×

สรุปกรณี ‘Forex-3D’ จากลงทุนตอบแทนสูงสู่แชร์ลูกโซ่ใหญ่ จากชีวิตคนรวยสู่คนร้าย

โดย THE STANDARD TEAM
16.09.2022
  • LOADING...
Forex-3D

“ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี เห็นว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง ค่าเสียหายตามฟ้องมีจำนวนมาก มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยที่ 2 สาวิกา ไชยเดช และจำเลยที่ 3 สรินญา ไชยเดช น่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

 

คำสั่งศาลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เกิดขึ้นภายหลังที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องสาวิกาหรือพิงกี้ พี่ชาย และแม่ของเธอกับพวกรวม 19 คน ในความผิดฐานทุจริต โดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงจากการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านระบบเว็บไซต์ www.forex-3D.com และผ่านเฟซบุ๊ก

 

หลังจากวันนั้น ระลอกความเสียหายของการลงทุนในธุรกิจที่ใช้ชื่อว่า ‘Forex-3D’ เริ่มซัดสาดเข้าไปในหลายวงการ ที่หนักและรุนแรงสุดตกไปอยู่ที่วงการบันเทิง เมื่อมีการเปิดเผยรายชื่อนักแสดงและศิลปินหลายคนในฐานข้อมูลการลงทุน ทั้งแบบลูกข่าย (ผู้ร่วมลงทุนอย่างเดียว) และแม่ข่าย (ผู้ที่ลงทุนและชักชวนให้บุคคลอื่นมาร่วมลงทุน)

 

เคสพิงกี้ และ ดีเจแมน-ใบเตยไม่เหมือนกัน

สำหรับคดีแชร์ Forex-3D พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องทั้งหมด 3 สำนวน แบ่งเป็น คดีที่ 1 มี อภิรักษ์ โกฎธิ กับพวกรวม 4 คน คดีที่ 2 มี สุภิญโญ มีสมปราชญ์ รวม 2 สำนวน (คดีที่ 1 และ 2) จึงมีผู้ต้องหารวม 5 คน คดีที่ 3 ยื่นฟ้อง สรายุทธ ไชยเดช (พี่ชายพิงกี้) กับพวกรวม 19 คน ซึ่งมีพิงกี้และมารดาอยู่ด้วย 3 สำนวน รวมทั้งหมดมีจำเลย 24 คน

 

พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ว่า คดีของพิงกี้ พี่ชาย และมารดา เป็นกลุ่มผู้ต้องหาที่มีพฤติการณ์ร่วมลงทุนหรือชักชวนให้มีผู้เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งกรณีของพิงกี้ จากข้อมูลมีหลักฐานยืนยันได้ว่ามีการเซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้บริหาร และมีการรู้จักผ่านทางพี่ชายที่เป็นผู้ต้องหาในกลุ่มเดียวกัน

 

ฝั่งของ พัฒนพล มินทะขิน สกุลเดิม กุญชร ณ อยุธยา หรือ ดีเจแมน และ สุธีวัน กุญชร หรือ ใบเตย อาร์สยาม ทั้ง 2 จัดอยู่ในกลุ่มที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้มีการแนะนำทาง DSI ให้ดำเนินคดีส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นผู้ร่วมกระทำผิด กลุ่มนี้มีจำนวน 16 คน

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 นิติธร แก้วโต ทนายความของดีเจแมนและใบเตย กล่าวว่า ทั้งสองเป็นผู้เสียหายที่ถูกชักชวนมาร่วมลงทุน และทั้งสองไม่เคยมีการชักชวนหรือโพสต์ข้อความให้ใครมาร่วมลงทุนต่อ ทางดีเจแมนเองยังอยู่ในสถานะขาดทุนประมาณ 700,000 บาทด้วยซ้ำ

 

กระทิงที่มีชื่อในการลงทุน แต่ไม่มีชื่อในระบบสืบสวน

กรณีของ ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์ หรือ กระทิง นักแสดงชายที่มีชื่อปรากฏในตารางการลงทุนของ Forex-3D ที่ถูกเผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊ก ‘รวบรวมผู้โดนโกง จาก Forex 3d’ จำนวนเงินลงทุน 1,200,000 บาท และมีดาวน์ไลน์ (ทีมงานที่หามาได้) 14 รายชื่อ ในจำนวนนั้นมีแฟนสาว ดาราชาย นักร้องและนักแต่งเพลงรวมอยู่ด้วย

 

หลังมีการเผยแพร่ข้อมูลชุดดังกล่าว ทำให้สังคมเริ่มมีการตั้งคำถาม เกิดข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ และช่วยสืบหาหลักฐานมาแลกเปลี่ยนกัน เช่นในทวิตเตอร์ผ่าน #Forex3D ที่ถูกพูดถึงจนติดเทรนด์อันดับ 1 ของประเทศ เพื่อประกอบกับข้อมูลชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายร่วมกันของดาราที่ปรากฏชื่อกับเจ้าของ คณะกรรมการการลงทุน (ปัจจุบันอยู่ในสถานะผู้ต้องหาทางคดี) หรือแม้แต่พูดคุยว่าทำไมพวกเขาไม่แจ้งความเอาผิดทางกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์

