ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 6.6 พันล้านบาท หากจบเดือนนี้ต่างชาติยังคงสถานะซื้อสุทธิจะเป็นการกลับมาซื้อสุทธิครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยครั้งสุดท้ายที่ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรายเดือนต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2567 มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท
ส่วน 9 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมิถุนายน 2568 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปรวม 1.31 แสนล้านบาท
ขณะที่ดัชนี SET ของหุ้นไทยพุ่งขึ้นมาราว 150 จุด ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สู่ระดับ 1,217 จุด แต่ล่าสุดวันนี้ (22 กรกฎาคม) ดัชนีย่อตัวลงมา 16.38 จุด ปิดที่ 1,191.75 จุด
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ดัชนี SET ของหุ้นไทยพุ่งขึ้นกว่า 100 จุด ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลจากเงินทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิหุ้นไทยตั้งแต่ต้นเดือนเกือบ 5 พันล้านบาท แม้จะไม่มากเท่ากับเงินทุนที่ไหลเข้าเกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน และญี่ปุ่น แต่ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค
เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสอดคล้องกับเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า และเม็ดเงินลงทุนในกองทุน ETF ที่อิงกับตลาดหุ้นไทยที่ยังคงเดินหน้าเป็นบวกติดต่อกันหลายวัน ซึ่งเป็นภาพที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ทำให้หุ้นใหญ่ของไทยจะยังโดดเด่นกว่าหุ้นขนาดกลางและเล็ก โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา SET50 เพิ่มขึ้น 8.8% ส่วน sSET เพิ่มขึ้น 4.2%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 11 แบงก์ไทย เผยกำไรครึ่งแรกปี 68 รวม 1.35 แสนล้านบาท โต 4% แม้รายได้หดตัว
- สามกระทิงกับสิงโต ในตลาดการเงินครึ่งปีหลัง
“เงินทุนที่ไหลเข้าส่วนหนึ่งเป็นการเลือกซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นหลังจากหุ้นไทยร่วงมากเกินไปในช่วงก่อน แต่นักลงทุนระยะยาวยังต้องรอติดตามหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเจรจาการค้าและการเมืองในประเทศ”
DELTA มีส่วนหนุนหุ้นไทย 1 ใน 3
บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นราว 146 จุด จาก 1,062 จุด เป็น 1,208 จุด ผลักดันจากหุ้นของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) ถึง 43 จุด หรือราว 1 ใน 3 ของการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบนี้ การขึ้นมาเร็วและแรงของดัชนีอาจมีการพักบ้าง
ด้านณัฐชาตกล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาหุ้น DELTA ปรับสูงขึ้นอย่างร้อนแรงตั้งแต่สัปดาห์ก่อน หลัง Consensus ทยอยปรับเพิ่มทั้งประมาณการกำไรในอนาคต และราคาที่เหมาะสม แต่สิ่งที่ต้องระวังมากขึ้นก็คือราคาหุ้นที่ขึ้นมาร้อนแรง จนทำให้ล่าสุดช่องว่างระหว่างราคาเป้าหมาย Consensus กับราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ในระดับติดลบมากสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง
หากย้อนอดีตไปดูในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ พบว่าราคาหุ้นของ DELTA จะเริ่มเข้าสู่โซนเปราะบางและมีการปรับฐานลงในท้ายที่สุด ทั้งนี้ DELTA ถือเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่เราประเมินว่าในระยะสั้นได้สะท้อนความคาดหวังเชิงบวกทางด้านการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไปพอสมควรแล้ว จึงแนะนำให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังอย่างสูงกับหุ้นตัวนี้
ไทยอาจคุยสหรัฐฯ ลดภาษีได้ไม่เท่าเวียดนาม
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนต่างชาติและตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไปคือผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่ง สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล. กสิกรไทย กล่าวว่า ให้น้ำหนักน้อย
“เราให้น้ำหนักน้อยกับโอกาสที่ไทยจะเจรจาภาษีให้ลงมาเหลือ 20% ใกล้กับเวียดนามและอินโดนีเซีย เนื่องจากเงื่อนไขการเปิดตลาด ซึ่งเราต้องปกป้องเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศ”
อย่างไรก็ดี หากไทยสามารถเจรจาลดภาษีมาเหลือ 20% ได้จริง หุ้นไทยมีโอกาสจะวิ่งไปสู่ระดับ 1,245 จุด แต่กรณีเลวร้ายสุดคือภาษียังคงอยู่ที่ 36% หุ้นไทยอาจร่วงลงไปสู่ระดับ 1,145 จุด ปัจจัยที่ต้องติดตามคือการเจรจารอบ 3 ที่น่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคมนี้
ส่วนกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในเดือนนี้อาจไม่ได้ต่อเนื่องถึงปลายปี แม้มูลค่าหุ้นไทยจะถูกเทียบกับภูมิภาค แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม นอกจากเรื่องภาษีการค้ากับสหรัฐฯ ยังมีเรื่องของนโยบายการเงินของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ และปัจจัยการเมืองที่อาจกระทบต่อ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2569
รวมทั้งกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีความเสี่ยงจะถูกปรับลดลงจาก 89.5 บาทต่อหุ้น มาเหลือ 88 บาทต่อหุ้น หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของทุกบริษัท ซึ่งจะกระทบต่อดัชนีราว 40 จุด
กำไรกลุ่มแบงก์ดีกว่าคาด
บล.เอเซียพลัส ระบุว่า กำไรไตรมาส 2 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดย 8 ธนาคาร ที่ฝ่ายวิจัยติดตามมีกำไร 6.5 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับที่คาดไว้ จากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิตามวัฏจักรดอกเบี้ย
ซึ่งธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และบมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) มีกำไรสุทธิสูงกว่าคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนภาพรวมกำไรทั้งกลุ่มอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 53% ของประมาณการกำไรทั้งปี ส่วนครึ่งปีหลังกลุ่มธนาคารจะเผชิญความท้าทายมากขึ้น จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงตามวัฏจักรดอกเบี้ยและคุณภาพสินทรัพย์