การเคลื่อนไหวของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยในปี 2023 ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบันถือว่าค่อนข้างผันผวน เห็นได้จากภาพการซื้อและขายสุทธิที่เกิดขึ้นสลับกันแบบรายเดือน ด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนในหลายประเด็นจากต่างประเทศ ทั้งประเด็นปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปล้มละลาย, ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ, การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
โดยข้อมูลการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยช่วง 5 เดือนแรก ปี 2023 มีดังนี้
- เดือนมกราคม ซื้อสุทธิ 1.83 หมื่นล้านบาท
- เดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 4.35 หมื่นล้านบาท
- เดือนมีนาคม ขายสุทธิ 3.71 หมื่นล้านบาท
- เดือนเมษายน ขายสุทธิ 7.89 พันล้านบาท
- จากต้นเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 10 พฤษภาคม) ขายสุทธิ 1.22 พันล้านบาท
- จากต้นปี 2023 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 10 พฤษภาคม) ขายสุทธิ 6.60 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยช่วง 5 เดือนแรก ปี 2023 มีดังนี้
- เดือนมกราคม ซื้อสุทธิ 2.50 หมื่นล้านบาท
- เดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 6.40 หมื่นล้านบาท
- เดือนมีนาคม ซื้อสุทธิ 1.60 หมื่นล้านบาท
- เดือนเมษายน ขายสุทธิ 3.70 หมื่นล้านบาท
- จากต้นเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 9 พฤษภาคม) ซื้อสุทธิ 5 หมื่นล้านบาท
- จากต้นปี 2023 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 9 พฤษภาคม) ขายสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบให้การเคลื่อนไหวของ Fund Flow เข้าหรือออกในหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย คือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีค่อนข้างสูงมาก หลังจากที่ Fed และ ECB ดำเนินนโยบายเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีแรงจูงใจด้านผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ Fund Flow ไหลกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์
อย่างไรก็ดี หลังผลการประชุมของ Fed ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 5-5.25% พร้อมส่งสัญญาณว่ามีโอกาสจะเริ่มหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และมีความกังวลว่าจะเกิด Recession ขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลให้เริ่มมี Fund Flow ย้ายการลงทุนออกจากตลาดเงินสหรัฐฯ ไปลงทุนในตลาดอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า
ส่วนกรณีที่เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยนำเงินมาพักในพันธบัตรระยะสั้นของไทยในเดือนพฤษภาคมนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ภาพรวมตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้มากถึงราว 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาเพียงวันเดียวในพันธบัตรระยะสั้นเป็นมูลค่าสูงมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น
ประเมินว่าเป็นการพักเงินลงทุนเพื่อเตรียมรอจังหวะทิศทางการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมีภาพที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ และดึงให้ Fund Flow ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
“ส่วนภาพการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยตอนนี้ยังต้องระมัดระวังการลงทุน หากเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ตอนนี้อยู่ที่ 5.2% ยังถ่างค่อนข้างมากถึง 2.5% กับของไทยตอนนี้อยู่ที่ 1.75% จึงมีความเสี่ยงที่อาจเห็น Fund Flow ออกจากตลาดตราสารหนี้ของไทย นอกจากนี้มองว่า Fund Flow เข้ามาแค่ช่วงนี้สั้นๆ เพื่อรอความชัดเจน และเพื่อเตรียมเข้าลงทุนในหุ้นหลังเลือกตั้ง หากผลการเลือกตั้งออกมาแล้วสร้างความเชื่อมั่นได้ เงินต่างชาติก็มีโอกาสเข้าตลาดหุ้นไทย”
มอง Hot Money เก็งกำไรบาทแข็ง
นอกจากนี้ประเมินว่า Fund Flow ที่เข้ามาพักในตราสารหนี้ระยะสั้นช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมีโอกาสจะเป็น Hot Money ที่เข้าเก็งกำไรค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นผิดปกติ โดยหากอิงกับสถิติค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 20 ปีพบว่า ช่วงเดือนพฤษภาคมมักจะเป็นเดือนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเฉลี่ยประมาณ 0.76% เพราะเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จ่ายเงินปันผล และผู้ถือหุ้นต่างชาติมักจะนำเงินออกนอกประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทเดือนพฤษภาคม 2023 กลับสวนทาง โดยแข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 1.61%
อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนปีนี้ จากปัจจัยบวกที่ Fed มีท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัจจัยการเลือกตั้งภายในประเทศที่จะส่งผลให้ภาพการเมืองภายในประเทศมีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งมีโอกาสที่จะเห็นการออกนโยบายใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
จับตา Election Rally หลังเลือกตั้ง
จากการศึกษาสถิติในอดีตช่วงที่มีการเลือกตั้งของไทย 7 ครั้งล่าสุด โดยภายหลังการเลือกตั้ง 1 เดือน ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกอยู่ที่ประมาณ 4.7% ดังนั้นหลังการเลือกตั้งในรอบนี้ 1 เดือนก็มีโอกาสที่จะเห็นการเกิด Election Rally ส่งผลให้ SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 1,640-1,650 จุด อีกทั้งมูลค่าของตลาดหุ้นปัจจุบันถือว่ายังถูก โดยคำนวณจากการคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (Earning Per Share: EPS) ปี 2023 ที่ 102 บาท เติบโตขึ้นประมาณ 10% อ้างอิง P/E Ratio ที่ 15-17 เท่า จะได้กรอบการเคลื่อนไหว SET Index ระหว่าง 1,500-1,700 จุด โดยจากระดับ SET Index ปัจจุบันจึงยังมี Upside
ส่วนกรณี Fund Flow ที่นับจากต้นปี 2023 ถึงปัจจุบัน ต่างชาติขายสุทธิไปแล้วราว 6.60 หมื่นล้านบาท ประเมินว่ามีโอกาสเห็นนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาซื้อสุทธิในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ทั้งปีนี้คาดว่าจะยังเห็นตัวเลขติดลบเล็กน้อย
สำหรับคำแนะนำการลงทุน แนะนำกลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวและเติบโตต่อเนื่อง ให้หุ้น Top Pick คือ CPALL มีราคาเหมาะสมปีนี้ที่ 78 บาท, BJC มีราคาเหมาะสมปีนี้ที่ 46 บาท
รวมถึงหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มต้นทุนพลังงานที่ปรับลดลง เช่น ADVANC มีราคาเหมาะสมปีนี้ที่ 254 บาท, PTG มีราคาเหมาะสมปีนี้ที่ 18.8 บาท, MAJOR มีราคาเหมาะสมปีนี้ที่ 23 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 8 ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงกว่า 8 ปีของ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ สำเร็จ หรือ ล้มเหลว?
- งานวิจัยพบ นโยบายแก้หนี้ของพรรคการเมืองต่างๆ เสี่ยงก่อภาระทางการคลัง ห่วงบั่นทอนเสถียรภาพทำระบบเศรษฐกิจย่ำแย่
- ถอดรหัสค่าไฟแพง! ส่องวงจรกำหนดค่าไฟของประเทศไทย ใครรับบทอะไรบ้าง