 

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2565 ร.ต. ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวว่า ชื่อของดาราคนดังกล่าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่เคยปรากฏในสารบบการสืบสวนสอบสวนของ DSI ตั้งแต่การเริ่มต้นรับแจ้งความจากผู้เสียหายจำนวนกว่า 10,000 คน ไม่ได้มีบุคคลใดที่ให้การซักทอดไปถึงดาราคนดังกล่าว

 

ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากดาราคนดังกล่าวและบุคคลใกล้ชิดอาจมีการพูดคุยไกล่เกลี่ยค่าเสียหายกันจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วจึงไม่ติดใจเอาความ รูปแบบที่ 2 คือยังไม่ได้มีการเข้ามาแจ้งความ ทั้งนี้ หากทางอัยการเห็นว่าดาราคนดังกล่าวจะต้องถูกส่งฟ้องในคดีด้วย ก็อาจมีคำแนะนำกลับมาให้ทาง DSI ดำเนินการได้

 

จุดเริ่มต้นของธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง

พฤติการณ์ตามที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการคดีพิเศษ 4 ระบุไว้ว่า ตั้งเเต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 – 8 กันยายน 2563 จำเลยมีเจตนาทุจริตและหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และบังอาจร่วมกันหลอกลวงประชาชนโดยโฆษณาชักชวนหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนทั่วไปหรือแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ www.forex-3D.com และผ่านทาง Facebook ชื่อว่า ‘Apiruk Krub’, ‘Apirak Kothi’ และ ‘Forex-md’

 

จำเลยมีทีมงานมืออาชีพ หรือ Forex Trader เป็นผู้ทำการลงทุนแทนผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้โดยไม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายหรือเทรดเงินตราต่างประเทศ โดยนักลงทุนฝากเงินเข้ามาก็สามารถที่จะรอรับเงินปันผลได้เลย โดยที่มีการประกันเงินต้น 100%

 

ในช่วงแรกผู้ลงทุนต้องลงเงินเริ่มต้นอยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 15,000 บาท ต่อมามีการเพิ่มการลงทุนขั้นต่ำเป็น 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 50,000 บาท โดยนักลงทุนจะมีระดับการลงทุนหรือรูปแบบการลงทุน ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินลงทุนและระยะเวลาการลงทุน แบ่งเป็น 5 รูปแบบ (Class) ดังนี้

 

  1. Class Bronze ส่วนแบ่งกำไร 60 ต่อ 40 (ผู้ลงทุน:บริษัท) คำสั่งถอน 20 วันต่อครั้ง ทุนขั้นต่ำ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

  1. Class Silver ส่วนแบ่งกำไร 65 ต่อ 35 (ผู้ลงทุน:บริษัท) คำสั่งถอน 15 วันต่อครั้ง ทุนขั้นต่ำ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ อายุบัญชีการลงทุน 6 เดือน

 

  1. Class Gold ส่วนแบ่งกำไร 70 ต่อ 30 (ผู้ลงทุน:บริษัท) คำสั่งถอน 10 วันต่อครั้ง วันต่อครั้ง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ อายุบัญชีการลงทุนมากกว่า 2 ปี

 

  1. Class Platinum ส่วนแบ่งกำไร 35 ต่อ 25 (ผู้ลงทุน:บริษัท) คำสั่งถอน 5 วันต่อครั้ง ทุนขั้นต่ำ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ อายุบัญชีการลงทุนมากกว่า 3 ปี

 

  1. Class Diamond ส่วนแบ่งกำไร 40 ต่อ 20 (ผู้ลงทุน:บริษัท) คำสั่งถอน 20 วันต่อครั้ง ทุนขั้นต่ำ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ อายุบัญชีการลงทุนมากกว่า 5 ปี

 

เมื่อเริ่มสมัครผู้ลงทุนจะได้รับ Class Bronze ที่เป็นแผนการลงทุนเริ่มต้น ผลกำไรของผู้ลงทุนแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับ Class ที่ผู้ลงทุนแต่ละรายลงเงินไป

 

โดยผู้ลงทุนจะต้องทำสัญญากับจำเลยที่เรียกว่า ‘สัญญาร่วมทุนเพื่อเปิดบัญชีหรือเพิ่มทุน ขาย แลกเปลี่ยนหุ้น เงินตรา และหลักทรัพย์’ โดยทำสัญญาในนามของบริษัท อาร์ เอ็ม เอส แฟมิเลีย จำกัด ลงนามโดย อภิรักษ์ โกฎธิ ซึ่งในสัญญาระบุว่าต้องลงทุนนาน 3 เดือน จึงจะสามารถถอนเงินทุนออกมาได้ทั้งหมด ช่วงแรกผู้ลงทุนต้องโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของ อภิรักษ์ โกฎธิ ต่อมาผู้ลงทุนต้องโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบริษัท มีดี เพย์ จำกัด

 

พนักงานอัยการได้ระบุไว้ว่า การโฆษณาชักชวนหลอกลวงประชาชนของจำเลยเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่ได้ประกอบกิจการซื้อขายหรือเทรดเงินตราต่างประเทศ (Forex) จริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่เคยมีการให้ใบอนุญาตแก่บุคคลหรือนิติบุคคลใดเพื่อให้บริการลงทุนโดยเก็งกำไรจากการซื้อขายหรือเทรดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex) ในประเทศไทย

 

เงินลงทุนหลายพันล้านบาทอันตรธานไปไหน

ทีมข่าว THE STANDARD ได้นำชื่อทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท อาร์ เอ็ม เอส แฟมิเลีย จำกัด และบริษัท มีดี เพย์ จำกัด ไปทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่า

 

‘บริษัท อาร์ เอ็ม เอส แฟมิเลีย จำกัด’ ที่ระบบแสดง บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินตรา การลงทุน รวมถึงไม่พบชื่อของ อภิรักษ์ โกฎธิ เกี่ยวข้อง ทีมจึงค้นหาต่อไปจนพบการตั้งกระทู้คำถามในเว็บไซต์หนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ระบุว่า “ใครพอรู้จัก บ.อาร์ เอ็ม เอส แฟมิเลีย บ้าง บริษัทนี้นี่เขารับบริการลงทุนทางการเงินแบบระดมทุนเหรอครับ ขอทราบรายละเอียดจากผู้รู้ครับ” หลังจากนั้นมีผู้มาตอบกระทู้ดังกล่าวในเชิงชักชวนให้ร่วมลงทุน โดยแนบข้อมูลติดต่อไว้ตอนท้าย

 

‘บริษัท มีดี เพย์ จำกัด’ จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ด้วยทุน 5 ล้านบาท ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนคือ กิจกรรมการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินล่าสุด (ปี 2561) การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

 

มีรายชื่อคณะกรรมการ 3 คน คือ ศิษฎ์ธนาฒย์ โพธิ์เงิน, นิโก โวคูคา และ สุภิญโญ มีสมปราชญ์ อัตราส่วนทางการเงินเบื้องต้นในส่วนผลตอบแทนจากกำไรสุทธิต่อรายได้รวม ปี 2560 ร้อยละ 71, ปี 2561 ร้อยละ -3755

 

ผลตอบแทนที่แสนเย้ายวน

บริษัท อาร์ เอ็ม เอส แฟมิเลีย จำกัด ที่รับโอนเงินลงทุน มีการอ้างว่าจะนำเงินของผู้ลงทุนไปซื้อขายหรือเทรดเงินตราต่างประเทศให้ ซึ่งผู้ลงทุนจะถอนเงินกำไรออกมาได้หลังจากบริษัท อาร์ เอ็ม เอส แฟมิเลีย จํากัด เปิดการซื้อขายหรือเทรดแล้วมีกำไรในพอร์ตลงทุนมากกว่า 8% ขึ้นไป จึงจะสามารถถอนกำไรออกมาได้

 

นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังได้รับค่าแนะนำ หรือ IB Partner หากสามารถชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุน โดยการส่งลิงก์ (Link) ต่อ เมื่อผู้ถูกชักชวนสมัครลงทุนระบบจะทราบว่าผู้ชักชวนคือใคร เมื่อผู้ลงทุนรายใหม่ลงทุนในระบบของ www.forex-md.com และได้กำไร ผู้ชักชวนจะได้รับเงินค่าแนะนำ 5% ของเงินกำไรของผู้ถูกชักชวน และลดหลั่นลงไป 3% หรือ 1% ตามชั้นของผู้แนะนำ ซึ่งจะได้รวมทั้งหมด 3 ขั้น

 

การลงทุนตามเงื่อนไขต่างๆ ผู้ลงทุนจะได้รับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนคำนวณได้เป็นอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8-10 ต่อเดือน หรืออย่างน้อยร้อยละ 20-60 ต่อปี ของเงินที่นำมาลงทุน

 

ตัวเลขตอบแทนที่สูงเกินกว่านำเงินไปฝากธนาคาร และทำค้าขายในยุคข้าวยากหมากแพงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ดูดให้ผู้ร่วม ที่ต่อมาเป็นผู้เสียหายจำนวน 9,824 คน (ที่แจ้งความดำเนินคดี) หลงเชื่อและอยากทดลอง ซึ่งในท้ายที่สุดความเสียหายที่ได้รับการเปิดเผยจาก 9,824 กรรม มียอดรวมสูงถึงรวมกว่า 2,489,820,321.52 บาท

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising