เศรษฐกิจไทยปี 2563 เจอผลกระทบจากโควิด-19 จนหลายคนประเมินว่าจะแย่กว่าช่วงต้มยำกุ้ง 2540 ด้วยซ้ำ ซึ่งปีนี้นอกจากเครื่องยนต์หลักอย่างการส่งออก การท่องเที่ยวจะติดลบ ฝั่งตลาดหุ้นไทยยังเจอนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง จนดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงลึกสุดถึง 30% ในช่วงปลายเดือนมีนาคม
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ 7 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2556) นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิมาต่อเนื่องรวมกว่า 8 แสนล้านบาท ประเด็นนี้จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
ทำไมต่างชาติถึงขายหุ้นไทยสุทธิต่อเนื่องถึง 7 ปี
ต้นปี 2563 มานี้ ปรากฏการณ์ด้านการลงทุนที่ต้องจับตามองคือ ดัชนี SET Index ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ลดลงมาที่สุดถึง 30% สาเหตุหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติเทขายอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าปัจจุบันภาวะตลาดจะปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุด ทว่ายังเห็นการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยแทบทุกสัปดาห์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งการขายหุ้นสุทธินี้อาจไม่ได้เกิดจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว
ถ้าย้อนไปดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2556 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิอย่างต่อเนื่องในแทบทุกปี มูลค่ารวม 8 แสนล้านบาท และมีนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นกลุ่มที่ซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน
ทาง KKP Research วิเคราะห์ว่า นักลงทุนต่างชาติมองปัจจัยสำคัญในการลงทุน คือ พื้นฐานของตลาดหุ้นในแต่ละประเทศ โดยจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางผลตอบแทนของการลงทุนในระยะยาว ดังนั้น หากดูแนวโน้มการเติบโตของตลาดหุ้นไทยที่อ้างอิงจากดัชนี MSCI Thailand Index เทียบกับประเทศอื่นๆ จะพบว่าช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยแทบไม่เติบโต แต่อยู่ในระดับเดิมที่ปี 2556 ขณะที่ดัชนี MSCI ของประเทศสหรัฐอเมริกาเติบโตถึงกว่า 100% และดัชนีของภูมิภาคเอเชียโดยรวมโตกว่า 50%
เมื่อนักลงทุนต่างชาติสนใจการลงทุนในไทยน้อยลง และหันไปลงทุนในประเทศอื่น จะกดดันทิศทางตลาดหุ้นไทย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอนาคตตกต่ำลงอย่างถาวรเมื่อเทียบกับในอดีต และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
จับตาสถานการณ์เศรษฐกิจโตต่ำ ต่างชาติย้ายฐานการผลิต
ข้อมูลการวิเคราะห์ของ KKP Research ชี้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำมาโดยตลอดจากค่าเฉลี่ยที่ 7% ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง มาอยู่ที่ประมาณ 5% ในช่วงปี 2542-2553 ในขณะที่ช่วง 7 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 3% ต่อปีเท่านั้น
ขณะที่การเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP Per Capita) ของไทยพัฒนาช้ากว่าประเทศอื่นมาก นับตั้งแต่ช่วงหลังผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ซึ่ง
ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ขณะที่ประเทศจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อ 20 ปีที่แล้ว GDP Per Capita ของจีนอยู่ที่ 959 ดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าไทย ณ ขณะนั้นอยู่ที่ราว 2,007 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันจีนมี GDP Per Capita สูงถึง 10,261 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ขณะที่ไทยอยู่ที่เพียง 7,808 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นไม่ถึง 4 เท่า
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) หากเปรียบเทียบสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามายังประเทศต่างๆ ในแถบอาเซียน จะพบว่าไทยได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อยๆ จากที่เคยได้ Market Share ของ FDI สูงถึง 44% ในช่วงก่อนหน้า ปัจจุบันลดเหลือเพียง 14% เท่านั้น
เมื่อดูเจาะเฉพาะภาคการผลิตที่ดึงดูด FDI และมีส่วนที่ช่วยให้เกิดทั้งการจ้างงานในวงกว้าง และช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ให้กับไทย พบว่าตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติในภาคการผลิตค่อยๆ ชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2549-2553 มีมูลค่าเฉลี่ยต่อปี 10,853 ล้านดอลลาร์สหรัฐลง มาที่ราว 7,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าลดลงกว่า 34% ส่วนใหญ่จะลดลงจาก FDI ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
ทำไมการลงทุนถึงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ในช่วงที่เครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจอย่างภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกดับลง และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวต้องอาศัยการขับเคลื่อนภายในโดยเฉพาะในด้านการลงทุน ซึ่งการลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด โดยสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 20-25% ในช่วงที่ผ่านมา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน คือกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ที่มีระดับการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.5% ต่อ GDP
หากดูเป็นรายบริษัทโดยใช้ข้อมูลงบการเงินของบริษัทในตลาดหุ้นไทย จะเห็นภาพคล้ายๆ กันว่า บริษัทไทยมีการลดการลงทุนลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตัวเลขค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน หรือ Capital Expenditure (CapEx) ที่ชะลอตัวลงชัดเจน การเติบโตของ CapEx ของบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้นไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยที่ปีละ 16% YoY ในช่วงปี 2547-2552 เหลือเพียงเติบโตปีละ 1.6%
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลดการลงทุนลงอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน การก่อสร้าง การขนส่ง IT Distributor อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จะมีก็แต่เพียงกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร การค้าปลีก รวมทั้งกลุ่มเฮลท์แคร์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตของการลงทุนไว้ได้ใกล้เคียงเดิม ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่หันไปพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการเป็นหลัก ในขณะที่บทบาทของภาคการผลิตถดถอยลงไปเรื่อยๆ
ขณะที่บริษัทไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าการขยายการลงทุนในไทย ทำให้การออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทย (Thai Direct Investment: TDI) เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา สวนทางกับ FDI ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
3 จุดอ่อนประเทศไทยทำไมภาคเอกชนไม่ลงทุน
1) ผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยอยู่ในระดับต่ำ อาจกดดันการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยโดยรวมก็ต่ำลงจาก 3 เรื่อง ได้แก่
– ตลาดในประเทศไม่โต ทั้งปัญหาสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทำให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจกระจุกตัวในหลายมิติ ส่งผลต่อการบริโภคและกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มหดตัวลง กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีแนวโน้มลดลงด้วย ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ที่ลดต่ำลงนี้
– สินค้าและบริการ และธุรกิจไทยไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จากการที่ไทยยังคงขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมกลุ่มเดิมๆ และเทคโนโลยีแบบเก่า ขาดศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น
– ต้นทุนแรงงานสูง จากทั้งจำนวนแรงงานโดยรวมที่ลดลงตามโครงสร้างประชากรและการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคต ทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ทั้งในธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น เนื่องจากค่าแรงที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ธุรกิจที่ใช้เทคนิคขั้นสูงก็แข่งได้ยากเช่นกัน จากการที่แรงงานทักษะสูงมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามาโดยตลอดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันด้านราคาทำได้ยากขึ้น
2) ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและขาดโอกาสในการลงทุน โดยนโยบายภาครัฐที่ผ่านมาไม่ช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนได้มากพอ จากทั้งนโยบายที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม และรูปแบบการลงทุนของภาครัฐเองไม่ชักนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน
3) ความไม่มีเสถียรภาพของนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง สร้างความไม่แน่นอนกับทิศทางเศรษฐกิจ
KKP Research มองว่าหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที จะสร้างความท้าทายรุนแรงขึ้นต่อทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะข้างหน้า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์