วันนี้ (14 พฤษภาคม) ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน นักกิจกรรมทางการเมืองและทนายความเดินทางมารวมตัวกันหลังทราบข่าวการเสียชีวิตของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ซึ่งถูกย้ายตัวมารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. หลังแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตรวจไม่พบสัญญาณชีพในช่วงเช้า
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จากการที่คุยกับคุณหมอยืนยันว่า บุ้งได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่เบื้องต้นยังไม่ได้เจอหรือพูดคุยกับครอบครัว เนื่องจากครอบครัวยังทำใจไม่ได้ เท่าที่ทราบจากหมอห้องฉุกเฉินบอกว่า เบื้องต้นเกิดจากหัวใจล้มเหลว แต่ในส่วนสาเหตุการตายที่แท้จริงหมอจะต้องชันสูตรพลิกศพและผ่าชันสูตรในวันพรุ่งนี้ (15 พฤษภาคม) เวลา 09.00 น. ก่อนจะส่งผลเลือดต่างๆ ไปตรวจสอบตามขั้นตอน และในวันนี้ร่างของบุ้งยังอยู่ที่นิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทางพนักงานสอบสวนจะต้องมาชันสูตรพลิกศพ ว่าสาเหตุการตายผิดธรรมชาติหรืออย่างไร
เมื่อถามว่าได้เข้าไปพบบุ้งก่อนหน้านี้หรือไม่ กฤษฎางค์ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้เข้าเยี่ยมบุ้ง แต่ว่ามีทนายประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าไปเยี่ยมตลอด จากการสังเกตทางกายภาพของบุ้ง มีอาการอ่อนเพลีย แต่ไม่ได้พูดอะไรมาก บอกแค่ว่าป่วย โดยอาการดังกล่าวเท่าที่วิเคราะห์กับคุณหมอ คืออาการของคนที่อดอาหารเป็นเวลานาน เท่าที่ทราบ ช่วงหลังทางครอบครัวพยายามขอร้องให้บุ้งรับประทานอาหาร แต่ก็รับประทานไม่ได้ เนื่องจากอดอาหารเป็นเวลา 30-40 วันมาแล้ว จึงได้ให้อาหารเสริม แคลเซียม และน้ำแทน แต่ก็ยังมีลักษณะอ่อนเพลียอยู่
กฤษฎางค์กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ถ้าหากผลการชันสูตรร่างของบุ้งออกมาอย่างละเอียด แล้วพบว่าการเสียชีวิตเป็นการตายโดยธรรมชาติ ครอบครัวก็จะยอมรับ แต่ถ้าหากว่าผลออกมาเป็นการตายแบบผิดธรรมชาติ ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องออกมาชี้แจง
เมื่อถามว่า ล่าสุดบุ้งได้ฝากอะไรหรือไม่ กฤษฎางค์ระบุว่า บุ้งพูดถึงครอบครัว โดยก่อนที่บุ้งจะเสียชีวิต สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือครอบครัว และยังยืนหยัดว่า เขายังเชื่อในสิ่งที่เขาเรียกร้องมาตลอด
ทั้งนี้ทาง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้โทรศัพท์มาหาตน พร้อมกับย้ำว่า กังวลเรื่องความโปร่งใส จึงอยากจะให้ชันสูตรที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ไม่ต้องส่งตัวไปที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพราะบุ้งมีคดีความทางการเมืองหลายคดี ซึ่งตนเห็นด้วยกับประเด็นนี้
และเมื่อถามถึงพินัยกรรมที่บุ้งเขียนยกทรัพย์สินบางส่วนให้ หยก ทนายความกล่าวว่า ก็ว่าไปตามข้อกฎหมายสินทรัพย์มรดก ถ้าถูกต้องชอบธรรมก็เป็นไปตามนั้น และตนก็เห็นพินัยกรรมฉบับดังกล่าวแล้วเป็นหนังสือระบุชื่อชัดเจน แต่ก็ขอให้ผู้จัดการมรดกเป็นคนจัดการ
ด้านกลุ่มเพื่อนทะลุวังนำโดย ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ที่ผ่านมาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวบุ้งหลายครั้ง บุ้งก็เลือกที่จะอดอาหารมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ทำให้บุ้งต้องเสียชีวิต
หลังจากนี้ขอให้ทุกฝ่ายรอติดตามการเคลื่อนไหวของทางกลุ่ม ซึ่งตัวของบุ้งเองยืนหยัด 3 ข้อเรียกร้องมาโดยตลอด คือ
- ประเทศไทยไม่ควรเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพราะเหตุการณ์ในวันนี้เป็นประจักษ์พยานแล้ว การที่บุ้งไม่ได้รับการประกันตัวและจะต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งด้วยเหตุผลที่อาจอยู่นอกเหนือ ม.112 คู่คดีที่เป็นรัฐกับประชาชนได้สะท้อนให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย
- ประเทศไทยควรปฏิรูประบบยุติธรรม ไม่ควรมีผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองต้องติดคุก
- ไม่ควรมีใครต้องติดคุกและดำเนินคดีทางการเมืองอีก เพราะเราเห็นแล้วว่าการถูกดำเนินคดีทางการเมือง นักโทษไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ไม่มีสิทธิในการเข้าพบทนายที่เหมาะสม
ทางกลุ่มจึงอยากให้จุดยืน 3 ข้อนี้ยังคงอยู่ และเป็น 3 ข้อเรียกร้องที่ภาคประชาสังคม หน่วยงาน นักการเมือง ออกมายืนหยัดไม่ให้เหตุการณ์ของบุ้งในวันนี้เสียเปล่า
อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่ได้มีแค่บุ้งที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ แต่ยังมีอีกมากที่กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องในสิ่งนั้น ซึ่งหากเรายืนยันใน 3 ข้อเรียกร้องนี้ เราจะสามารถช่วยเพื่อนของเราได้อีกมาก แม้จะมีความกังวลก็ตาม
ตัวแทนกลุ่มทะลุวังยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ รักษาตัวอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และกำลังอดอาหารเช่นเดียวกัน ทางกลุ่มจึงกังวล และขออย่าให้มีใครเสียชีวิตอีกเลย
“อยากให้ช่วยกันจับตาสถานการณ์และส่งเสียงนี้ให้ถึงผู้มีอำนาจได้ฟังเอาไว้ว่า วันนี้มีคนยอมแลกชีวิต เพราะมาตรา 112 จริงๆ พี่บุ้งพูดไว้ เขาไม่ได้มาเล่นๆ เขามาจริง และครั้งนี้เขาต้องจากไปจริงๆ” ณัฐนิชกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐบาลเสียใจ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เสียชีวิต รมว.ยุติธรรม เผย นายกฯ ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา
- รู้จัก ‘บุ้ง เนติพร’ กลุ่มทะลุวัง ผู้อดอาหารประท้วงในเรือนจำ