×

ต่างชาติเทขาย ‘บอนด์’ 8.2 พันล้าน กังวล ธปท. ออกมาตรการคุมค่าเงิน

19.11.2020
  • LOADING...
ต่างชาติเทขาย ‘บอนด์’ 8.2 พันล้าน กังวล ธปท. ออกมาตรการคุมค่าเงิน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วานนี้ (18 พฤศจิกายน) นอกจากจะมีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% แล้ว กนง. ยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง ทำให้ กนง. มีความจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

 

ในวันพรุ่งนี้ (20 พฤศจิกายน) ธปท. เตรียมเปิดแถลงข่าวเรื่อง FX Ecosystem โดยมี วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน และ ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เป็นผู้แถลงข่าว ทำให้ตลาดตีความว่า ธปท. อาจจะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทออกมาเพิ่มเติม

 

สัญญาณที่ถูกส่งออกมาจาก ธปท. ทำให้ตลาดเงินเริ่มกังวล สะท้อนผ่านค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ระดับ 30.42 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นวันทำการของวันนี้ (19 พฤศจิกายน) โดยอ่อนค่าลงจากระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าของวานนี้ (18 พศจิกายน) หรืออ่อนค่าลงเกือบ 0.9% ในเวลาเพียงแค่ 1 วันทำการ

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ในวันนี้นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิในตลาดบอนด์ออกมาถึง 8.2 พันล้านบาท จากที่ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนได้เข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องรวมเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงระยะหนึ่งจะเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว เพราะต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาทผ่านพันธบัตรระยะสั้น ดังนั้นคาดว่า ธปท. จะติดตามและมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้คาดว่าแนวทางของ ธปท. ในการออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทจะเป็นรูปแบบการขยาย หรือปรับเงื่อนไขในมาตรการที่มีอยู่เดิม เช่น

 

– การสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย 

– การลดแรงซื้อบาทจากภาคการส่งออก ผ่านการเก็บเงินในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) ซึ่งยังมีข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถพักเงินไว้ได้นาน เพราะต้องใช้เป็นสภาพคล่อง

– การเพิ่มจำนวนการโอนเงินออกนอกประเทศ 

– ฯลฯ

 

ขณะเดียวกันยังมีมุมมองว่า มาตรการที่ ธปท. จะออกมาเพิ่มเติมในวันพรุ่งนี้จะเป็นลักษณะการแสดงเจตนาในการดูแลค่าเงินบาทอย่างสม่ำเสมอ และจะมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ มากขึ้น 

 

แต่ยังต้องติดตามผลลัพธ์ที่เกิดจากมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่า นโยบายการค่าเงินของ ธปท. จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะหาก โจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการดำเนินนโยบายฯ แตกต่างจากมาตรการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะใช้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดทำรายงานการจับตาประเทศที่อาจบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า (รายงานการแทรกแซงค่าเงิน) ในการเปิดตลาดของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าการออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่า ยังถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่ายังมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย การเกิดดุลบัญชีเดินสะพัด และการลงทุนประเทศที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการออม  

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X