×

เลือกตั้งฝรั่งเศส ฝ่ายซ้ายพลิกชนะขวาจัด แต่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากไม่ได้ จะเกิดอะไรต่อ?

08.07.2024
  • LOADING...
เลือกตั้งฝรั่งเศส

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศสรอบที่ 2 สร้างความประหลาดใจอย่างมาก หลังกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย New Popular Front (NFP) พลิกเอาชนะเป็นอันดับ 1 โดยกวาด สส. ไป 182 ที่นั่ง ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรสายกลาง Ensemble ซึ่งรวมถึงพรรครัฐบาล Renaissance ของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ได้ไป 163 ที่นั่ง 

 

ส่วนพรรคขวาจัดอย่าง National Rally (Rassemblement National: RN) ของ มารีน เลอ เปน ผู้นำฝ่ายค้าน และพรรคพันธมิตร ซึ่งได้ สส. มากที่สุดในการเลือกตั้งรอบแรก ปรากฏว่ารอบนี้ได้ไป 143 ที่นั่ง

 

การเลือกตั้งรอบนี้ได้รับความสนใจและมีประชาชนชาวฝรั่งเศสออกไปใช้สิทธิลงคะแนนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ถึง 66.63%

 

แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมาส่งผลให้ไม่มีกลุ่มการเมืองฝ่ายใดที่ได้ สส. เกินกึ่งหนึ่ง หรือสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมี 577 ที่นั่ง และก่อให้เกิดคำถามสำคัญคือ กลุ่ม NFP ที่ชนะอันดับหนึ่ง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แล้วถ้าไม่ได้ สมการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาในรูปแบบใดและใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี 

 

หรือในกรณีที่แย่ที่สุด หากไม่สามารถตั้งรัฐบาลผสมได้จะเกิดอะไรขึ้น การเมืองฝรั่งเศสจะเผชิญทางตันหรือไม่?

 

พันธมิตรฝ่ายซ้าย NFP คือใคร?

 

กลุ่ม New Popular Front ประกอบด้วยหลายพรรคฝ่ายซ้าย โดยหลักๆ ได้แก่ พรรค France Unbowed (ซ้ายจัด), พรรค Socialist (สายกลางมากขึ้น), พรรค Ecologist (นโยบายสิ่งแวดล้อม), พรรค French Communist, พรรค Place Publique (กลาง-ซ้าย) นอกจากนี้ยังมีพรรคเล็กๆ อีกหลายพรรค

 

การก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศยุบสภา เปิดทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังกระแสความนิยมของฝ่ายขวาจัดในฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้พรรคฝ่ายค้าน RN ทำผลงานได้เหนือพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป โดยได้คะแนนเสียงมากกว่าถึง 2 เท่า

 

สำหรับนโยบายหลักของ NFP ที่ทำให้ประชาชนเทคะแนนเสียง มีทั้งการให้สัญญาว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือน การควบคุมราคาสินค้าจำเป็น และยกเลิกแผนปฏิรูปเงินบำนาญที่มาครงพยายามผลักดัน ส่วนนโยบายต่างประเทศที่น่าจับตามอง มีทั้งการให้คำมั่นว่าจะรับรองรัฐปาเลสไตน์ในทันที และผลักดันให้อิสราเอลและกลุ่มฮามาส บรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา

 

จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้?

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองฝรั่งเศสตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นภาวะ ‘สภาแขวน’ (Hung Parliament) จากการที่ไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมาก 

 

โดยหลังจากนี้แน่นอนว่ากลุ่มการเมืองต่างๆ จะเริ่มแสดงท่าทีเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ความเป็นไปได้ที่พันธมิตรฝ่ายซ้าย NFP จะหันไปเจรจาจับมือกับขั้วการเมืองอื่น จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ 

 

ที่ผ่านมาการเมืองฝรั่งเศสแทบไม่เคยเจอกับการจัดตั้งรัฐบาลผสมต่างขั้ว โดยระบอบการปกครองยุคปัจจุบันที่เรียกว่ายุค ‘สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5’ (French Fifth Republic) ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1958 โดยวีรบุรุษสงคราม ชาร์ลส์ เดอ โกล เปลี่ยนแปลงจากระบอบรัฐสภามาเป็นระบอบกึ่งประธานาธิบดี เพื่อให้ประธานาธิบดีได้ครองอำนาจเสียงข้างมากในรัฐสภาอย่างมีเสถียรภาพ และทำให้วัฒนธรรมการเมืองฝรั่งเศสเป็นไปในลักษณะของการ ‘เผชิญหน้า’ มากกว่า ‘ประนีประนอม’

 

ขณะที่ ฌ็อง-ลุก เมลองชอง ผู้นำพรรคซ้ายจัด France Unbowed (LFI) ยังไม่แสดงออกว่าจะมีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมกับขั้วการเมืองใด โดยเขาเรียกร้องไปยังมาครงว่า มีหน้าที่ในการขอให้พันธมิตรฝ่ายซ้ายจัดตั้งรัฐบาล และยืนยันว่า NFP พร้อมที่จะปกครองประเทศ

 

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลผสมข้ามขั้วถูกมองไปที่กลุ่มฝ่ายซ้าย NFP และกลุ่มสายกลาง Ensemble ของมาครง 

 

แต่ที่ผ่านมาสมาชิก Ensemble หลายคนปฏิเสธที่จะทำงานร่วมกับพรรค France Unbowed เนื่องจากแนวนโยบายที่ถูกมองว่าซ้ายสุดโต่งและไม่เหมาะที่จะปกครองประเทศเช่นเดียวกับพรรคขวาจัดอย่าง RN

 

โดยหนึ่งในสมการที่อาจเกิดขึ้นคือ การที่พรรค Socialist และพรรค Ecologist แยกออกจากพันธมิตรฝ่ายซ้ายและจับมือกับกลุ่ม Ensemble ตั้งรัฐบาลผสมกลาง-ซ้าย แต่ความเป็นไปได้อาจจะยังเลือนราง เนื่องจากไม่มีวี่แววว่ากลุ่ม NFP จะล่มสลายได้ในตอนนี้

 

ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่?

 

แกเบรียล อัททาล นายกรัฐมนตรีหนุ่มวัย 34 ปี เตรียมที่จะลาออกในวันนี้ (8 กรกฎาคม) แต่จะยังคงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการต่อไปจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่

 

สำหรับคำถามที่ว่า ใครในกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่คาดว่าจะได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคนใหม่ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าจะเป็นใคร

 

โดยบุคคลที่โดดเด่นและเป็นผู้ที่ถูกเรียกว่าสร้างความแตกแยกในการเมืองฝรั่งเศสมากที่สุดคือ เมลองชอง ผู้นำพรรค France Unbowed วัย 72 ปี 

 

หลังทราบผลเลือกตั้ง เมลองชองประกาศต่อผู้สนับสนุน ขอให้มาครงใช้อำนาจประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพันธมิตรฝ่ายซ้าย ซึ่งตามปกติแล้วประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะเลือกบุคคลที่เป็นที่ยอมรับจากสภา และเป็นบุคคลที่มาจากกลุ่มพรรคการเมืองที่ได้ สส. มากที่สุด 

 

แต่การแต่งตั้งเมลองชองอาจก่อให้เกิดคำถามทั้งในแง่ของการเป็นที่ยอมรับจากสภา และการที่เขามีแนวนโยบายซ้ายสุดโต่ง อาจเสี่ยงที่จะเผชิญการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งฝ่ายที่โหวตไม่ไว้วางใจนอกจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ยังอาจมีกลุ่มการเมืองสายกลางของมาครงด้วย

 

ฝรั่งเศสไม่ต้องการขวาจัด?

 

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ตลอดจนการประท้วงต่อต้านกลุ่มขวาจัดในช่วงหลายสัปดาห์ก่อน สะท้อนว่าชาวฝรั่งเศสจำนวนมากยังไม่ต้องการให้กลุ่มการเมืองขวาจัด โดยเฉพาะพรรค RN อยู่ในอำนาจ

 

หนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อชัยชนะของพันธมิตรฝ่ายซ้ายคือ การที่กลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแนวนโยบายต่างกัน พากันละทิ้งความแตกต่างและจับมือกันตั้งกลุ่ม NFP ขณะที่กลุ่มการเมืองสายกลางอย่าง Ensemble ก็ละทิ้งความแตกต่างที่มีต่อฝ่ายซ้าย เพื่อพยายามต่อต้านพรรค RN และฝ่ายขวาจัดด้วย

 

โดยนักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุหนึ่งที่ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากไม่ต้องการฝ่ายขวาจัด นอกจากจะไม่สนับสนุนในแนวคิดอนุรักษนิยมหรือชาตินิยมสุดโต่งแล้ว ยังมีความกลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหากฝ่ายขวาจัดได้ครองอำนาจ

 

ท่าทีฝ่ายขวาจัด

 

จอร์แดน บาร์เดลลา ประธานพรรค RN วัย 28 ปี ซึ่งเคยถูกจับตามองว่าอาจได้ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่หากพรรคชนะเลือกตั้ง กล่าวว่า “การกีดกันชาวฝรั่งเศสหลายล้านคนไม่ให้มีโอกาสได้เห็นแนวคิดของตนเองเข้าสู่อำนาจ จะไม่มีวันเป็นชะตากรรมสำหรับฝรั่งเศส”

 

ขณะที่เขาประณามประธานาธิบดีมาครงที่ผลักให้ฝรั่งเศสเดินหน้าไปสู่ความไม่มั่นคงและตกอยู่ในอ้อมแขนของฝ่ายซ้ายสุดโต่ง ซึ่งหมายถึงพรรค France Unbowed 

 

ด้าน มารีน เลอ เปน ซึ่งตั้งใจจะลงสมัครชิงประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 2027 ยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งรอบนี้เป็นเพียงการเลื่อนชัยชนะของพรรค RN ออกไปเท่านั้น

 

“กระแสน้ำกำลังสูงขึ้น ชัยชนะของเราแค่ถูกเลื่อนออกไปเท่านั้น”

 

โดยเธอชี้ว่า พรรค RN เติบโตอย่างมากในการเลือกตั้งสองครั้งหลังสุด และเป็นพรรคที่ได้ สส. มากที่สุด หากไม่นับรวมพรรคพันธมิตร 

 

“2 ปีที่แล้วเรามี สส. แค่ 7 คน คืนนี้ RN เป็นพรรคอันดับหนึ่งในแง่ของจำนวน สส.” 

 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่สามารถตั้งรัฐบาลผสมได้?

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมองว่า การจับมือระหว่างกลุ่มการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายซ้ายและสายกลางนั้นมีความยาก เนื่องจากจุดยืนที่ต่างกันของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในนโยบายต่างๆ เช่น ภาษี เงินบำนาญ และการลงทุนสีเขียวในนโยบายสิ่งแวดล้อม 

 

การไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศสยุคใหม่

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญระบุว่า มาครงไม่สามารถประกาศให้มีการเลือกตั้ง สส. ได้อีกในช่วง 12 เดือนจากนี้ และกำหนดให้มาครงต้องตัดสินใจว่าจะขอให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองใดจัดตั้งรัฐบาล

 

โดยพรรคหรือกลุ่มการเมืองใดที่ถูกเลือกให้ตั้งรัฐบาลจะเผชิญการลงมติไว้วางใจก่อนทำหน้าที่ ซึ่งจะมีการประชุมสภา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม

 

ด้าน ราฟาเอล กลุกส์มันน์ สมาชิกรัฐสภายุโรปชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า สภาของฝรั่งเศสตอนนี้คือ ‘สภาที่แตกแยก’ และนักการเมืองต้องทำตัวเหมือนผู้ใหญ่

 

ขณะที่ ฟรองซัว แบรู อดีตรัฐมนตรียุติธรรมฝรั่งเศส และพันธมิตรของมาครง กล่าวว่า “วันแห่งเสียงข้างมากโดยสมบูรณ์สิ้นสุดลงแล้ว”

 

ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่า ความแตกแยกในสภาฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นทำให้ยากแก่การดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างสำคัญๆ ในระดับประเทศ โดยสิ่งที่ดีที่สุดที่พันธมิตรฝ่ายซ้ายสามารถหวังได้คือ การเป็นพันธมิตรเฉพาะกิจในการลงมติผ่านกฎหมายแต่ละฉบับ

 

โดยมาครงเคยพยายามลองใช้กลยุทธ์นี้นับตั้งแต่สูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งปี 2022 แต่ผลที่ได้ก็มีความสำเร็จอย่างจำกัด ซึ่งเขาต้องใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญหลายครั้ง เพื่อผลักดันกฎหมายให้ผ่านไปได้โดยไม่ต้องมีการลงมติจากสภา

 

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังสามารถพิจารณาแต่งตั้งรัฐบาลเทคโนแครต (Technocratic Government) หรือรัฐบาลที่เลือกคณะรัฐมนตรีโดยอิงจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์ ข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ นักการทูต และผู้นำธุรกิจหรือสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นแบบเดียวกับบางประเทศ อาทิ อิตาลี 

 

ภาพ: Artur Widak / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising