×

สัมภาษณ์พิเศษ Francesca Cartier Brickell ทายาทรุ่นที่ 6 ของผู้ก่อตั้งแบรนด์ Cartier

30.11.2021
  • LOADING...

หากพูดถึงแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำของโลก เชื่อได้ว่า ‘Cartier’ ก็ต้องเป็นหนึ่งในสามที่หลายคนทั่วโลกต่างนึกถึงก่อนอย่างแน่นอน ซึ่งความนิยมของแบรนด์นี้ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน และเป็นที่ต้องการของทั้งนักสะสมหรือคนที่อยากลงทุนซื้อไอเท็มไฮเอนด์ชิ้นแรกให้กับตัวเอง

 

ล่าสุดเพื่อเป็นการฉลองนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์เรือนเวลาซีรีส์ที่ 3 ในชื่อ Lotus Arts de Vivre x Obsidian Objets d’Art: WOMEN are FOREVER – A Vintage Cartier Collection ที่รวบรวมและพาคุณไปสำรวจนาฬิกาสุภาพสตรีระดับตำนานจากทั่วทุกมุมโลกที่หาชมได้ยากกว่า 34 เรือนของ Cartier ทาง THE STANDARD POP ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ Francesca Cartier Brickell (ฟรานเซสกา คาร์เทียร์ บริกเคลล์) ทายาทรุ่นที่ 6 ของแบรนด์ Cartier พร้อมพูดถึงหลากหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องคุณปู่ของเธอ ไอเท็มชิ้นแรก จนถึงว่าเธอสนใจที่จะให้ฮอลลีวูดดัดแปลงหนังสือขายดีของเธอ ‘The Cartiers’ เป็นภาพยนตร์หรือไม่

 

จากซ้ายไปขวา: Francesca Cartier Brickell, หนังสือเรื่อง The Cartiers และ Jean-Jacques Cartier คุณปู่ของ Francesca

 

เราอยากรู้ถึงบทบาทของคุณเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัว Cartier 

ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ฉันได้พบเจอหีบเก่าแก่อันหนึ่งที่เต็มไปด้วยจดหมายของครอบครัว Cartier ที่ห้องใต้ดินของบ้านคุณปู่ Jean-Jacques Cartier ซึ่งเขาได้ดูแลแบรนด์ Cartier London จนถึงยุค 70 ที่เขาเกษียณและได้ขายกิจการไป โดยจดหมายเหล่านั้นที่ฉันเจอก็เต็มไปด้วยเรื่องราวความสำเร็จของครอบครัว Cartier ตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์เมื่อปี 1867 พร้อมเรื่องราวของบุคคลต่างๆ ที่มาพร้อมอุปสรรค ความทะเยอทะยาน การแข่งขัน และแพสชัน 

 

หลังจากที่ฉันได้อ่านจดหมายเหล่านั้น บวกกับการได้พูดคุยกับคุณปู่อยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องราวประวัติครอบครัว ฉันเลยตัดสินใจลาออกจากงานด้านการเงินที่บริษัทแห่งหนึ่งในลอนดอน และตัดสินใจเริ่มรีเสิร์ชและเขียนหนังสือชีวประวัติของครอบครัว Cartier ที่คนไม่เคยรู้มาก่อน โดยฉันได้เดินทางรอบโลก พบเจอกับคนนับร้อยตั้งแต่เหล่ามหาราชาที่อินเดีย ช่างฝีมือการทำเครื่องประดับ จนถึงคนงานเหมืองที่ขุดหาพลอยไพลินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ Cartier

 

มาวันนี้หนังสือ The Cartiers ของฉันก็ได้กลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดี และกำลังจะได้รับการแปลในหลายภาษา ซึ่งฉันก็หวังว่าวันหนึ่งจะได้แปลเป็นภาษาไทยด้วย และนอกเหนือจากนั้นฉันก็ได้บรรยายพิเศษตามที่ต่างๆ และเป็นโฮสต์ Webinar Series ที่พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ด้านเครื่องประดับที่สามารถบ่งบอกและสะท้อนความสำคัญของครอบครัว Cartier

 

Francesca Cartier Brickell ขณะทำรีเสิร์ชสำหรับหนังสือเรื่อง The Cartiers

 

แบรนด์ Cartier มีอายุกว่า 174 ปีแล้ว คุณคิดว่าอะไรทำให้กิจการยังประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ทุกวันนี้

เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก และเป็นสิ่งหนึ่งที่ฉันพยายามหาคำตอบในหนังสือ The Cartiers ซึ่งตั้งแต่ต้น ตระกูลของเราได้ผ่านทั้งสงครามโลก การปฏิวัติต่างๆ และเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เมื่อปี 1929 แต่เราก็รอดมาได้ตลอด และกิจการกลับเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนมันมีหลายเหตุผลที่ฉันสามารถพูดถึงได้ แต่เหตุผล 3 ข้อหลักก็คือครอบครัวเรา เริ่มด้วยความรอบคอบด้านการเงิน การลองอะไรใหม่อยู่ตลอดเวลา และยืนหยัดว่าทุกสินค้าที่ขายต้องมาพร้อมคุณภาพที่ดีสุด โดยวลีที่ครอบครัว Cartier ใช้มาตลอดคือ “อย่าก๊อบปี้ แต่สร้างสรรค์ใหม่ตลอดเวลา (Never Copy, Only Create)” ซึ่งครอบครัว Cartier พยายามจะดีไซน์อะไรใหม่ๆ ตั้งแต่เข็มกลัดเนกไท จนถึงนาฬิกาที่หรูที่สุดในยุค 1920 ซึ่งเราพยายามที่จะผลิตสินค้าที่เข้าถึงรสนิยมและความต้องการของหลากหลายคน ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎเพชรในยุค Belle Époque (ยุคสวยงาม) นาฬิการุ่นสุดคลาสสิกอย่าง Tank หรือแค่แหวนสีทอง แต่ทุกอย่างที่เราทำก็ต้องรังสรรค์มาจากวัสดุที่ยอดเยี่ยมที่สุดและผ่านมือของช่างฝีมือที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ เพราะเหตุนี้ฉันเลยคิดว่าคนจึงกลับมาซื้อของ Cartier อยู่เสมอ

 

คุณจำสินค้า Cartier ชิ้นแรกที่เป็นเจ้าของได้ไหม

จำได้สิ ฉันได้แหวนทองสามชั้น (Triple Gold Ring) จากคุณพ่อคุณแม่ตอนเป็นวัยรุ่น ซึ่งฉันรักมันมากเพราะใส่ง่ายและดูชิค แม้จะเป็นดีไซน์กว่า 100 ปีก่อนหน้าที่ฉันจะได้รับ แต่ก็น่าเสียใจมากที่ฉันทำมันหายตอนไปว่ายน้ำที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในอีกไม่กี่ปีต่อมา แต่ก็โชคดีที่ต่อมาสามีของฉันก็ได้ซื้อแหวนรุ่นนี้ให้อีกครั้งเป็นของขวัญวันเกิด แถมฉันยังมารู้ตอนหลังว่าแหวนวงแรกที่หายไปนั้นตกอยู่ที่ใต้ท้องทะเลของ Côte d’Azur ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่ Coco Chanel โยนเครื่องประดับที่เธอได้มาจากคู่รักที่จับได้ว่านอกใจทิ้ง

 

สำหรับคนที่อยากเริ่มสะสมสินค้า Cartier คุณจะแนะนำอะไรเป็นชิ้นแรก

สิ่งสำคัญที่สุดคือลงทุนในไอเท็มที่คุณหลงรักจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ทำมาแล้วกว่า 100 ปี หรือจะเพิ่งผลิตก็ตาม คุณแค่ต้องเลือกสินค้าที่ทุกครั้งคุณสวมใส่และมองเห็นมันแล้วจะมีความสุข ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นของชิ้นใหญ่โตและเวอร์วังอะไร เพราะอย่างฉันก็แค่สวมใส่แหวนทองสามชั้นวงเล็กๆ ทุกวันที่ไม่ได้มีเพชรพลอย โดยหลายคนมักชอบถามฉันว่าสินค้าโปรดของ Cartier คืออะไร และถ้าให้ตอบจากจริงใจก็คือมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะในมุมฉัน ความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละชิ้นของ Cartier แบรนด์อื่นแทบจะเทียบไม่ได้ เพราะเรามีไอเท็มให้เลือกอย่างไม่รู้จบตั้งแต่นาฬิกา คัฟลิงก์ แหวน สร้อยคอ หรือกระเป๋า

 

จากซ้ายไปขวา: Jean-Jacques Cartier ขณะซื้อเพชรพลอย และคอลเล็กชันเพชรพลอย Tutti Frutti

 

ตอนนี้ภาพยนตร์ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลกก็คือ House of Gucci ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลที่ริเริ่มแบรนด์ลักชัวรีระดับตำนาน ผมเลยอยากรู้ว่าคุณจะสนใจไหมหากวงการฮอลีวูดของซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ ‘The Cartiers’ ไปทำภาพยนตร์

หนังสือ The Cartiers ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณต้องไปอ่านจำนวนคอมเมนต์บนแอ็กเคานต์อินสตาแกรมของฉัน @creatingcartier ที่คนชอบถามว่าสนใจดัดแปลงหนังสือเป็นซีรีส์ Netflix ไหม ซึ่งฉันก็สนใจนะที่จะให้เรื่องราวของตระกูลของฉันเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น แต่มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ทีมงานที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวบรรพบุรุษของฉันได้อย่างสมศักดิ์ศรีและสะท้อนคุณค่าของครอบครัวได้อย่างดี

 

คำถามสุดท้าย หากวันนี้คุณยังสามารถสนทนากับคุณปู่ได้ คุณคิดว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับผลงานที่คุณได้สืบทอดเรื่องราวของครอบครัว Cartier

ฉันหวังว่าเขาจะดีใจนะ เพราะตอนแรกที่ฉันเริ่มทำรีเสิร์ชสำหรับหนังสือเล่มนี้เขาก็มีความกังวล เพราะเขาไม่ชอบพูดเกี่ยวกับตัวเอง แต่พอมาช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา เขากลับชอบเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ฉันจำได้ว่ามักจะไปถึงบ้านของเขาที่ฝรั่งเศสทุกคืนวันศุกร์หลังฉันบินไฟลต์สุดท้ายออกจากลอนดอน ซึ่งคุณปู่นั่งรออยู่ในห้องครัวเพื่อจะได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขาจำได้ ราวกับว่าสิ่งที่ฉันสนใจในตัวเขากลับสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้ย้อนความทรงจำที่คนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

 

ความตั้งใจของการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้สนุกกับเรื่องราวด้วย ซึ่งฉันดีใจกับฟีดแบ็กและคอมเมนต์จากคนทั่วโลกเกี่ยวกับเรื่องที่ฉันเขียน โดยเฉพาะช่วงที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านเพราะสถานการณ์โควิด

 

ท้ายที่สุดฉันคิดว่าคุณปู่ฉันคงดีใจที่เรื่องราวชีวิตของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคน และวลีของครอบครัวเราที่ว่า “อย่าก๊อบปี้ แต่สร้างสรรค์ใหม่ตลอดเวลา (Never Copy, Only Create)” ก็ยังคงได้สานต่อไปยังเด็กรุ่นใหม่ด้วย

 

*หมายเหตุ: Francesca Cartier Brickell และครอบครัว Cartier ไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ Cartier แล้ว โดยทุกวันนี้กิจการอยู่ภายใต้บริษัท Richemont 

 

ภาพนิทรรศการ Lotus Arts de Vivre x Obsidian Objets d’Art: WOMEN are FOREVER – A Vintage Cartier Collection

 

ภาพ: Courtesy of Francesca Cartier Brickell / Lotus Arts de Vivre

FYI

สามารถชมนิทรรศการ Lotus Arts de Vivre x Obsidian Objets d’Art: WOMEN are FOREVER – A Vintage Cartier Collection ได้แล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2564 เวลา 10.30-19.30 น. ณ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ บูทีค โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising