×

ต่างชาติเทบอนด์ไทยเฉียด 4 หมื่นล้านบาทแล้ว ลุ้น Fund Flow ไหลกลับ หาก Fed ลดดอกเบี้ย

04.04.2024
  • LOADING...

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เผย ตั้งแต่ต้นปี (YTD) กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ของนักลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ (Net Sell) ไปแล้ว 39,484 ล้านบาท โดยหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า ก็มีโอกาสที่จะทำให้เงินทุนไหลออกต่อ กระนั้นก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดบอนด์ไทยได้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

 

วันนี้ (4 เมษายน) ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวในงานสรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ไตรมาส 1 ปี 2567 โดยระบุว่า กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ของนักลงทุนต่างชาติในไตรมาส 1 ของปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิ (Net Sell) ตราสารหนี้ไทยจำนวน 34,305 ล้านบาทถือว่ากลับมาพลิกเป็นลบอีกครั้ง หลังจากไตรมาส 4 ของปี 2566 เป็นซื้อสุทธิ (Net Buy) 3,681 ล้านบาท

 

ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติเหลือ 9.0 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ลดลงจากระดับราว 1.06 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.8 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปีเมื่อสิ้นปี 2566

 

อย่างไรก็ดี ดร.สมจินต์ มองว่า การไหลออกดังกล่าว ‘ไม่ใช่ขนาดที่น่าตกใจ’ เนื่องมาจาก 2 เหตุผลสำคัญ ได้แก่ การหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดอื่นของนักลงทุนต่างชาติ และการปรับน้ำหนักดัชนี MSCI Emerging Markets Sovereign Bond Index ที่เพิ่มสัดส่วนพันธบัตรอินเดียเข้าไป ทำให้พันธบัตรชาติอื่นๆ รวมถึงไทย น้ำหนักลง 1.6% ดังนั้นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยของกองทุนต่างๆ ที่มักซื้อผ่านดัชนีดังกล่าว จึงลดลงไปด้วย

 

สำหรับประเด็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานของประเทศ (Fundamental) และความเชื่อมั่น (Sentiment) ในประเทศที่อ่อนแอลงในช่วงเวลาดังกล่าว ดร.สมจินต์ มองว่าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติกังวล 

 

“ผมเชื่อว่าคำพูดของผู้บริหารเป็นคำพูดที่มีน้ำหนัก เนื่องจากทุกคนต้องฟังว่าผู้บริหารคิดอย่างไร แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ปัจจัยพื้นฐานของประเทศ (Fundamental) ยังมีความมั่นคงทางการเงินและการคลังสูง ตัวอย่างเช่น แม้ระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นเทียบจากอดีต แต่ก็ไม่ได้สูงเกินจนรับไม่ไหว” ดร.สมจินต์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 62.48% ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับที่ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ยืนยันมาตลอดว่าอยู่ภายใต้กรอบและต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ดร.สมจินต์ ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) รัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งนับว่าลดลงอย่างมากจากระดับ 3.37% เมื่อเดือนตุลาคม สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนยินดีและพร้อมที่จะลงทุน ตรงข้ามกับหลายประเทศที่เมื่อนักลงทุนไม่มั่นใจเงินก็จะไหลออก พร้อมกับ Bond Yield ที่พุ่งสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมักจะเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามกับราคา โดยหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง มักจะหมายความว่ามีความต้องการพันธบัตรไทยมากขึ้น

 

จับตาปัจจัยฉุดและหนุน Fund Flow ตลาดบอนด์ไทย

 

กระนั้น ดร.สมจินต์ ยังมองว่า มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดบอนด์ไทย หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงตาม รวมไปถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทยก็จะแคบลง ทำให้กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ก็มีโอกาสที่จะกลับเข้ามา

 

อย่างไรก็ดี หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า วันที่ 10 เมษายน 2567 ก็มีความเป็นไปได้ว่า Fund Flow จะไหลออกต่อเนื่อง

 

โดย ดร.สมจินต์ กล่าวว่า ในเชิงทฤษฎีแล้ว หากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าเกินไป เศรษฐกิจอาจไม่ได้เติบโตเร็วนัก แต่ถ้าปรับลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปและทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยถ่างเกินไป ย่อมมีผลกระทบต่อกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow)

 

“ผมเชื่อว่า กนง. พิจารณาปัจจัยค่อนข้างรอบด้าน ทั้งในแง่ของปัจจัยภายในประเทศและตลาดการเงิน” ดร.สมจินต์ ระบุ

 

ดร.สมจินต์ ยังเผยอีกว่า
ผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้งรวม 0.5% ในปี 2567 โดยมีโอกาสสูงที่ กนง. จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนนี้

 

ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed (Dot Plot) ล่าสุด คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลง 3 ครั้งในปี 2567 จากปัจจุบันที่ 5.25-5.50% เหลือ 4.50-4.75% ในปลายปี 2567 และเหลือ 3.75-4.00% ในปี 2568

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising