‘Forever 21’ ประกาศรุกตลาดอีกครั้งในรอบ 3 ปี เดินหน้าปรับภาพลักษณ์แบรนด์ เพิ่มคอลเล็กชันใหม่ ชูจุดขายราคาเข้าถึงง่ายและมีความเป็นแฟชั่นหรู เจาะกลุ่มวัยรุ่น พร้อมขยายสาขาในสหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น หวังชิงมาร์เก็ตแชร์กลับคืนให้เร็วที่สุด
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า Forever 21 เชนฟาสต์แฟชั่นชื่อดังของอเมริกา
ได้ประกาศรุกตลาดอีกครั้งหลังจากยื่นขอล้มละลายไปเมื่อปี 2019
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต่อเนื่องจากการยื่นล้มละลาย! Forever 21 เตรียมขายทรัพย์สินมูลค่า 2.5 พันล้านบาท
- บริษัทแม่ของ Forever 21 เตรียม IPO ในปีนี้ คาด Market Cap ทะลุ 3.1 แสนล้านบาทหลังติดนามสกุลมหาชน
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
Winnie Park ซีอีโอ Forever 2021 กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดสาขาใหม่ทั่วโลก เบื้องต้นเปิดในอเมริกาจำนวน 14 สาขา และญี่ปุ่นจำนวน 15 สาขา ภายในปี 2028 ร้านส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กลงในรูปแบบสแตนด์อโลน เน้นเปิดในพื้นที่เอาต์เล็ตและศูนย์การค้า รวมไปถึงการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ ในสาขาที่มีทั้งหมด 572 แห่งทั่วโลก
สำหรับกลยุทธ์การกลับมาของ Forever 21 มุ่งให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับดีไซเนอร์ชื่อดังเพื่อพัฒนาคอลเล็กชันใหม่ๆ โดยที่ผ่านมาได้เปิดตัวคอลเล็กชันธีม Y2K ในรูปแบบการร่วมมือกับดีไซเนอร์ Hervé Léger ตามด้วยคอลเล็กชัน Hello Kitty และ Barbie Park ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ควบคู่กับการเพิ่มน้ำหนักช่องทางออนไลน์เพื่อรองรับตลาดอีคอมเมิร์ชที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้แบรนด์เข้าถึงและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ หรือ Gen Z มากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Forever 21 ไม่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้า Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลได้ เพราะส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวเริ่มหันไปสนใจแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น
ซีอีโอของ Forever 2021 กล่าวต่อถึงการทำตลาดในญี่ปุ่น เตรียมเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ที่พัฒนาโดย Adastria ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่นได้อย่างมาก เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 18- 30 ปี สินค้ามีราคาเฉลี่ยเริ่มต้นประมาณ 4,000 เยน (100 บาท) ถือว่าสอดคล้องกับจุดขายด้านราคาที่เข้าถึงง่ายและมีความเป็นแฟชั่น
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมวางแผนเรื่องสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การบริหารสินค้าคงคลัง ตามด้วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต และนำผ้าที่ใช้แล้วไปต่อยอดทำอย่างอื่น โดยหวังช่วยลดปริมาณเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น
Erin Schmidt นักวิเคราะห์อาวุโสของ Coresight Research กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดฟาสต์แฟชั่นมีการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งผู้เล่นรายเล็กและรายใหญ่ อย่าง Zara และ Shein ที่พัฒนาสินค้าคอลเล็กชันใหม่ๆ ออกมาทุก 2 สัปดาห์ พร้อมยังเตรียมขยายศูนย์กระจายสินค้าในอเมริกาเพิ่มอีก 2 แห่ง
แน่นอนว่า Forever 21 ต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก จึงต้องรีบรีแบรนด์สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมาให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Forever 21 ฟาสต์แฟชั่นแบรนด์ดังมีสาขาอยู่ราวๆ 815 แห่งทั่วโลก ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันสูง บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องขอยื่นล้มละลายในปี 2019 และในช่วงนั้นได้ปิดร้านค้าในอเมริกาไป 178 สาขา รวมถึงการปิดสาขาในเอเชียและยุโรป แต่ยังคงดำเนินการในประเทศเม็กซิโกและลาตินอเมริกา
อ้างอิง: