×

พบฟอสซิลญาติใกล้ชิดของไดโนเสาร์จอมโหด ‘ทีเร็กซ์’ ที่ตัวโตพอๆ กันแต่เก่าแก่กว่า

โดย Mr.Vop
18.01.2024
  • LOADING...
Mcraeensis

ถ้าถามใครสักคนว่ารู้จักไดโนเสาร์พันธุ์ไหนบ้าง เชื่อว่าเจ้า ‘ทีเร็กซ์’ ผู้โด่งดังจะต้องเป็นหนึ่งในคำตอบที่ได้รับอย่างแน่นอน ล่าสุดได้มีผู้ค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองเท้าสปีชีส์ใหม่ ที่น่าจะเป็นสายพันธุ์ใกล้ชิดที่สุดของทีเร็กซ์ แต่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกก่อนเจ้าจอมโหด 5-7 ล้านปี

 

‘ทีเร็กซ์’ (T.Rex) คือชื่อที่ย่อมาจาก ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus Rex) คำว่าไทแรนโนซอรัส เป็นชื่อสกุล หมายถึง ‘กิ้งก่าทรราช’ ก่อนหน้านี้มีไดโนเสาร์ชนิดเดียวในสกุลนี้คือ ‘เร็กซ์’ (Rex) ที่หมายถึงราชา แต่เจ้าทีเร็กซ์จะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะจะมีอีกหนึ่งสมาชิกใหม่ที่ใช้สกุลเดียวกัน

 

นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อไดโนเสาร์สปีชีส์ใหม่ที่ค้นพบว่า ‘แมคเรเอนซิส’ (Mcraeensis) หรือชื่อเต็มว่า ‘ไทแรนโนซอรัส แมคเรเอนซิส’ ถ้าเราจะเรียกชื่อย่อตามแบบทีเร็กซ์ คงต้องเรียกมันว่า ทีแมคเรเอนซิส เชื่อว่าคงมีคนอยากย่อชื่อมันให้สั้นลงไปอีกว่า ‘ทีแมค’

 

 

ดร.เซบาสเตียน ดาลมาน (Sebastian G. Dalman) และทีมงาน นำฟอสซิลของ ‘ทีแมค’ ที่พบตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 มาวิเคราะห์ ฟอสซิลชุดนี้พบจากแหล่งขุดค้นบริเวณทะเลสาบฮอลล์ในนิวเม็กซิโก ซึ่งพื้นที่ตรงนี้คือฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือในยุคครีเทเชียสที่มีชื่อว่า ลารามิเดีย (Laramidia) แยกห่างจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกคือ แอปพาเลเชีย (Appalachia) โดยมีทะเลตื้นๆ คั่นไว้ตรงกลาง

 

จุดที่พบฟอสซิลทำให้ทีมงานสามารถระบุได้ว่า ไดโนเสาร์ในสกุลไทแรนโนซอรัสทุกชนิดน่าจะมีต้นกำเนิดจากทางตอนใต้ของลารามิเดียก่อนแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของพื้นทวีป

 

“เมื่อปีแรกๆ ที่พบฟอสซิลนี้ ลักษณะมันดูคล้ายกับทีเร็กซ์จนพาเอาหลายคนในตอนนั้นเข้าใจผิด” ดร.สเปนเซอร์ ลูคัส (Spencer Lucas) หนึ่งในทีมงานอธิบาย “ต่อมาในปี 2013 เมื่อทีมงานของเราเริ่มวิเคราะห์ลึกลงไป เราก็เริ่มพบความแตกต่างหลายจุดจนแน่ใจว่าที่เห็นอยู่นี้คือสปีชีส์ใหม่”

 

จุดเด่นที่สุดที่ทำให้เจ้าไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ และไทแรนโนซอรัส แมคเรเอนซิส แตกต่างกันมี 2 จุด จุดแรกคือลักษณะของกราม โดยกรามล่างของเจ้า ‘ทีเร็กซ์’ ที่วิวัฒนาการขึ้นภายหลัง ‘ทีแมค’ หลายล้านปีนั้นมีขนาดใหญ่กว่า แต่กลับมีซี่ฟันที่เล็กและห่างกว่า จุดนี้ทำให้ ‘ทีเร็กซ์’ มีพลังการกัดที่รุนแรงชนิดที่ว่าสามารถทะลุผ่านกล้ามเนื้อเข้าไปถึงกระดูกของไดโนเสาร์​กินพืชได้อย่างง่ายดาย​   

 

จุดที่ 2 คือสันคิ้ว โดยไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ได้วิวัฒนาการสันคิ้วจนสูงโด่งกว่าญาติของมันค่อนข้างชัดเจน อาจเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านการเพิ่มความสนใจกับเพศตรงข้าม ซึ่งญาติยุคแรกของมันไม่มีสันคิ้วโด่งแบบนี้ ถือเป็นเรื่องปกติของขั้นตอนวิวัฒนาการ

 

ทีมงานพบว่า ในช่วงต้นยุคครีเทเชียส ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่จะมีขนาดร่างกายไม่ใหญ่มาก ต่อมาเมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงช่วงคัมปาเนียน ซึ่งอยู่ประมาณช่วงกลางค่อนไปทางปลายยุคครีเทเชียส ไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะพวกกินพืชอย่างเช่น เซราทอปเซียน ฮาโดรซอร์ และไททันโนซอร์ ก็เริ่มมีขนาดร่างกายที่ใหญ่โตขึ้น ทำให้ไดโนเสาร์กินเนื้อโดยเฉพาะสกุลไทแรนโนซอรัส ยกตัวอย่างเช่น แมคเรเอนซิสที่ค้นพบใหม่นี้ ต้องวิวัฒนาการขนาดร่างกายให้ใหญ่โตตามไปด้วย จนพวกมันมีน้ำหนักเกือบ 10 ตัน และมีความยาวจากหัวถึงหาง 10-12 เมตร พูดง่ายๆ คือเมื่อไดโนเสาร์กินพืชตัวใหญ่ขึ้น ไดโนเสาร์กินเนื้อก็ตัวใหญ่ขึ้นตาม หลังจาก​นั้นการวิวัฒนาการด้านอื่นเพื่อให้มันเป็นนักล่าที่สมบูรณ์แบบก็ดำเนินไป จนมาถึงช่วงมาสทรีเชียน เราจึงได้พบกับเจ้า ‘ทีเร็กซ์’ ราชันย์แห่งไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีกรามอันทรงพลังพร้อมแรงกัดมหาศาล หากพวกมันไม่สูญพันธุ์ไปก็ยังไม่รู้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างมนุษย์เราจะมีโอกาสมาเดินอยู่บนโลกนี้หรือไม่

 

ทีมงานตีพิมพ์​เผยแพร่การค้นพบ​ครั้งนี้​ลงใน​วารสาร https://www.nature.com/articles/s41598-023-47011-0

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X