×

สศค. เพิ่มเป้า GDP ปีนี้ เหลือ ‘ติดลบ’ 7.7% มองการเมืองยังไม่กระทบเศรษฐกิจ

โดย efinanceThai
29.10.2020
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย 64

พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้เป็นติดลบ 7.7% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.5% ขณะที่ในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 4.5%

 

ด้านการส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 7.8% และกลับมาขยายตัวได้ 6% ในปีหน้า ส่วนการนำเข้าปีนี้คาดว่าจะติดลบ 12.3% และกลับมาขยายตัวได้ 8% ในปี 2564 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะติดลบ 0.9% และปีหน้าอยู่ที่ 1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดอยู่ที่ 0.3% และปีหน้าอยู่ที่ 0.4%

 

สำหรับประมาณการครั้งนี้เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ด้านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวชัดเจน นำโดยกลุ่มเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

 

ขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชน ภาคเอกชน และต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนจะติดลบ 3% และการลงทุนภาคเอกชนจะติดลบ 9.8%

 

นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก

 

“เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 และเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับที่มั่นคง” พรชัยกล่าว

 

พรชัยกล่าวว่า สำหรับปี 2564 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 4.5% ภายใต้สมมติฐาน การส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ดี การใช้จ่ายภาครัฐทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท และการเบิกจ่ายจาก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามประกอบด้วย การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในหลายประเทศ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อทิศทางการค้าและเศรษฐกิจโลก การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมถึงความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจสูงขึ้นจากการดำเนินมาตรการการเงินการคลังของแต่ละประเทศ

 

พรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่าา ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้านั้นได้มีข้อสมมติฐาน 5 ด้าน ประกอบด้วย

 

  1. อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มดีขึ้น 

 

  1. คาดการณ์ค่าเงินบาท โดยคาดว่าเงินบาทของไทยปีนี้คาดว่าจะทรงตัวที่ 31.43 บาทต่อดอลลาร์ และในปีหน้าคาดว่าจะแข็งค่าที่ 30.89 บาทต่อดอลลาร์ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ​ (Fed) มีแผนที่จะออกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม

 

  1. ราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 41.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล และในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 44.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น รวมถึงการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันระหว่างกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตร

 

  1. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 6.7 ล้านคน และในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 8 ล้านคน โดยมองว่าแม้การท่องเที่ยวในปี 2563-2564 จะยังไม่ฟื้นตัว แต่หากมีการคิดค้นวัคซีนและสามารถนำมาให้ในผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก จะทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในปี 2564 กลับมาฟื้นตัวได้ ด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดปีนี้ที่ 330,000 ล้านบาท และปีหน้าที่ 400,000 ล้านบาท 

 

  1. รายจ่ายภาคสาธารณะ

 

ด้านปัจจัยทางการเมืองนั้นยังไม่ได้นำมาประเมินในครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินได้ปกติ แต่ยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์ต่อไป

 

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะอุปสงค์ สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

สำหรับภาคการส่งออกเดือนกันยายนพบว่า การส่งออกติดลบ 3.9% ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากการขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าคือ สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ขณะที่การส่งออกรถยนต์ น้ำมัน และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและแผงวงจรไฟฟ้ายังชะลอตัว ด้านการนำเข้าติดลบ 9.1%

 

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ติดลบ 0.7% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3% ต่อปี ขณะที่หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 47.9% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ

 

ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนกันยายนอยู่ที่ 251 แสนล้านดอลลาร์

 

ในด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัวได้ 0.1% และขยายตัวได้ 3.3% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 25 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 50.2 หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้านการลงทุนเอกชนปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัว 13.5% ต่อปี และขยายตัว 5% จากเดือนก่อนหน้า

 

รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์ 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising