×

ต่างชาติมองหุ้นไทย ‘ลงทุนได้มากสุด’ ในอาเซียน ไม่ใช่ด้วยการเติบโต แต่คือสภาพคล่องที่มากพอ

28.08.2023
  • LOADING...
ตลาดหุ้นไทย

HIGHLIGHTS

  • ตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในอาเซียนยังคงเป็นตลาดที่ลงทุนได้ (Investability) มากที่สุด ด้วยเรื่องของสภาพคล่องที่มากเพียงพอต่อการซื้อหรือขาย
  • หากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของไทยไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หุ้นไทยจะยังน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนหุ้นรายตัวที่ต่างชาติสนใจซื้อขาย มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันควรจะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท 
  • ปัญหาคือ ความน่าสนใจทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มในอนาคตของทั้งตลาดโดยภาพรวมและทั้งกับหุ้นรายตัวที่ไม่ได้โดดเด่นนัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงซื้อขายในตลาดหุ้นไทยส่วนมากจะเป็นลักษณะของการเทรดดิ้ง ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับทิศทางของตลาดว่าจะปรับขึ้นหรือลง
  • วัตถุประสงค์หลักของการใช้ Algo Trading คือช่วยให้นักลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ในราคาที่ดีที่สุด และมีผลกระทบต่อตลาดน้อยที่สุด หมายความว่าการซื้อหรือขายนั้นๆ ไม่ควรจะทำให้ราคาหุ้นในตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 
  • ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน 65% ในตลาดเติบโตสูงขึ้น แต่ปัญหาคือการเติบโตของรายได้ในธุรกิจใหม่ๆ มีไม่มากนัก โดยเฉพาะหากเทียบกับตลาดในภูมิภาค

ตลาดหุ้นไทยนับแต่ต้นปี 2566 ยังคงเผชิญกับแรงขายอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยมูลค่าการขายสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนภายในประเทศและนักลงทุนสถาบันเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 8.05 หมื่นล้านบาท และ 5.19 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิเล็กน้อย 1.86 พันล้านบาท (ณ วันที่ 24 สิงหาคม)

 

อย่างไรก็ตาม มุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีปฏิสัมพันธ์กับตลาดหุ้นไทยอยู่ค่อนข้างมากในปัจจุบัน ยังคงมองว่าตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่น่าดึงดูดมากที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน แต่ความน่าลงทุนหรือหากจะพูดให้ตรงมากที่สุดคือ หุ้นไทยเป็นตลาดที่สามารถลงทุนได้ (Investability) มากที่สุดในภูมิภาค เป็นผลจากสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่สูงกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค 

 

หุ้นไทยยังน่าดึงดูดสำหรับเทรดเดอร์ต่างชาติ

 

Craig Thompson, Assistant Managing Director, Equity and Derivatives Markets ของ บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หากเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ตลาดหุ้นไทยถือเป็นตลาดที่มี Investability ในระดับที่ดี ในแง่ของสภาพคล่องที่สูง

 

ปัจจุบันจะเห็นว่าสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนภายในประเทศลดลง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของตลาด อย่างไรก็ดี Thompson มองว่าสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละกลุ่มไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญนัก แต่สิ่งสำคัญที่อาจกระทบต่อการตัดสินใจซื้อหรือขายของนักลงทุนต่างชาติคือปริมาณการหมุนเวียนของการซื้อขายโดยเฉลี่ย 

 

“การซื้อขายที่ลดลงของนักลงทุนในประเทศส่วนมากแล้วจะหมุนไปตามวัฏจักรในตลาด หากตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัว ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนก็จะเริ่มกลับมา”​

 

ขณะที่แหล่งข่าวโบรกเกอร์ซึ่งให้บริการนักลงทุนต่างชาติเปิดเผยว่า แม้มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ยต่อวันจะลดลงมาสู่ระดับ 4-5 หมื่นล้านบาทในบางช่วง ต่ำกว่าเมื่อปีก่อนที่เคยขึ้นไปสูงราว 7 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่ยังคงเป็นระดับที่มากเพียงพอต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 

 

“หากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ถือว่ารับได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค และหากเป็นหุ้นรายตัว มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันควรจะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อวัน โดยเปรียบเทียบหากเป็นเรื่องของสภาพคล่องสำหรับต่างชาติที่ต้องการลงทุนในอาเซียนคงมองข้ามหุ้นไทยไม่ได้” ​

 

แต่ปัญหาคือ ความน่าสนใจทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มในอนาคตของทั้งตลาดโดยภาพรวมและทั้งกับหุ้นรายตัวที่ไม่ได้โดดเด่นนัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงซื้อขายในตลาดหุ้นไทยส่วนมากจะเป็นลักษณะของการเทรดดิ้ง ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับทิศทางของตลาดว่าจะปรับขึ้นหรือลง

 

ศุภโชค ศุภบัณฑิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันต่างชาติในปัจจุบันมองเมืองไทยว่าอยู่ในสถานะ ‘Underweight’ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นจากความกังวลทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี ความกังวลนั้นคลี่คลายลงเมื่อนักลงทุนเห็นว่าประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และเริ่มหาโอกาสเข้าซื้อหุ้นไทยแบบเลือกเป็นรายบริษัท (Selective)

