การจากไปของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ นักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ ไม่เพียงเฉพาะกับชาวเยอรมันที่สูญเสียบุคคลสำคัญผู้เป็นที่รักของคนทั้งชาติเท่านั้น
แต่สำหรับโลกลูกหนังแล้ว เบคเคนบาวเออร์คือเสาหลักที่หักโค่นลงเป็นต้นสุดท้ายของยุคโบราณในกลุ่มตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันตายจากใจ (The Immortals) ภายหลังจากที่ เปเล่, ดิเอโก มาราโดนา, โยฮัน ครอยฟ์, เปเรนซ์ ปุสกัส, อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน และ จอร์จ เบสต์ ได้จากโลกนี้ไปหมดแล้ว
แน่นอนว่าบุคคลระดับนี้จากไป สิ่งที่ผู้คนทำได้คือการย้อนรอยเรื่องราวความยิ่งใหญ่ให้หวนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อขับขานเรื่องราวเหล่านั้นต่อไปให้ถึงคนรุ่นหลัง ซึ่งอาจจะตามไม่ทันและไม่เคยได้ยินหรือได้รู้เรื่องราวของเขาเหล่านั้นมาก่อน
เรื่องราวของเบคเคนบาวเออร์ก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร
เอาแค่สมญา ‘แดร์ไกเซอร์’ หรือ ‘จักรพรรดิลูกหนัง’ ก็เป็นสมญาที่มีเพียงหนึ่ง ไม่มีสอง ไม่มีใครที่ได้รับสมญานามซ้ำอีกแล้ว
แต่บางครั้งการจากไปของใครสักคนก็ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นจะต้องเล่าความหลังครั้งเก่าเพียงอย่างเดียว
บางทีก็มีสิ่งที่น่าเรียนรู้จากคนเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน
มือที่มองเห็น
สิ่งแรกในบทเรียนชีวิตของไกเซอร์ลูกหนังผู้ยิ่งใหญ่ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ทั้งในสมัยเป็นผู้เล่น สวมปลอกแขนกัปตันทีมขึ้นรับถ้วยฟุตบอลโลก 1974 และอีกครั้งในบท ‘ทีมเชฟ’ หรือหัวหน้าทีมที่คุมทัพ ‘อินทรีเหล็ก’ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1990 ไม่ใช่เรื่องความเก่งกาจในเกมลูกหนัง
บทเรียนสำคัญในชีวิตอย่างแรกของเบคเคนบาวเออร์คือเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่น
ตลอดชีวิตของนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ การช่วยเหลือคนอื่นเป็นสิ่งที่เบคเคนบาวเออร์จดจำและยึดถือมาโดยตลอด อันเนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวในวัยเยาว์
ในสมัยเด็กๆ เบคเคนบาวเออร์เกิดในยุคสมัยหลังสงครามโลก เยอรมนีเป็นผู้แพ้ในสงคราม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเยอรมันในสมัยนั้นยากลำบากอย่างยิ่ง ไม่มีใครที่มั่งมีกว่าใคร
แต่เพราะความเป็นอยู่ที่ยากลำบากนั้นเอง ที่ทำให้ทุกคนได้กลับมาสู่จุดที่ดีงามที่สุดคือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ใครมีมากกว่าก็ช่วยเหลือคนที่ขาด ใครที่แข็งแรงกว่าก็ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า
ด้วยเหตุนี้ทำให้เมื่อถึงวันที่ตัดสินใจจะเลิกเล่นฟุตบอล ไกเซอร์ลูกหนังจึงตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ขึ้นเพื่อให้การช่วยเหลือสังคมตั้งแต่เมื่อปี 1982 แต่ก็พยายามเน้นย้ำกับทุกคนว่า แต่ละคนมีวิธีการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นแตกต่างกันออกไป
ใครไหวแบบไหนก็ทำแบบนั้น หัวใจสำคัญคือการยื่นมือออกไปเถอะ
มันจะมีใครสักคนที่รอคอยมือที่ยื่นออกมาจากเราเสมอ
กับคู่ปรับแห่งชีวิต ‘นักเตะเทวดา’ โยฮัน ครอยฟ์ ในนัดชิงฟุตบอลโลก 1974
ลิเบอโรในชีวิต
ในการเป็นนักเตะของเบคเคนบาวเออร์ สิ่งที่โลกจดจำและยกย่องเขามากที่สุดคือ การเล่นที่สง่างามภายใต้บทบาทที่เหมือนสงวนไว้ให้ตัวเขาที่เราเรียกขานกันว่า ‘ลิเบอโร’ (Libero)
คำว่าลิเบอโรนั้นเดาไม่ยากว่ามีที่มาจากคำว่า ‘อิสระ’ ซึ่งก็สะท้อนถึงบทบาทการเล่นของเขา ที่แม้จะปักหลักประจำการอยู่แดนหลัง แต่ก็เป็นผู้บัญชาการในสมรภูมิลูกหนังของทีม โดยที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระไป ณ จุดใดของสนามก็ได้
เบคเคนบาวเออร์ทำแบบนั้นได้เพราะเป็นผู้เล่นที่มีทั้งพรสวรรค์ สามารถเล่นลูกยากให้เป็นลูกง่ายเหมือนไม่ต้องพยายาม และในขณะเดียวกันก็เป็นนักเตะที่มีพรแสวงในการหมั่นฝึกฝนเพื่อจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบที่สุด
ในความเห็นของเขา ชีวิตนั้นอิสระหรืออิสรภาพเป็นสิ่งที่ดีและสวยงาม
เพราะขั้นต่ำที่สุดสำหรับผู้คนคือ การที่คนเราควรมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แบบไหน
จะยากดีมีจน ขอให้เป็นการตัดสินใจจากใจของเราเองเถอะ
แต่จะให้ดี เกิดมาพร้อมอิสระทั้งทีก็อยากให้ทำสิ่งที่ดี
มองให้เห็นถึงแง่งาม
ครั้งหนึ่งนิตยสารฟุตบอลเยอรมนีตะวันตกเคยขึ้นปกเรื่องราวของเบคเคนบาวเออร์สมัยแจ้งเกิดใหม่ๆ ว่า ‘Franz im Glück’ ซึ่งล้อมาจาก Hanz im Glück หรือฮันซ์ผู้โชคดี ซึ่งเป็นนิทานดังของพี่น้องตระกูลกริมม์
ความตั้งใจของนิตยสารครั้งนั้นแค่เพียงอยากจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า เบคเคนบาวเออร์เป็นเหมือนคนที่เกิดมาในดวงจักรพรรดิจริงๆ เพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง จะหยิบจะจับทำอะไรก็ง่ายไปเสียหมด – ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล เป็นทีมเชฟ (โค้ช) หรือเป็นผู้บริหาร เป็นประธานสโมสร หรือแม้แต่เป็นประธานคณะทำงานฟุตบอลโลก 2006 ในบ้านเกิดที่เยอรมนี ก็สำเร็จด้วยดีทั้งสิ้น
แต่ในนิทานเรื่องนี้จริงๆ แล้ว หากใครเคยได้อ่านจะรู้ว่าฮันซ์คนทำงานผู้ขยันขันแข็ง และต้องการจะลาเจ้านายเพื่อกลับบ้านนั้นผ่านการแลกเปลี่ยนสิ่งของมากมายระหว่างทาง จากทองคำก้อนโตที่หนักเสียจนแบกแทบไม่ไหว ไปจนถึงม้า วัว หมู ห่าน และก้อนหินกับอุปกรณ์ในการลับมีด
ในมุมของคนทั่วไปอ่านแล้วอาจรู้สึกว่าเจ้าฮันซ์นี่มันช่างโง่เง่าเสียจริง เอาของมีค่ามากกว่าไปแลกกับของที่มีค่าน้อยกว่าอยู่เรื่อย จนสุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรกลับบ้านเลย
แต่ในมุมของฮันซ์แล้ว เขากลับรู้สึกดีและมีความสุขที่สุดท้ายได้กลับมาอยู่ยังที่ที่มีความสุขที่สุดคือบ้านกับการได้พบแม่ โดยที่ไม่มีภาระใดๆ ให้ต้องห่วงหรือหนักใจอีก
เบคเคนบาวเออร์ก็เป็นหนึ่งในคนที่มองโลกในแง่ดีเสมอเช่นกัน และเป็นสิ่งที่เขาพยายามบอกกับทุกคนเสมอว่า ต่อให้มันมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่หากเรารู้จักมองเห็นในสิ่งที่ดี เราก็ยังสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีได้
ไม่ต่างอะไรจากฮันซ์ ที่การสูญเสียสิ่งของมีค่าหมายถึงอิสระที่เพิ่มขึ้นมา เพราะห่วงหาน้อยลง
‘ทีมเชฟ’ ผู้พาเยอรมนีตะวันตกคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 และทำให้เป็นคนที่ 2 ของโลกที่ได้แชมป์โลกทั้งในการเป็นผู้เล่นและเป็นผู้ฝึกสอน
โชคชะตาอยู่ในมือของเรา
และสุดท้ายสุดยอดนักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของเยอรมนีเคยพูดถีงเรื่องของ ‘โชคชะตา’ เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“โชคชะตาก็คือโชคชะตา ถ้าทุกคนคิดที่จะทำสิ่งที่ดี นั่นแปลว่าจะไม่มีใครทำสิ่งที่ผิดต่อโลกใบนี้เลย”
เบคเคนบาวเออร์กล่าวไว้เมื่อปี 2022 โดยฝากเอาไว้ในตอนนั้นว่า ถึงเขาจะไม่สามารถไปโน่นมานี่เพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้เหมือนในอดีตด้วยปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่ แต่ต่อให้วันหนึ่งไม่มีเขาอยู่ ทุกอย่างที่เขาวางรากฐานเอาไว้จะดำเนินต่อไป
และหวังว่าทุกคนจะรักและช่วยเหลือกัน
“ชีวิตจะดีได้ก็เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกัน”
ด้วยรักและสดุดีต่อไกเซอร์ลูกหนังผู้ยิ่งใหญ่ครับ
- สมญา ‘แดร์ไกเซอร์’ นั้นได้มาจากสไตล์การเล่นที่สง่างามและนุ่มนวล ซึ่งแตกต่างจากนักฟุตบอลเยอรมันที่เป็นนักเตะที่มีการเล่นที่แข็งทื่อ และที่สำคัญที่สุดคือ เบคเคนบาวเออร์มีส่วนคล้าย ไกเซอร์ ลุดวิก ที่ 2 อดีตกษัตริย์แห่งแคว้นบาวาเรีย
- เบคเคนบาวเออร์ตอบรับการคุมทีมชาติเยอรมนีตะวันตก เพียงแต่เนื่องจากไม่ได้ผ่านการอบรมเป็นโค้ช ไม่มีใบอนุญาต จึงไม่สามารถใช้ตำแหน่งหัวหน้าโค้ชได้ ทำให้มีการตั้งตำแหน่งใหม่เป็น ‘ทีมเชฟ’ หรือหัวหน้าทีมแทน
- ในช่วงบั้นปลายชีวิต เบคเคนบาวเออร์ต้องมลทินในคดีความเกี่ยวกับการล็อบบี้การเลือกตั้งเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 จนถูก FIFA แบน 90 วันเมื่อปี 2014 แต่มีการยกเลิกคำสั่งแบนในเวลาต่อมา เพราะให้ความร่วมมือในการสอบสวน