้จะมีผลต่อสภาพจิตใจ ไม่ใช่จิตใจเรา แต่เป็นพ่อแม่และคนที่มาเยี่ยม เพื่อนที่มาก็ร้องไห้ เราก็อยากร้องแต่ร้องไม่ได้

 

ห้องเยี่ยมมีลูกกรงและกระจก เวลาเยี่ยมกันจับมือกันไม่ได้ ทำได้แค่เอามือแตะที่กระจก แล้วพ่อแม่มาเยี่ยมทุกวัน เราเห็นเวลาแม่เดินออกไปเหมือนจะทรุด ทุกวันก็จะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่แค่เสรีภาพที่เสียไป แต่มันคือจิตใจ

 

ทัศนีย์กล่าวถึงพรรคการเมืองและบทบาทกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนว่า พรรคเพื่อไทยฟังความคิดเห็นทุกด้าน ทุกอาชีพ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กถึงคนแก่ ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนแล้วนำไปเสนอเป็นนโยบาย ทุกอย่างที่รับฟังความคิดเห็น ผู้ใหญ่ในพรรคก็จะรับทราบหมด พรรคการเมืองที่ดีคือพรรคที่รับฟังทุกภาคส่วน ทุกสีเสื้อ แล้วมาประกอบเป็นนโยบายพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความเห็น รวมถึงกิจกรรมในวันนี้

 

– เคยพลาดกับวิธีวิ่งชน แต่ไม่ห้ามถ้าใครจะทำ ไม่ต้องจบตอนนี้ แต่เชื่อการต่อสู้จะจบในที่สุด

 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย วัยรุ่นเดือนตุลาฯ กล่าวว่า ทุกรุ่นต้องมีการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่เราเชื่อ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในการต่อสู้ต้องเจอการข่มขู่ ทำร้าย จับกุม คุมขัง ส่วนเรื่องสิทธิสตรีเป็นสิทธิมนุษยชน แต่ส่วนตัวจริงๆ โตมาในครอบครัวที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ แม่กับยายเป็นคนตัดสินใจ มีอำนาจในบ้าน จึงไม่รู้สึกว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชายหรือไม่มีสิทธิตรงไหน แต่ก็ไม่ชอบเวลามีการกดขี่

 

ยุคเดือนตุลาฯ เข้าเรียนปี 1 ปี 2516 ได้เข้าร่วมการต่อสู้ตั้งแต่เรียน ซึ่งก่อนยุคเดือนตุลาฯ ก็มีการต่อสู้สืบเนื่องมาทุกยุค 2475 ก็สู้มา ยุคเดือนตุลาฯ มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญคล้ายสมัยนี้ มีการเข้าชื่อแล้วถูกจับเข้าคุกกันเป็นอาชีพ มีการจับกุมนักศึกษา ไล่นักศึกษารามคำแหงออกเพราะไปต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ มีการประท้วงต่อเนื่อง เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นักศึกษาและประชาชนเป็นส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งภายในของผู้มีอำนาจด้วย

 

ก่อนปี 2516 กระแสเฟมินิสต์เกิดในยุโรป มีกระแสลิเบอรัลเข้ามาแล้ว แต่ไม่ได้ชี้หน้าว่าผู้ชายอย่างเข้มข้น จนกระทั่งปี 2517 หลังปี 2516 มาแล้ว มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ มาจัดตั้งหลังปี 2516 เฟมินิสต์ที่เคยเป็นลิเบอรัลเปลี่ยนสภาพ เราเรียกว่ากลุ่มหงฉี ชูธงแดง หนักขนาดว่าชมผู้หญิงว่าสวยก็ไม่ได้ มองว่าเป็นการกดขี่ ก็น่าเห็นใจเพื่อนผู้ชาย

 

ก่อน 6 ตุลา 2519 ก็ถูกติดตามแม้กระทั่งตอนนั่งรถกลับบ้านตอนดึก กลัวแค่ไหนก็ไม่เอาชนะสิ่งที่เราคิดว่ากำลังทำเพื่อความถูกต้อง

 

ตอนทำกิจกรรมแล้วนอนที่มหาวิทยาลัย นักศึกษาก็จะถูกโจมตีว่ามั่วเซ็กซ์ นอนสามัคคี เป็นภาษามาจากประเทศลาว เป็นภาษาฝ่ายซ้ายสมัยนั้นจะมีคำว่า สามัคคี เช่น กินสามัคคี

 

นิธินันท์กล่าวด้วยว่า สมัยนั้นไม่ใช่เยาวรุ่นในยุคเดือนตุลาฯ ทั้งประเทศจะคิดเหมือนเรา พวกเราโดดเดี่ยวและหลงผิดเป็น Echo Chamber หลงผิดว่าคนทั้งประเทศเห็นด้วยกับเราและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่งั้นการปราบวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่มีชาวบ้านหลงเชื่อว่านักศึกษาขายชาติมันจะไม่เกิดขึ้น ตอนแรกเราคิดว่าใครๆ ก็เกลียดรัฐบาลเผด็จการ เกลียดศักดินา ขุนศึก เกลียดจักรพรรดินิยม ต้องการสังคมใหม่ที่เป็นเอกราช แต่ปรากฏว่าเปล่า

 

มีคนที่ไม่เข้าใจอีกเยอะ อยากฝากว่าการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อไปตามความเชื่อ และทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อต่างกัน แต่จะไม่คบคนที่สนับสนุนคนเข่นฆ่าคนคิดต่าง

 

เชื่อมั่นว่าสังคมดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้แปลว่ามีแต่คนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้ และไม่เห็นด้วยกับการที่บอกว่ามีแต่คนรุ่นใหม่ เพราะรุ่นไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ความคิดและสมอง

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้คิดว่าต้องส่งต่อภารกิจ เพราะทุกคนทุกรุ่นต่างลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น และสิ่งนั้นสืบทอดต่อไป ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ที่วิ่งชน เพราะเคยพลาดมาแล้ว ก็ไม่ได้ไปบอกเด็กว่าอย่าวิ่งชน อย่าทำ เพราะตัวเองเคยพลาด ไม่ได้บอกแบบนั้น เพราะขึ้นอยู่กับพวกเขา ถ้าอยากวิ่งชน พร้อมตายโดยอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์อะไรตามที่ต้องการ ก็เคารพและให้เกียรติ แต่ส่วนตัวอาจจะไม่เชื่อการต่อสู้แบบนั้นอีกแล้ว

 

เชื่อว่าในที่สุดมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมต้องพูดคุยกัน เจรจากัน ต้องต่อสู้เพื่อให้มีหลักกฎหมายที่ยุติธรรมต่อคนส่วนใหญ่ นี่คือเป้าหมายการต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ บางอย่างอาจจะช้าไม่ทันใจ ดังนั้นไม่รู้สึกว่าต้องใช้คำว่าต้องจบตอนนี้ มันไม่จบเมื่อ 2475 ไม่จบในรุ่นเดือนตุลาฯ แต่การต่อสู้ใกล้เป้าหมายมากขึ้น พัฒนาขึ้น และจะจบในที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

 

– โกนหัวประท้วงเพื่อบอกว่าเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย

 

มีมี่ Feminist FooFoo เยาวชนนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า บ้านอยู่ภาคอีสาน สนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่ปลูกฝังเรื่องการเมือง เรียนอนุบาลในยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เมื่อครูถามในห้องเรียนว่าใครเสื้อสีอะไร ทุกคนตอบว่าเสื้อแดง แต่พอมากรุงเทพฯ ตอน ม.4 รู้สึกว่าทำไมเพื่อนแปลกๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นก็ได้ไปหน้าสถานทูตกัมพูชาเรื่อง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยก่อนหน้านั้นไม่ค่อยรู้เรื่องอุ้มหาย พอได้รับสื่อมากขึ้นก็นั่งรถไป เป็นครั้งแรกที่ได้ไปม็อบ หลังจากนั้นก็เคลื่อนไหวเรื่องเฟมินิสต์และเรื่องเพศมาตลอด

 

ส่วนเรื่องเฟมินิสต์อยู่ในตัวเราตั้งนานแล้ว รู้สึกว่าในสังคมที่มีคนบอกว่าทุกเพศเท่าเทียมกันแล้วแต่ยังไม่มีผ้าอนามัยฟรี ทำไมมันล้าหลังแบบนี้ เคยเอาผ้าอนามัยไปแจกในม็อบเพื่อเรียกร้องสวัสดิการเพราะมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน

 

กรณีเคยโกนหัวประท้วง จริงๆ นิยามตัวเองเป็น Non-Binary แต่เกิดมาเป็นเพศกำเนิดหญิง การโกนหัวเพื่อบอกว่านี่คือสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา ขณะที่สังคมบอกว่าผู้หญิงต้องสวย ต้องน่ารัก

 

– พก ‘ฟ้าเดียวกัน’ เข้ากองถ่ายนเรศวร เราก็แค่เป็นเรา

 

อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วงการบันเทิงมีความอุปถัมภ์เฉพาะกิจภายใน แต่ไม่ชัดเจนเพราะไม่มีการเลื่อนขั้น แต่ความคาดหวังต่อกันคือความเฟรนด์ลี โอบรับคนทุกกลุ่ม เมื่อก่อนการพูดเรื่องการเมืองของดาราไม่มีใครเช็ก แต่ช่วงหลังมาแนวคิดทัศนคติทางการเมืองจะถูกเช็ก เพราะเป็นตัวตน รสนิยม มีโซเชียลมีเดีย ไม่พูดเรื่องตัวเองไม่ได้ แล้วความเชื่อเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ใหญ่ที่สุดที่คนต้องการรู้ว่า คนที่เรากำลังจะกด Like หรือ Follow เขาคิดเหมือนเราหรือเปล่า เมื่อก่อนไม่จำเป็นต้องรู้ เมื่อมีพื้นที่สื่อสารก็ต้องแสดงทัศนคติออกมาไม่ว่าจะบ้งหรือไม่ก็ต้องเลือกสักทาง เมื่อก่อนต้องโอบรับทุกคนเสียจนไม่ต้องพูดถึงการเมือง

 

ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นหรือไม่เป็นนักกิจกรรม เพราะทุกคนเป็นได้ในแบบที่ตัวเองเลือก บางคนอาจจะถนัดติดแฮชแท็ก ทุกคนเป็นนักกิจกรรมในตัวเองได้ ไม่ต้องถึงขนาดมีคดีติดตัวเหมือนพวกเราจึงจะเป็นนักกิจกรรม 

 

อินทิรากล่าวด้วยว่า ไม่รู้สึกว่าการเป็นดาราต้องเลี่ยงที่จะพูด เพราะต่อให้เลี่ยงเรื่องก็จะมาเอง 

 

ช่วงปี 2553-2557 ถูกตั้งคำถามเรื่องความเชื่อการเมือง ตัวตนของเราถูกตั้งคำถาม เช่น ทำไมไม่ออกไปอาร์ตเลน คนอื่นมามีปัญหากับเราว่าเป็นนี่นั่นโน่น เราแค่เป็นเรา ไม่เคยรู้สึกว่ามีอิทธิพลอะไร แต่จะมีคนบอกว่าสิ่งที่เราพูดก็โอเค แต่กว่าจะโอเคก็เจ็บมาเยอะมากๆ ต้องเผชิญกับอะไรที่นักแสดงอื่นๆ อาจจะไม่ต้องมาเจอ ไม่ว่าจะโดนตัดสินจากคนในวงการหรือคนที่มองเข้ามา หรือความคาดหวังจากนักกิจกรรมทำไมไม่พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้

 

ส่วนการเป็นนักแสดง หากเล่นบทตัวละครที่มีทัศนคติไม่ตรงกับทัศนคติตัวเราเองจริงๆ ไม่ว่าจะรับบทใดก็ไม่ได้รู้สึกว่าคนที่ติดตามจะผิดหวัง เคยเล่นภาพยนตร์เรื่อง นเรศวร ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ขี่ม้าไปไหน ไม่ได้เชื่อวาทกรรมไทยรบพม่า แต่การแสดงเป็นการทำงาน

 

ช่วงการเมืองแรงๆ ภาพยนตร์ นเรศวร มีงานกาล่า ไม่มีใครมาใกล้ตัวเรา แต่เรามองว่าถ้าเราเล่นห่วยมาก แข็งมาก เล่นทื่อมาก ก็มาด่าได้ว่าเล่นห่วย ไม่ใช่บอกว่ามาทำให้หนังแปดเปื้อน เราทำหน้าที่ดาราที่ดี ไม่ใช่คิดว่าต้องทำลายความเชื่อชาตินิยมด้วยการเล่นแย่ๆ ให้เขาดู มันไม่ใช่ แต่ถ้านอกกองถ่าย เราก็เป็นเรา เราก็พกฟ้าเดียวกันไปอ่านในกองถ่าย เราแค่เป็นเรา แต่ไม่ได้บอกให้ทุกคนต้องคิดแบบเรา 

 

ช่วงหลังๆ เหมือนได้ออกหน้าเยอะขึ้น เราทำตัวปกติแต่เหมือนโดนดันหลัง หันไปอีกทีมีเราคนเดียว โดนดันหลัง เราไม่ได้รู้สึกแย่ แต่เราทำในสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งเราทำมาตลอดแค่นั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising