วันนี้ (24 สิงหาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นการพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย ระบุว่า ภาพรวมในประเทศสายพันธุ์เดลตาคือสายพันธุ์หลักในประเทศไทย จากการสุ่มตรวจ 2,295 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) 92.9% สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.71) 5.8% และสายพันธุ์เบตา (B.1.351) 1.3% และพบแค่ในส่วนภาคใต้ 29 ราย ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีการพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในโลกนี้เรามีองค์กรแห่งหนึ่งเรียกว่า GISAID เพื่อให้ประเทศทั่วโลกแชร์ข้อมูลร่วมกันเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผล ซึ่งจะมีข้อมูลการกลายพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งเดลตาเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ไกลจากสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิมมากที่สุด
ดร.วสันต์กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เดลตาสายพันธุ์หลักคือ B.1.617.2 มี 27 สายพันธุ์ย่อย แบ่งเป็น AY.1-AY.22 เนื่องจากบาง AY มีการแตกสายพันธุ์ออกไปอีก
ส่วนในประเทศไทยเราพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตา 4 ตัว คือ
- AY.4 หรือ B.1.617.2.4 สุ่มพบในเขตปทุมธานี 4 คน
- AY.6 หรือ B.1.617.2.6 สุ่มพบในประเทศไทย 1 คน
- AY.10 หรือ B.1.617.2.10 สุ่มพบในเขตกทม. 1 คน
- AY.12 หรือ B.1.617.2.12 สุ่มพบในเขตกทม. 1 คน
ทั้งนี้ วัฏจักรการระบาดของโลกตอนนี้จากสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นจุดศูนย์กลางของการกลายพันธุ์ เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์เดลตาแล้ว และต้องจับตาการกลายพันธุ์ย่อยต่างๆ โดยในประเทศไทยต้องจับตามอง AY.4
ประเด็นคือสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ของเดลตาเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร
ดร.วสันต์กล่าวว่า สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เราพบนั้นเป็นลูกหลานของสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ดังนั้นจากข้อมูลน่าจะสรุปได้ว่าสายพันธุ์ย่อยในไทยเป็นลูกหลานของสายพันธุ์เดลตาที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลมากพอว่าสายพันธุ์ย่อยหรือ AY ต่างๆ มีความดื้อต่อวัคซีนหรือดื้อต่อวัคซีนน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาในไทยหรือไม่
นพ.ศุภกิจกล่าวเสริมว่า สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย เพราะสายพันธุ์ย่อย AY ต่างๆ พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก และยังไม่มีข้อมูลว่าสายพันธุ์ย่อยแพร่เร็วขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นทุกวันอยู่แล้ว ตราบใดที่การกลายพันธุ์นั้นยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงให้เชื้อแพร่เร็วขึ้น อาการรุนแรงขึ้น หรือดื้อวัคซีนขึ้น ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนกรณีที่เราสุ่มตรวจพบนั้น คนที่ติดเชื้อกลายพันธุ์ยังไม่มีอาการที่แตกต่างจากผู้ที่ติดเชื้อปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังมีน้อยอยู่ยังต้องให้กรมควบคุมโรคติดตามข้อมูลต่อไป
สำหรับประเด็นสำคัญของการกลายพันธุ์ไวรัสไม่ใช่เรื่องของอาการของโรคและการรักษา เพราะในโรงพยาบาลไม่ว่าใครจะป่วยโควิดด้วยสายพันธุ์ใดก็ใช้วิธีการรักษาแบบเดียวกัน แต่ประเด็นที่ต้องจับตาคือมันจะหลบหลีกวัคซีนได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่