แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป แสดงวิสัยทัศน์ถึงอนาคตการศึกษา ต้องปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับโลกที่เครื่องจักรและหุ่นยนต์จะฉลาดกว่ามนุษย์ สอนให้คนมี LQ หรือ Q of Love เพื่อเรียนรู้ที่จะรัก ไม่ใช่รักที่จะเรียน ต้องปลูกฝังให้คนมี ‘วิสัยทัศน์ระดับโลก’ เคารพความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมทั้งต้องให้ความเคารพกับวิชาชีพครู
วันที่ 3 ธันวาคม 2562 ผู้สื่อข่าว THE STANDARD เข้าร่วมการประชุมเพื่อการศึกษาโลก 2019 หรือ Forum for World Education ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เวทีนี้มีผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกแสดงวิสัยทัศน์มากมาย เช่น ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์
แจ็ค หม่า เริ่มต้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Progress, Challenges and Opportunities ว่า ปัญหาที่ใหญ่และยากที่สุดของโลกคือการศึกษา โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก การศึกษาจึงต้องปรับตัวเปลี่ยนตาม เพราะ 50-60% ของอาชีพในโลกอนาคตกำลังจะหายไป ดังนั้นคำถามสำคัญคือ การศึกษาในอนาคตควรเป็นอย่างไร และอะไรที่ลูกหลานของเราต้องกังวล และสิ่งใดที่เราต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่
สิ่งแรกที่ แจ็ค หม่า เน้นย้ำคือ ครู เขากล่าวว่า ตอนเป็นเด็กครูภาษาอังกฤษของเขาเคยชมว่า “เธอสำเนียงดีกว่าครู” นั่นทำให้แจ็ค หม่ามีกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป หน้าที่ของครูจึงคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นและมั่นใจ “ถ้าเราไม่ให้แรงบันดาลใจครู ครูจะไปให้แรงบันดาลใจใคร
“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิรูประบบการศึกษา ครูที่ดีที่สุด เก่งที่สุด ต้องไปสอนในโรงเรียนที่ขาดโอกาส มากกว่าจะสอนในโรงเรียนที่มีนักเรียนเก่งแล้ว ต้องส่งเสริมตั้งแต่ระดับครูใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ ส่งต่อมายังครูผู้สอนในห้องเรียน และคุณภาพก็จะส่งต่อถึงเด็กในห้องเรียนนั่นเอง และต้องลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้
“ที่ใดเคารพครู ที่นั่นเคารพการเรียนรู้และเคารพอนาคต”
สิ่งที่สองที่ แจ็ค หม่า ให้ความสำคัญคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการลงมือทำจริงคือการเรียนที่ดีที่สุด
“สังคมคือมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด” แจ็ค หม่า ย้ำ “ขอให้คนรุ่นใหม่ตระหนักว่าการเรียนระดับอุดมศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันในหน้าที่การงาน อาลีบาบา กรุ๊ปไม่ได้จ้างคนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหรือเอ็มไอทีเพียงเพราะเขาจบจากสถาบันเหล่านั้น แต่เราจ้างบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ มีความต้องการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ บุคลากรที่เราจ้างงานคือคนที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“เด็กควรเรียนจบเร็วขึ้นและได้มีโอกาสทำงานพร้อมกับการเรียน เพื่อเข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ และต้องให้อำนาจเด็กรุ่นใหม่ในการตัดสินใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้เด็กได้รับโอกาส และเมื่อได้รับโอกาสก็ต้องมีความอดทน”
สิ่งที่สามที่ แจ็ค หม่า พูดถึงคือ การศึกษาต้องทำให้คนได้ค้นพบเป้าหมายของตัวเอง
“ต้องเปลี่ยนดัชนีวัดการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่แค่ใช้การทำแต่ข้อสอบ แต่ต้องทำให้เด็กรู้ว่าเขาเรียนหนังสือไปเพื่ออะไรในอนาคต ต้องให้เขารู้เป้าหมายที่ชัดเจน การศึกษาต้องทำให้เด็กได้เป็นคนที่ดีที่สุดในแบบของเขาเอง (Best of Himself)”
แจ็ค หม่าเปรียบเทียบว่า โรงเรียนควรเป็นเหมือนสวนสัตว์ ไม่ใช่ฟาร์ม เพราะเราไม่สามารถให้ดัชนีชี้วัดว่าไก่กับเสือใครเก่งกว่ากันจากการฟักไข่ เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีความถนัดและความสามารถไม่เหมือนกัน การศึกษาจึงควร Personalise หรือเฉพาะเจาะจงรายบุคคลมากขึ้น
“แต่ก่อนสอน 100 คนด้วย 1 วิธีการ แต่อนาคตต้องสอน 100 คนด้วย 100 วิธีการ”
สิ่งที่สี่ที่ แจ็ค หม่า ต้องการให้ปรับเปลี่ยนในการศึกษาคือ ต้องสอนให้คนเรียนรู้ที่จะรัก
“ความฉลาดทางสมอง หรือ IQ และความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ นั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีจากนี้คือ The Q of Love หรือ LQ ที่เป็นความฉลาดทางความรัก สิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่สังคมโลก และการทำงานในวันข้างหน้าที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ เครื่องจักรเหล่านี้มีเพียงชิป แต่ไม่มีความคิดจิตใจเฉกเช่นมนุษย์
“สมองอาจโดนแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ แต่หัวใจจะไม่มีใครแทนได้ การศึกษาต้องไม่ทำให้เด็กรักเรียนอย่างเดียว แต่ต้องเรียนที่จะรักด้วย หัวใจและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นี่เองที่จะทำให้เราเป็นผู้มีปัญญาญาณหรือ Wisdom เหนือปัญญาประดิษฐ์ที่แท้จริง
“สัตว์มีสัญชาตญาณ หุ่นยนต์มีความฉลาด มนุษย์มีปัญญา”
สิ่งสุดท้ายที่ แจ็ค หม่า เสนอแนวคิดคือ การเรียนการสอนในอนาคตต้องเน้นที่ ‘วิสัยทัศน์โลก’ (Global Vision)
“เราควรสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงความแตกต่าง เพื่อจะได้มีความเคารพต่อโลก เคารพความแตกต่าง เคารพทุกศาสนา เคารพทุกวัฒนธรรม เด็กทุกคนควรได้เรียนสิ่งเหล่านี้ และนี่คือคำตอบของการศึกษาโลก เพื่อให้เด็กได้เข้าใจ เรียนรู้ และให้เกียรติผู้อื่น
“คุณรู้ไหมว่าทำไมผู้นำผู้หญิงจึงสำคัญมากกับการทำงานในอนาคต เพราะผู้หญิงมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเข้าใจคนรอบข้างมากกว่าผู้ชาย เวลาไปช้อปปิ้งผู้ชายจะซื้อของให้ตัวเอง แต่ผู้หญิงจะซื้อของให้คนอื่นด้วย องค์กรควรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีบทบาทการทำงานมากขึ้น
“การศึกษาวันนี้ต้องวางแผนนึกถึงผู้คนในวันข้างหน้า ส่วนผู้คนในวันนี้ต้องออกแบบการศึกษาสำหรับอนาคต ผมเริ่มต้นอาชีพจากเป็นครู และหวังว่าอาชีพสุดท้ายคือได้ทำงานร่วมกับพวกคุณ และได้ทำอะไรให้กับการศึกษา ผมต้องการเรียนรู้ ทำงานกับทุกคน และร่วมหาหนทางแก้ปัญหาในอนาคตด้วยกัน” แจ็ค หม่าทิ้งท้าย พร้อมด้วยเสียงปรบมือกึกก้องทั่วทั้งห้อง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า