เรื่องฝีเท้าเราไม่เน้น แต่ถ้าเรื่องนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้ สโมสรฟุตบอลระดับลีกทูของอังกฤษแห่งนี้ไม่มีวันยอมแพ้ใครเป็นอันขาด
สโมสรฟุตบอลดังกล่าวคือ ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส ซึ่งมี เดล วินซ์ นักธุรกิจผู้เชื่อมั่นใน ‘พลังงานสีเขียว’ ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้กลับมาน่าอยู่อีกครั้งอย่างยั่งยืนเป็นเจ้าของ และเป็นจุดยืนที่แข็งแกร่งของทีมฟุตบอลเล็กๆ แห่งนี้ที่ทำให้ได้รับการยกย่องจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้เป็น The Greenest Football Club in the World ในปี 2017 และจากสหประชาชาติให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน
ย้อนหลังกลับไป 2 ปีที่แล้ว ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส เคยสร้างความฮือฮาด้วยการทำเสื้อที่ผลิตจากไม้ไผ่มาแล้ว แต่เวลานี้พวกเขาสามารถคิดค้นวัสดุที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตได้ดีกว่า
วัตถุดิบที่ว่าคือ ‘กากกาแฟ’ ที่เป็นของเหลือทิ้งที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละวัน โดยเสื้อแข่งรุ่นใหม่ที่จะเริ่มผลิตสำหรับการแข่งขันในฤดูกาลหน้า 2021-22 จะผลิตจากกากกาแฟจำนวน 3 ถ้วย และขวดพลาสติก 5 ขวดต่อเสื้อ 1 ตัว ซึ่งมาจากการพัฒนาร่วมกับ PlayerLayer
“มันไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของการลดการนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการ” วินซ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสโมสรแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2011 กล่าว
“เสื้อแข่งนี้เป็นการผสมกันระหว่างกากกาแฟที่ถูกบดละเอียดกับพลาสติกจากขวดที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตี่พิเศษ ดังนั้นทุกอย่างในชุดแข่งนี้จึงมาจากการวัสดุรีไซเคิลหรือออร์แกนิก”
แน่นอนว่าการคิดค้นอะไรขึ้นมาใหม่ทั้งทีนั้นพวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ ‘กิมมิก’ เล็กๆ น้อยๆ ในการเป็นจุดขาย แต่วัตถุดิบในการผลิตใหม่นี้ต้องเป็นของที่ดีกว่าของเดิมด้วย
“เราคิดว่ามันมีน้ำหนักเบากว่าไม้ไผ่ และมันก็ระบายอากาศได้ดีกว่าด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมประหลาดใจมาก แต่ก็มีเรื่องของประโยชน์ในเรื่องของประสิทธิภาพซึ่งเป็นผลจากการลดจำนวนการใช้พลาสติก มันจะทำให้เหงื่อออกมากขึ้นและร้อนขึ้น
“แต่มันจำเป็นต้องมีการผสมกันเพราะว่าเสื้อแข่งนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความแข็งแรงมาก
“เสื้อแข่งใหม่นี้จะมีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะในขณะที่ไม้ไผ่ยังเติบโตขึ้นใหม่ได้แต่กากกาแฟเป็นเศษวัสดุเหลือทิ้ง นั่นหมายถึงเสื้อแข่งนี้จะเป็นการผลิตซ้ำใหม่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมด”
เจ้าของสโมสรรายนี้ยังมีแนวคิดที่แฟนของสโมสรน่าจะชอบใจ เพราะเพื่อไม่ให้เกิดการผลิตจำนวนที่มากเกินความจำเป็น ดังนั้น ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส จะมีการเปลี่ยนแปลงชุดแข่งของพวกเขาเพียงแค่ 1 ชุดต่อ 1 ปีเท่านั้น ในขณะที่สโมสรส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนชุดแข่งทั้งหมด 2-3 ชุดต่อปี หรือสำหรับทีมระดับชั้นนำอาจจะมีชุดแข่งมากถึง 5-6 ชุดต่อปีที่ใช้แตกต่างไปในแต่ละรายการ
พวกเขาไม่ได้ทำแค่นี้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างของสโมสรนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดเพื่อความยั่งยืน
มีอะไรบ้าง? ตั้งแต่พลังงานที่ใช้ของสโมสรผลิตจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำจากการรีไซเคิลและพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เป็นสโมสรที่ใช้พลังงานจากการรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์, อาหารของนักฟุตบอลเป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์, หญ้าในสนามเป็นหญ้าที่ปลูกขึ้นเองแบบออร์แกนิกทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีแผนในการสร้างรถไฟฟ้าสำหรับใช้งานในสโมสร และเมกะโปรเจคกต์ของพวกเขาคือสนามแข่งที่สร้างจากไม้ทั้งหมด
จุดยืนที่ดีต่อโลกซึ่งก็จะดีต่อเราทุกคนด้วยทำให้พวกเขาชนะใจผู้คนได้เป็นจำนวนมาก รวมถึง เฮคเตอร์ เบเยริน แบ็กขวาอาร์เซนอลที่ขอมีส่วนร่วมลงทุนกับ 3 โปรเจกต์กับสโมสรแห่งนี้
“ผมคิดว่าเราได้เห็นตัวอย่างดีๆ ที่นักฟุตบอลได้เข้ามามีส่วนร่วมและใช้แพลตฟอร์มของพวกเขาในการสื่อสาร นักฟุตบอลเหล่านี้มีความสามารถที่จะสามารถชี้นำผู้คนได้
“เกมกีฬานั้นคือโอกาสอันยิ่งใหญ่และสามารถรับผิดชอบต่อโลกได้มากกว่านี้ เพราะทุกคนต่างก็เฝ้าไอคอนในเกมกีฬาและพร้อมจะทำตามพวกเขา” วินซ์ กล่าว
หากเจ้าของสโมสรทุกแห่งหรือเจ้าของกิจการทุกแห่งบนโลกใบนี้จะคิดได้แบบนี้ โลกของเราคงจะน่าอยู่ขึ้นอีกมากแน่นอน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: