×

ส่องกระแส ‘ตู้เต่าบิน-สถานีชาร์จรถไฟฟ้า’ จะติดปีกให้กลุ่ม FORTH บินได้ไกลแค่ไหน

11.04.2022
  • LOADING...
เต่าบิน

นักวิเคราะห์ลุ้น FORTH โตก้าวกระโดดรอบใหม่ หลังธุรกิจ New S-Curve ติดตลาด ทั้งตู้เต่าบินที่ผู้บริโภคตอบรับดีจนเตรียมขยายจำนวนตู้เป็น 20,000 ตู้ภายใน 2 ปี และสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเข้าถึงเจาะกลุ่มผู้บริโภควงกว้าง แต่ติงราคาหุ้นร้อนแรงเกินการเติบโตของกำไร ขณะที่ผู้บริหารเตรียมปั้น ‘ฟอร์ท เวนดิ้ง’ เข้าตลาดใน 2 ปี 

 

อีกหนึ่งหุ้นร้อนแรงทั้งในแง่มุมของราคาหุ้นและเป็นกระแสสังคมในตอนนี้ ก็คือหุ้น บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น หรือ FORTH ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ‘ธุรกิจตู้’ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย 

 

โดยธุรกิจดั้งเดิมของ FORTH คือ ‘ตู้ชุมสายโทรศัพท์’ ภายใต้แบรนด์ Forth ที่ปลุกปั้นมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2549 

 

ต่อมา FORTH ได้ผุดธุรกิจตู้ให้บริการทางการเงินอัตโนมัติ ให้ชื่อว่า ‘ตู้บุญเติม’ ดำเนินการโดย บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART ซึ่งก่อตั้งในปี 2551 และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2557 โดยบริการของตู้บุญเติมครอบคลุมบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการชำระเงินออนไลน์ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ (ตู้เติมเงิน) 

 

และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ‘ตู้เต่าบิน’ ถูกจุดกระแสขึ้นมาโดยนักรีวิวคาเฟ่และเครื่องดื่มในโลกโซเชียลจนเป็นที่พูดถึงกันทั่วเมือง รวมไปถึงมีประเด็นการตั้งคำถามเชิงหยอกล้อกันในคอมมูนิตี้ว่าใครอยู่ในตู้เต่าบิน 

 

แม้จะรู้กันอยู่แล้วว่าไม่มีใครอยู่ง่วนชงชากาแฟในตู้ แต่กระแสเหล่านี้ทำให้ชื่อ FORTH เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักลงทุน ในฐานะผู้ผลิตและให้บริการ Vending Machine ที่ชื่อว่า ‘เต่าบิน’

 

นอกจากตู้เต่าบินแล้ว FORTH ยังมีอีก New S-Curve ที่จะมาเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร คือธุรกิจสถานีชาร์จและอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ Forth อีกด้วย 

 

ทั้งนี้ ธุรกิจ Vending Machine ดำเนินการโดยบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด และธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ดำเนินการโดย บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART)   ซึ่งหากประเมินพัฒนาการของตู้บุญเติมที่ผลักดันธุรกิจจนเติบโตและเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในระยะเวลา 7 ปี แล้ว สตอรีการเติบโตของ FORTH ที่กำลังจะเกิดขึ้นน่าจะเป็นการผลักดันบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อสร้างการเติบโตก้าวกระโดดให้กับกลุ่ม FORTH อีกครั้ง 

 

THE STANDARD WEALTH จึงชวนส่องโอกาสและความท้าทายของ ฟอร์ท เวนดิ้ง ดังนี้

 

  1. ธุรกิจ Vending Machine (ตู้เต่าบิน) แม้จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็น New S-Curve ของกลุ่ม FORTH แต่ก็ถูกตั้งคำถามถึงการเติบโตพอสมควร โดยล่าสุด ทางบริษัทวางเป้าหมายว่าจะขยายตู้เต่าบินให้เป็น 5,000 ตู้ในสิ้นปี 2565 (ณ ไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 818 ตู้) ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายมองว่าเป็นโจทย์ยากที่ FORTH อาจจะต้องยอมแพ้ แต่ก็บางรายก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เป้าหมายนี้จะสำเร็จ เพราะกระแสโซเชียลที่ตามหาและลิ้มลองเครื่องดื่มชงสดรสชาติใหม่ๆ ตลอดเวลา บวกกับการเลือกทำเลที่ตั้งตู้ที่เน้นแหล่งที่มียอดสัญจรสูง ทำให้อยู่ในเทรนด์การรีวิวได้ง่าย ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่ขยายพื้นที่วางตู้เต่าบินไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย 

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าตู้เต่าบินน่าจะสร้างการเติบโตก้าวกระโดดครั้งใหม่ให้กับกลุ่ม FORTH ได้ เนื่องจากจำนวนตู้ที่กำลังจะขยายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ต่อเนื่อง 3 ปี โดย FORTH ให้ข้อมูลแก่นักวิเคราะห์และนักลงทุนว่า ปี 2565 จะเพิ่มจำนวนตู้เต่าบินเป็น 5,000 ตู้ (จากสิ้นปี 2564 ที่มีจำนวน 546 ตู้) และปี 2566 จะเพิ่มตู้เต่าบินเป็น 10,000 ตู้ และเพิ่มเป็น 20,000 ตู้ในปี 2567 

 

ปัจจุบัน ตู้เต่าบินถูกตั้งอยู่บริเวณคอนโดมิเนียมกลางกรุงเทพฯ ประมาณ 47% รองลงมาคือภายในย่านโรงงานอุตสาหกรรมและห้าง ซึ่งยังมีสถานพยาบาล สถานศึกษาที่ตู้เต่าบินสามารถขยายจุดจัดวางได้อีกมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด 

 

“เรื่องการขยายจำนวนตู้และการหาทำเลที่ตั้ง เชื่อว่าไม่ใช่อุปสรรคของ FORTH แต่อย่างใด เพราะเคยผ่านจุดที่รุกสร้างตลาดสำหรับตู้บุญเติมมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนเป้าหมายจำนวนตู้ที่ดูเยอะนั้น หากเทียบโมเดลการขยายตู้บุญเติมในอดีตก็เชื่อว่า FORTH จะทำได้ดีเหมือนที่ผ่านมา” ณัฐพลกล่าว 

 

โดยปี 2557 ที่ FSMART เข้าตลาดนั้น มีตู้บุญเติมอยู่ราว 24,000 ตู้ จากนั้นขยายเป็น 65,000 ตู้ในปี 2558 และ 90,000 ตู้ในปี 2559 และ ณ ปัจจุบันมีตู้บุญเติมให้บริการอยู่ในตลาดราว 100,000 ตู้ 

 

ทางด้าน มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที มีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าเป้าหมายเรื่องการขยายจำนวนตู้นั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับ FORTH โดยเชื่อมั่นในชื่อชั้นของ ‘พงษ์ชัย อมตานนท์’ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ที่ปลุกปั้นธุรกิจตู้มาจนสำเร็จอย่างโชกโชน ทั้งตู้ชุมสายโทรศัพท์ ตู้บุญเติม และล่าสุด ตู้เต่าบิน นอกจากนี้ ‘พงษ์ชัย’ ยังเป็นผู้บริหารที่เป็นนักนวัตกรรม จึงเชื่อว่าโอกาสใหม่ๆ เหล่านี้จะสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว

 

ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจ Vending Machine ของ FORTH จะให้เช่าและแบ่งกันรับรู้รายได้กับผู้เช่า โดย FORTH จะมีรายได้จากการให้เช่าตู้ และจะรับรู้ส่วนแบ่งรายได้และกำไรจากการถือหุ้นฟอร์ท เวนดิ้ง ในสัดส่วน 45% โดยในปี 2565 FORTH ได้ประเมินรายได้จากฟอร์ท เวนดิ้ง อยู่ที่ 3,900 ล้านบาท

 

  1. ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แม้ FORTH จะไม่ใช่รายแรกๆ ที่กระโดดเข้ามาทำธุรกิจสถานีชาร์จ แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและผู้บริโภคมากพอสมควร 

 

ณัฐพลกล่างถึงจุดเด่นของธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ FORTH ว่ามีความเข้าถึงได้ง่าย และสามารถขยายการใช้งานไปสู่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ด้วย ทำให้โอกาสในการขายในตลาดต่างจังหวัดที่นิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์นั้นมีสูง ขณะที่ตัวสถานีชาร์จก็มีการขายพร้อมกับติดตั้งและมีบริการหลังการขาย จึงได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคได้ 

 

นอกจากนี้ FORTH ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ EV ระดับโลก จึงได้รับเครดิตด้านความน่าเชื่อถือด้านความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV 

 

มงคลให้น้ำหนักต่อธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าว่าเป็นปัจจัยผลักดันราคาหุ้น FORTH มากกว่าตู้เต่าบิน เพราะเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีความชัดเจนเชิงนโยบายที่ส่งเสริมธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นแล้ว อีกทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมและตลาดน่าจะใหญ่กว่าธุรกิจตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ 

 

ชี้ราคาหุ้น ‘ร้อนแรง’ เกินพื้นฐาน

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น FORTH ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน (8 เมษายน) ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 56.84% และคิดเป็นอัตราส่วนค่า P/E ที่ 43.03 เท่า มี P/BV อยู่ที่ 18.26 เท่า ส่วนค่า Beta อยู่ที่ 1.08 เท่า 

 

ส่วนเมื่อวานนี้ (11 เมษายน) ราคาหุ้นปิดที่ 37.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.75 บาท หรือ 11.28% จากวันก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขาย 706.78 ล้านบาท 

 

ณัฐพลกล่าวว่า แม้จะมี New S-Curve เข้ามาผลักดันผลประกอบการโดยรวม แต่ราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงโดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ผ่านมาถือว่าสูงเกินปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว ซึ่งประเมินว่าเป็นเพราะภาวะตลาดหุ้นไทยปัจจุบันที่แกว่งตัวในกรอบแคบ นักลงทุนจึงเน้นการลงทุนแบบ Selective โดยเลือกหุ้นที่อยู่ในช่วงขาขึ้นและมีสตอรีหนุน

 

บทวิเคราะห์ บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นคาดว่าสะท้อนการขยายตู้เต่าบินไปไกล อิง Earnings Contribution ของธุรกิจเดิมและตู้เต่าบินในปี 2565 ที่ 80% ต่อ 20% ตามประมาณการของฝ่ายวิจัย แม้เป็นไปได้ว่าประมาณการของเราอาจ Underestimate สิ่งที่อาจเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันธุรกิจตู้เต่าบินยังอยู่ใน Early Phase มีจำนวนตู้ราว 700-800 ตู้ ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนเรื่องการขยายรวมถึงจำนวนแก้วและราคาขายที่ทำได้ในอนาคต 

 

โบรกหั่นเป้ากำไร หวั่นชิปขาดแคลนกระทบ

ขณะเดียวกัน ฝ่านวิจัยได้ปรับประมาณกำไรปี 2565 ลงมาที่ 912 ล้านบาท (คิดเป็นการเติบโต 26% จากปีที่แล้ว) ลดลงจากประมาณการเดิมราว 6% สะท้อนสมมติฐานธุรกิจเครื่องชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ ‘เต่าบิน’ ใหม่ หลังบริษัทปรับเป้าการขยายตู้ในปี 2565 ลงมาที่ 5,000 ตู้ จากเดิม 10,000 ตู้ แต่ราคาขายเฉลี่ยต่อแก้วปรับขึ้นมาที่ 35 บาท จากเดิม 30 บาท สะท้อนราคาขายเฉลี่ยในปัจจุบัน ทำให้ Earnings Contribution ในปี 2565 คาดอยู่ที่ 178 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 20%

 

บทวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ประเมินแนวโน้มผลประกอบการ FORTH ว่าแนวโน้มปี 2565 ยังเติบโตเด่น แม้การขยายตู้เต่าบินจะช้ากว่าที่คาด โดยหนุนจาก 1. ธุรกิจอีเอ็มเอส ที่มีปัจจัยหนุนจากการรับจ้างผลิต Power Board จากลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงการเร่งผลิตตู้เต่าบินในปี 2565 และ 2. ธุรกิจสมาร์ท เซอร์วิส ที่คาดว่าในปี 2565 จะเห็นการรับรู้รายได้จากบริการต่างๆ ที่เปิดตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2564 เช่น บริการถอนเงิน การเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น บริการสินเชื่อรายย่อยและบริการเคาน์เตอร์แคชเชียร์ รวมถึงบริการใหม่ที่เตรียมเปิดตัว เช่น บริการโอนเงินต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ ตู้เต่าบินที่เป็น New S-Curve จะเห็นการขยายจุดบริการแบบก้าวกระโดด โดยมีกระแสตอบรับที่ดี แม้ว่าปัญหาขาดแคลนชิปจะทำให้บริษัทปรับลดเป้าในการตั้งตู้เต่าบินลงเหลือ 4,000-5,000 ตู้ในปี 2565 แต่บริษัทยังคงเป้าที่จะขยาย 20,000 ตู้ภายใน 2 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่น ยังต้องลุ้นงานประมูลจากภาครัฐ แต่บริษัทยังมี Backlog กว่า 9,700 ล้านบาท

 

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการรายได้ในปี 2565 ลดลง 7.2% มาอยู่ที่ 9,790 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2565 ลดลง 3.7% มาอยู่ที่ 948 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของชิปที่ขาดตลาด รวมถึงกำลังซื้อในประเทศลดลงจนทำให้บริษัทปรับเป้าในการขยายตู้เต่าบินลดลงเหลือเพียง 4,000-5,000 ตู้ในปี 2565 จากเดิมที่ 10,000 ตู้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X