×

บริตต์นีย์ ไกรเนอร์ จากซูเปอร์สตาร์บาสเกตบอลหญิงสู่นักโทษคนดัง และอิสรภาพที่แลกมาด้วยน้ำตา

09.12.2022
  • LOADING...

ชื่อของ บริตต์นีย์ ไกรเนอร์ กลายเป็นชื่อที่ถูกจับตามองจากสังคมโลกทันทีเมื่อมีรายงานข่าวว่าทางการสหรัฐอเมริกาได้ขอแลกตัวเธอกับ วิกเตอร์ บูต พ่อค้าอาวุธเจ้าของสมญานาม ‘พ่อค้าความตาย’

 

เธอคนนี้มีความสำคัญอย่างไร และอิสรภาพที่ได้มานั้นมีความหมายอย่างไรหรือไม่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย?

 

ดาวดวงใหญ่ใน WNBA

 

หากเป็นแฟนกีฬาบางทีอาจจะเคยได้ยินชื่อหรืออาจเคยเห็นหน้าของ บริตต์นีย์ ไกรเนอร์ บ้าง เพราะเธอคือหนึ่งในนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ของลีกบาสเกตบอลหญิงอาชีพอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่าง WNBA

 

ไกรเนอร์ ซึ่งมีเชื้อสายชาวเวียดนามจากคุณพ่อ เกิดเมื่อปี 1990 และเติบใหญ่ที่ฮุสตัน เพียงแต่ช่วงชีวิตในวัยเด็กของเธอนั้นไม่ง่ายเลย เพราะเธอโตไวกว่าปกติจนทำให้มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อนร่วมวัยเดียวกันมาก ซึ่งกลายเป็นปมในชีวิตเพราะเพื่อนๆ ต่างรุมกลั่นแกล้งสารพัด

 

อย่างไรก็ดีไกรเนอร์ได้เปลี่ยนเอาปมตรงนี้มาเปลี่ยนเป็นพลังผลักดันตัวเองแทนด้วยการมาปลดปล่อยตัวเองในสนามบาสเกตบอลแทน และด้วยส่วนสูงถึง 6 ฟุต 8 นิ้ว ทั้งๆ ที่ยังเป็นนักเรียนไฮสคูล (ซึ่งปัจจุบันเธอสูงขึ้นอีก 1 นิ้วจากช่วงนั้น) และทักษะในการ ‘ดังค์’ ทำให้เธอกลายเป็นคนดังจากคลิปไวรัล จนเมื่อแสงเริ่มส่องมาถึง เหล่าผู้คนต่างก็คาดหมายกันว่านี่คือการถือกำเนิดของว่าที่นักบาสเกตบอลหญิงที่เก่งที่สุดตลอดกาล

 

เรื่องนี้ไม่ได้ไกลเกินความจริง ไกรเนอร์เก่งกล้าพร้อมท้าทายทุกคน จากการเป็นดาวเด่นในทีมมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ (Baylor University) ในวาโก ซึ่งโค้ชของเธอยกย่องว่าเป็น ‘สุดยอดนักบาสเกตบอลที่ชาติหนึ่งจะมีแค่คนเดียว’ พาทีมคว้าแชมป์ระดับชาติได้ในฤดูกาล 2011/12 ด้วยการชนะรวด 40 เกม และได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำปี สุดยอดนักยัดห่วงสาวคนนี้ได้รับเลือกจากทีมฟีนิกซ์ เมอร์คิวรี (Phoenix Mercury) ในการดราฟต์ของ WNBA ปี 2013

 

ไกรเนอร์กลายเป็นหนึ่งในนักบาสเกตบอลที่โด่งดังที่สุดของวงการ ด้วยสไตล์เกมรับที่โดดเด่นแตกต่างเป็นจอมบล็อกช็อตที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก มีส่วนช่วยพาเมอร์คิวรีคว้าแชมป์ WNBA มาครองได้ในปี 2014 และยังเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติสหรัฐอเมริกาในการคว้าแชมป์โอลิมปิกถึง 2 สมัยใน ‘รีโอเกมส์’ เมื่อปี 2016 และ ‘โตเกียวเกมส์’ เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

 

นอกจากเรื่องในสนามไกรเนอร์ยังกลายเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลหญิงคนแรกที่เป็น LGBTQIA+ ที่เซ็นสัญญาเป็นนักกีฬาของ Nike โดยเธอบอกในครั้งนั้นว่า “ถ้าฉันทำให้เห็นแล้วว่าถ้าเปิดตัวออกมาแล้วไม่เป็นอะไร ทุกอย่างโอเค เด็กรุ่นต่อๆ ไปก็จะได้รู้สึกในแบบเดียวกัน” ซึ่งเธอเคยหมั้นหมายกับ กลอรี จอห์นสัน เพื่อนนักบาสเกตบอลด้วยกัน แต่กลายเป็นข่าวอื้อฉาวเพราะถูกจับกุมข้อหาทำร้ายร่างกาย ก่อนที่จะแต่งงานใหม่กับ เชอรีลล์ วัตสัน คุณครูที่เธอพบคนแรกที่มหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ ซึ่งกลายเป็น ‘ภารยา’ ของเธอในปัจจุบัน

 

เธอยังเป็นนักต่อสู้ด้วย โดยนอกจากในเรื่อง LGBTQIA+ แล้วเมื่อครั้งที่ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุจนทำให้เสียชีวิต ไกรเนอร์ได้พยายามเรียกร้องให้มีการงดร้องเพลงชาติสหรัฐฯ เพื่อเป็นการประท้วงความรุนแรงด้วย

 

10 เดือนในคุกที่รัสเซีย

 

จุดพลิกผันในชีวิตของไกรเนอร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเธอถูกจับกุมที่สนามบินเชเรเมเตียโว (Sheremetyevo International Airport) ในกรุงมอสโก ซึ่งเป็นการเดินทางมาเพื่อเตรียมย้ายมาเล่นกับทีมยูเอ็มเอ็มซี เยกาเทลินเบิร์ก ในลีกบาสเกตบอลอาชีพของประเทศรัสเซีย หลังเจ้าหน้าที่พบน้ำมันกัญชา 3 ขวด ซึ่งผิดกฎหมาย ทำให้เธอต้องถูกควบคุมตัวทันที

 

หลังจากนั้นได้เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นในสัปดาห์ต่อมา เมื่อรัสเซียตัดสินใจส่งทหารบุกยูเครน (รัสเซียใช้คำว่าปฏิบัติการทางทหารพิเศษ) ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรได้รวมตัวกันต่อต้านอย่างหนักในทุกทาง

 

นักบาสเกตบอลสาวจึงเหมือนตกเป็นตัวประกันของทางรัสเซีย และทำให้ความช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ ในการเจรจาต่างๆ เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยระหว่างนั้นไกรเนอร์ได้ถูกคุมตัวยาวนานต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย เธอได้ร้องเรียนว่าเตียงในห้องขังนั้นเล็กเกินไปสำหรับคนสูง 6 ฟุต 9 นิ้วอย่างเธอ และยังต้องแชร์ห้องร่วมกับผู้ต้องขังชาวอังกฤษอีก 2 รายด้วย

 

หลังจากนั้นได้มีความพยายามจากสหรัฐฯ ที่จะให้การช่วยเหลือนักโทษผู้โด่งดัง แต่การเจรจาเป็นไปได้อย่างยากลำบากและล่าช้า ขณะที่กระบวนการยุติธรรมของรัสเซียเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยไกรเนอร์ได้ยอมรับสารภาพว่านำน้ำมันกัญชามาด้วยจริงแต่เป็นความผิดโดยไม่เจตนา เนื่องจากเธอใช้น้ำมันกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการรักษาในการเล่นกีฬา ไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดทางกฎหมาย แต่สุดท้ายศาลพิพากษาว่าเธอต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 9 ปี พร้อมกับปรับเงินอีก 1,000,000 รูเบิล หรือราว 16,000 ดอลลาร์

 

ความพยายามในการอุทธรณ์ของไกรเนอร์ถูกปฏิเสธ และดูเหมือนความหวังในการจะได้ตัวกลับมาเหลือน้อยลงทุกที เธอถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถาน 

 

แต่แล้วในวันที่ 1 ธันวาคม ทางการสหรัฐฯ และรัสเซียได้บรรลุข้อตกลงกันในการแลกตัวนักโทษหนึ่งต่อหนึ่ง โดยขณะที่รัสเซียจะส่งตัวไกรเนอร์กลับมาให้สหรัฐอเมริกา พวกเขาจะได้ตัว วิกเตอร์ บูต พ่อค้าอาวุธเจ้าของสมญา ‘พ่อค้าความตาย’ ที่ต้องโทษ 25 ปีจากความผิดร้ายแรงในการขายอาวุธให้แก่องค์กรผู้ก่อการร้าย เป็นการแลกเปลี่ยน

 

ก่อนที่จะมีการยืนยันจาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ไกรเนอร์กำลังเดินทางกลับมาตุภูมิอีกครั้ง

 

และช่วงค่ำวันที่ 9 ธันวาคม ตามเวลาไทย ไกรเนอร์เดินทางถึงสหรัฐฯ แล้ว ก่อนจะได้พบหน้าบุคคลอันเป็นที่รักและสัมผัสอ้อมกอดอันอบอุ่นที่รอคอยมานานสิบเดือนอีกครั้ง

 

ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับคำว่าอิสรภาพ

 

“นี่คือ โจ ไบเดน ขอต้อนรับกลับบ้าน!” นี่คือคำพูดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กล่าวต้อนรับนักบาสเกตบอลสาวกลับบ้านเกิดอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดีอิสรภาพของไกรเนอร์นั้นไม่ได้มาด้วยราคาถูก โดยตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยทางสื่อนั้น การเจรจาระหว่างสองฝ่ายนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยที่ต้องพึ่งพา ‘คนกลาง’ อย่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการช่วยเจรจา

 

สิ่งที่น่าสนใจคือข้อเสนอเดิมนั้นทางการสหรัฐฯ ต้องการแลกเปลี่ยนนักโทษในแบบ 2 ต่อ 1 โดยนอกจากไกรเนอร์แล้วอีกคนที่สหรัฐฯ ต้องการตัวกลับมาคือ พอล วีแลน อดีตนาวิกโยธิณที่ถูกจับกุมในข้อหาสายลับ

 

แต่ทางการรัสเซียยืนกรานหนักแน่นว่าจะไม่มีการนำวีแลนเข้ามาอยู่ในกระบวนการเจรจาด้วย ซึ่งสุดท้าย โจ ไบเดน ตัดสินใจที่จะอนุมัติขั้นสุดท้ายในการแลกตัวกับนักโทษที่ทางรัสเซียต้องการคือ วิกเตอร์ บูต โดยคนเดียวที่จะได้กลับบ้านคือไกรเนอร์

 

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐฯ ทันที เนื่องจากมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจแลกตัวนักโทษครั้งนี้ เพราะสหรัฐฯ ต้องปล่อยตัวนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่มีความสำคัญต่อรัฐบาลรัสเซียของ วลาดิเมียร์ ปูติน กลับคืนไปเพื่อแลกกับนักบาสเกตบอลที่ไม่ต้องการแม้แต่จะร้องเพลงชาติของตัวเอง

 

ในขณะที่วีแลนที่เป็นอดีตนาวิกโยธินที่รับใช้ประเทศชาติอย่างยาวนานยังคงต้องถูกคุมขังต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะมีวันที่ได้รับอิสรภาพหรือไม่ แม้ว่าจะมีความพยายามในการอธิบายว่ากรณีของไกรเนอร์และวีแลนนั้นเป็นกรณีที่แตกต่างกันก็ตาม

 

อิสรภาพของไกรเนอร์ในครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นอิสรภาพที่มีราคาแพงระยับ และอาจเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมกัน

 

อย่างไรก็ดีอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจจากกรณีของไกรเนอร์คือท่าทีระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่ยังสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างการแลกตัวนักโทษได้ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นหลังรัสเซียตัดสินใจทำสงครามกับยูเครน แต่ชื่อเสียงของไกรเนอร์ทำให้เรื่องนี้ถูกจับจ้องจากคนทั่วโลก

 

เรื่องนี้จะเป็นสัญญาณที่นำไปสู่อะไรต่อไปในอนาคตระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องจับตากันต่อไป

 

ภาพ: Christian Petersen / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising