‘เฟรนด์โซน’ ความสัมพันธ์ที่ถูกพูดถึงบ่อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นความสัมพันธ์ที่บุคคลหนึ่งมีความรู้สึกเชิง ‘โรแมนติก’ กับเพื่อนหรือเพื่อนสนิทของตัวเอง แต่ด้วยความกลัว ไม่กล้าสารภาพ หรืออาจจะเคยสารภาพไปแล้วแต่ไม่สมหวัง เลยทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในเฟรนด์โซนไปอย่างน่าเศร้า
แต่ในขณะเดียวกัน คู่รักหลายคู่ก็เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนกันมาก่อนนี่แหละ
แม้การรับรู้ของคนส่วนใหญ่คือความรักมักจะเกิดจากแรงปรารถนาหรือการสปาร์กกันของคนสองคน แต่ผลวิจัยชิ้นใหม่กลับพบว่า 2 ใน 3 ของความสัมพันธ์ที่หวานชื่น โรแมนติก มีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘มิตรภาพระยะยาว’ ด้วยเช่นกัน ซึ่งความสัมพันธ์ประเภทนี้เรียกว่า Friends to Lovers หรือ ‘จากเพื่อนสู่คนรัก’ นั่นเอง
ดานู สตินสัน รองศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศแคนาดา ได้ศึกษาจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของผู้คนมานานกว่า 20 ปี และพบว่าหลายปีที่ผ่านมานี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากกำลังอยู่ในความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับเพื่อนที่รู้จักกันมานานของพวกเขาเอง
“มีผลการศึกษาน้อยมากที่มองถึงความสัมพันธ์ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อน (Friends First Initiation) แม้เราจะสังเกตเห็นว่ามันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด” สตินสันกล่าว
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Social Psychological and Personality Science ซึ่งประกอบไปด้วยการศึกษา 4 เรื่องเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของผู้คน โดย 2 การศึกษาแรกได้วิเคราะห์วารสารและตำราที่ได้รับความนิยม และพบว่าวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการเริ่มต้นความสัมพันธ์มุ่งเน้นไปที่การสปาร์กกันของคนแปลกหน้า และส่วนใหญ่มองข้ามความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อน
จากนั้นนักวิจัยก็ได้ทำการวิเคราะห์ผลการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วมเกือบ 1,900 คน จากแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ที่มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปี 2020 เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่า 66% ของคู่รักเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อน โดยส่วนมากเป็นมิตรภาพระยะยาวที่รู้จักกันมาเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี
ในขั้นสุดท้ายของการศึกษาก็ได้พิจารณาข้อมูลจากนักศึกษามหาวิทยาลัย 300 คน พบว่า พวกเขาใช้เวลาในช่วงเพื่อนกันเกือบ 22 เดือน ก่อนจะกลายมาเป็นคู่รัก และเกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่างนี้กล่าวว่า การเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนกันก่อนเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ แต่ถึงอย่างนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเพื่อนกันเพื่อมีความสัมพันธ์ที่โรแมนติก หรือพูดง่ายๆ คือพออยู่กันไปนานๆ ก็รู้ใจกันและเกิดความหวั่นไหวนั่นแหละ
การวิจัยยังพบอีกว่าผู้เข้าร่วมที่อยู่ในกลุ่มหลากหลายทางเพศรายงานถึงความสัมพันธ์แบบ Friends to Lovers มากกว่าผู้ที่เป็นคู่รักต่างเพศ แม้ผู้วิจัยจะเห็นว่าผู้เข้าร่วมที่อยู่ในกลุ่มหลากหลายทางเพศมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามากก็ตาม
“การค้นพบนี้ควรกระตุ้นให้ผู้คนมีความคิดใหม่เกี่ยวกับรูปแบบการออกเดตที่เคยมีมา อาทิ ความรักจะเกิดก็ต่อเมื่อเราเจอใครสักคนแล้วก็เกิดการสปาร์กกันทันที ซึ่งถ้าเราเชื่อแบบนั้นมันจะยากต่อการจินตนาการถึงสถานการณ์อื่นๆ หรือมองข้ามคนใกล้ตัวอย่างเพื่อนสนิทไป” สตันสันเสริม
แต่เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับเพื่อนแล้วคงขาดความสัมพันธ์ที่โด่งดังนี้ไปไม่ได้ นั่นก็คือ Friends with Benefits หรือความสัมพันธ์ที่คนสองคนมีเซ็กซ์กับเพื่อนของตัวเองแต่ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าเพื่อนกัน ทำให้สตินสันมองว่า เส้นแบ่งระหว่างมิตรภาพและความสัมพันธ์ค่อนข้างที่จะคลุมเครือ เพราะถึงแม้ 2 ใน 3 ของผู้ที่เข้าร่วมวิจัยจะเป็นเพื่อนกันมาก่อนที่จะกลายเป็นคู่รัก แต่หลายคู่ก็ระบุว่าพวกเขาอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Friends with Benefits
“พวกเขากอดกันข้างกองไฟ ไปเที่ยวด้วยกัน แนะนำให้ครอบครัวรู้จัก แต่ก็ชัดเจนว่านั่นเป็นเพียงแค่มิตรภาพเท่านั้น เลยทำให้ฉันนึกถึงคำจำกัดความเกี่ยวกับมิตรภาพและความโรแมนติก เส้นแบ่งของมันมีความไม่ชัดเจนและยุ่งเหยิง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถนิยามได้นอกจากตัวของพวกเขาเอง” สตินสันเผย
ด้าน โจแอนน์ ดาวิลา ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกและผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยสโตนีบรูก ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ แต่ให้ความเห็นว่าบทความนี้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการทำวิจัยเกี่ยวกับเส้นทางของ Friends to Lovers เพิ่มเติม เพราะเขามองว่าความท้าทายในการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์นั้นมีอยู่เสมอ และเขาก็ชอบที่สุดท้ายงานวิจัยเหล่านั้นกำลังบอกว่าเราต้องเปิดใจและคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในมุมที่กว้างมากขึ้น
“นักวิจัยควรพิจารณาด้วยว่าการเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบนี้จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพของคนทั้งสองฝ่ายด้วยหรือเปล่า และหลังจากความสัมพันธ์สิ้นสุดลง ทั้งสองยังสามารถเป็นเพื่อนกันได้อยู่หรือไม่ เรามีเรื่องต้องถามอีกมากเกี่ยวกับคนเหล่านี้ เพื่อทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ของพวกเขา” ดาวิลาแนะนำ
อย่างไรก็ตาม สตินสันก็ได้วางแผนที่จะทำการศึกษาระยะยาวต่อไปโดยการติดตามเพื่อนสนิทจำนวนหลายคู่ เพื่อดูว่าระหว่างนั้นความรู้สึกเชิงโรแมนติกจะเกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งหรือเปล่า และสถานการณ์ใดที่อาจนำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกบ้าง
แม้ความสัมพันธ์แบบ Friends to Lovers จะเป็นอะไรที่หลายคนมองว่าค่อนข้างเสี่ยง เพราะถ้าหากความสัมพันธ์จบลง แปลว่าเราอาจเสียเพื่อนที่รู้ใจคนหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย แต่การมีคู่รักที่มาจากเพื่อนก็มีข้อดีบางอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นและยั่งยืน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกเดต แมทธิว ฮัสเซย์ กล่าวว่า ความบริสุทธิ์จากการเริ่มต้นความสัมพันธ์ด้วยมิตรภาพทำให้เราเห็นอุปนิสัยที่แท้จริงของอีกคนก่อนที่จะถูกบดบังด้วยเจตนาทางเพศหรือความต้องการทางกายภาพ
อีกทั้งเรายังคุ้นเคยกับไลฟ์สไตล์หรือมุมมองของเขาเป็นอย่างดีโดยที่ไม่ต้องปรับตัวมากนักเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ที่เริ่มจากคนแปลกหน้า แถมยังเคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันนับครั้งไม่ถ้วน เห็นด้านที่ไม่เพอร์เฟกต์ของแต่ละฝ่าย หรือสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ซึ่งช่วยให้ทั้งสองคนเกิดความสนิทสนมและความเชื่อใจกันและกันมากขึ้น
อ้างอิง:
- https://www.cnn.com/2021/07/20/health/romantic-relationships-start-as-friends-wellness/index.html
- https://www.independent.co.uk/life-style/love-sex/dating-friend-true-love-secret-tips-relationships-a7863251.html
- https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2021/jul/12/two-thirds-of-couples-start-out-as-friends-research-finds
- https://www.insider.com/is-it-good-to-be-friends-before-you-date-someone-2019-7