วันนี้ (6 กรกฎาคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป
การพิจารณาของ ครม. ครั้งนี้สืบเนื่องจาก ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ได้เห็นชอบให้คนต่างด้าวตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 (4 สัญชาติ ประกอบด้วย กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ประสงค์จะทำงานต่อในประเทศไทยจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 และให้ไปดำเนินการเพื่อให้ได้เอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วนำมายื่นกับกรมการจัดหางานภายใน 15 พฤษภาคม 2566
ภายหลังสิ้นสุดช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีคนต่างด้าวประมาณ 5 แสนคนยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนด จึงจำเป็นต้องผ่อนผันให้กับคนต่างด้าวที่สถานะไม่ถูกกฎหมายเพื่อให้นายจ้างและผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างเหมาะสม และไม่ให้กระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดในขณะนี้
ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ จะครอบคลุมแรงงานเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่
- คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางที่มีอายุหรือหมดอายุ และมีรอยตราประทับ ซึ่งการอนุญาตทำงานหรืออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงโดยกฎหมาย เช่น กรณีคนต่างด้าวออกจากนายจ้างรายเดิมแล้วไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ได้ภายในเวลากำหนด หรือกรณีไม่สามารถทำงานต่อไปได้เนื่องจากดำเนินการตามมติ ครม. ที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมทุกขั้นตอน
- คนต่างด้าว 4 สัญชาติ ที่ระยะเวลาการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (Over Stay) และ 3. คนต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง และทำงานกับนายจ้างก่อนที่ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบ
ไตรศุลีกล่าวว่า วิธีดำเนินการบริหารจัดการนั้นประกอบด้วย
- ผ่อนผันให้คนต่างด้าวเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
- ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อ พร้อมรูปถ่ายเพื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name List) ต่อกรมการจัดหางานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ เป็นเวลา 15 วัน ตามที่กรมการจัดหางานกำหนด
- เมื่อ Name List ได้รับการอนุมัติแล้ว คนต่างด้าวจะใช้ Name List ดังกล่าวเป็นเอกสารหลักฐาน แสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมาย ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นบิดามารดา โดยดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงแรงงานกำหนดต่อไป
ไตรศุลีกล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ประเมินผลที่คาดว่าจะได้รับจากการออกแนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวฯ ครั้งนี้ว่า จะเป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าวเป้าหมายสามารถอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานต่อไปได้ เพื่อรอระยะเวลาดำเนินการเอกสารให้ถูกต้อง และสามารถทำงานในประเทศไทยได้ตามกำหนดอย่างถูกต้องต่อไป และคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของโควิดด้วย การผ่อนผันดังกล่าวจะช่วยแก้ไขการขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการ และยังคงคำนึงถึงความสมดุลของเศรษฐกิจประเทศและความมั่นคง
นอกจากนี้ การบริหารจัดการที่เหมาะสมจะเป็นการช่วยคุ้มครองให้คนต่างด้าวได้รับการจ้างงานโดยถูกกฎหมาย มีสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ คุ้มครองสิทธิที่พึงได้ และจะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวในระยะต่อไป