 

Algo Trading เครื่องมือช่วยให้ซื้อขายได้ในราคาดีที่สุด

 

Christopher Dunham, Head of ASEAN Sales and Trading ของ Jefferies Securities กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ยอดเยี่ยมในแง่ของสภาพคล่อง หากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย หุ้นไทยมีความใกล้เคียงกับสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่มีสภาพคล่องที่ดีกว่า 

 

สำหรับหุ้นไทยเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนวิธีส่งคำสั่งซื้อขายด้วยมือ หรือที่เรียกว่า High Touch มาเป็น Electronic Trading ตั้งแต่ปี 2553 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นช่องทางหลักในการส่งคำสั่งซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 70% ของการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ 

  1. ความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งคำสั่งซื้อขาย (Drive for Efficiency)
  2. การเข้ามาและความหลากหลายของ Execution Algo ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีต้นทุนต่ำ
  3. ความต้องการในการลดต้นทุนทางด้าน Transaction Cost
  4. การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น Index Funds  

 

Joy Francis, Global Markets Electronic Trading Sales ของ UBS Securities กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการใช้ Algo Trading ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Electronic Trading คือช่วยให้นักลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ในราคาที่ดีที่สุด และมีผลกระทบต่อตลาดน้อยที่สุด หมายความว่าการซื้อหรือขายนั้นๆ ไม่ควรจะทำให้ราคาหุ้นในตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการใช้เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้เหมาะสม

 

ส่วนประเด็นที่ว่านักลงทุนรายย่อยควรที่จะนำ Algo Trading มาใช้เหมือนกับนักลงทุนสถาบันด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าขนาดของพอร์ตลงทุนใหญ่เพียงใด หากเป็นพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยการเข้าซื้อในปริมาณมาก การใช้ Algo Trading จะช่วยให้การซื้อหรือขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

ประเภทของ Algo Trading ที่อยู่ภายใต้การให้บริการของ Electronic Trading ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งคำสั่ง สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ 

  1. Scheduled Strategies ที่ทำงานตามเวลา เช่น TWAP หรือ Time Weighted Average Price
  2. Participative Strategies ที่ทำงานตามปริมาณซื้อขายที่เกิดขึ้น เช่น POV หรือ Percentage of Volume
  3. Opportunistic Strategies อย่างเช่น Liquidity Seeking
  4. Aggressive Strategies เช่น IS หรือ Implementation Shortfall ที่จะพยายามส่งคำสั่งให้ไวที่สุดโดยใช้ราคาที่ถูกส่งคำสั่งเข้ามาล่าสุดในตลาดเป็นตัวชี้วัด

 

ตลท. กระตุ้นบริษัทไทยลงทุนธุรกิจใหม่

 

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน 65% ในตลาดเติบโตสูงขึ้น แต่ปัญหาคือการเติบโตของรายได้ในธุรกิจใหม่ๆ มีไม่มากนัก โดยเฉพาะหากเทียบกับตลาดในภูมิภาค” แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าว

 

แมนพงศ์กล่าวต่อว่า ธุรกิจที่โดดเด่นของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันคือเรื่องบริการและท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เรามักจะพูดถึงกันเสมอคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่เรายังขาดอยู่มากคือการพูดถึงธุรกิจใหม่ๆ แม้ว่าจะเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นบ้างในหมวดเทคโนโลยี

 

นอกจากนี้ เรื่องของ Capital Gain Tax หรือภาษีกำไรจากการขายหุ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย และอาจทำให้ความน่าสนใจของหุ้นไทยลดลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ 

 

หากการเรียกเก็บภาษี Capital Gain Tax เกิดขึ้นจริง แมนพงศ์กล่าวว่า สิ่งที่เราทำได้คือการให้ข้อมูลกับภาครัฐว่าผลที่เกิดขึ้นจากภาษีคืออะไรบ้างทั้งในด้านบวกและด้านลบ 

 

ด้านบวกคือแหล่งที่มาของภาษีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้คือมูลค่าการซื้อขายที่ลดลง ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ภาษีที่เก็บได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ และเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลงก็มีโอกาสที่จะทำให้มูลค่าของหุ้นในตลาดลดลงไปด้วย 

 

“ปัญหาตอนนี้คือไม่มีใครคาดเดาได้ว่ามูลค่าจะลดลงไปเท่าใด ซึ่งหากมูลค่าของตลาดลดลง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะไม่ใช่แค่นักลงทุนที่แอ็กทีฟในตลาดเพียง 2-3 ล้านราย แต่จะกระทบกับความมั่งคั่งของผู้คนที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดโดยตรงแต่ลงทุนผ่านสถาบันต่างๆ ด้วยเช่นกัน” 

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ตลาดต้องพยายามทำคือ การหาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ หรือหาสินค้าใหม่ เช่น หุ้น IPO ใหม่ที่น่าสนใจลงทุน 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising