ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกลดลง 10% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ทำให้หลายประเทศมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ โดยแม้ว่าความวุ่นวายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเริ่มสงบลงแล้วในตอนนี้ แต่ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกครั้ง
ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก ณ สิ้นเดือนกันยายน ลดลงเหลือ 11.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับ 12 ล้านล้านดอลลาร์ ครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 เนื่องจากหลายประเทศต่างพยายามปกป้องสกุลเงินของตนไม่ให้อ่อนค่า หลังจากเงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว
Yoshimasa Maruyama จาก SMBC Nikko Securities กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะสะท้อนถึงการขายทุนสำรอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์ของประเทศต่างๆ ออกไปเพื่อพยุงสกุลเงินของตนเอง
โดยตามข้อมูลจากทางการญี่ปุ่น ระบุว่า ทุนสำรองของญี่ปุ่นลดลง 13% สู่ระดับ 1.23 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2022 นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากในเดือนกันยายนและตุลาคม โดยจุดหนึ่ง เงินเยนเคยอ่อนค่าทะลุ 151 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้ทางการญี่ปุ่นตัดสินใจขายสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ออกไปเพื่อซื้อเงินเยน เพื่อพยายามยุติการอ่อนค่า
ทั้งนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศด้วย
ดังนั้น การลดลงของทุนสำรองฯ จึงอาจทำให้หลายประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง ‘ศรีลังกา’ ซึ่งมีทุนสำรองฯ ลดลงมากกว่า 40% ระหว่างสิ้นปี 2021 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2022 ตามข้อมูลจาก IMF เนื่องจากการหยุดชะงักของภาคท่องเที่ยวส่งผลให้สกุลเงินต่างประเทศขาดแคลนอย่างหนัก
ขณะที่ทุนสำรองฯ ของเกาหลีใต้ก็ลดลง 10% ท่ามกลางความพยายามที่จะพยุงเงินวอน ที่อ่อนค่าอย่างมากเช่นกันในปี 2022
‘ไทย’ ทุนสำรองร่วง 11%
สำหรับประเทศไทย เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนธันวาคมปี 2022 อยู่ที่ 216,632.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.93% เมื่อเทียบจากเดือนธันวาคม ปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 245,996.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีที่แล้วเงินบาทของไทยเคยอ่อนค่าทะลุระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วงเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วในบางประเทศ เนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ผ่อนคลายลง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ตุรกี ที่แม้ทุนสำรองฯ ได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) ยืนกรานที่จะรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไว้ ทำให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าหนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อแรงกดดันต่อสกุลเงินผ่อนคลายลง ตุรกีก็พยายามเพิ่มทุนสำรองฯ ทำให้ระดับ ณ สิ้นปี 2022 สูงกว่าปี 2021 ได้
แต่กระนั้น ทุนสำรองฯ ในหลายประเทศก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างน่าเป็นห่วง โดยอ้างอิงจากการประเมินความเพียงพอของเงินสำรองฯ (ARA) ของ IMF ซึ่งใช้พิจารณาว่า แต่ละประเทศมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอหรือไม่
โดยตามจากข้อมูลของสถาบัน Dai-ichi Life Research Institute ของญี่ปุ่น ระบุว่า ปัจจุบันตุรกีมีทุนสำรองฯ เพียง 53% ของระดับที่จำเป็นภายใต้การประเมินแบบ ARA หรือต่ำกว่าคำแนะนำของ IMF ที่ 100-150%
ขณะที่จีน ซึ่งมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก มีเงินสำรองอยู่ที่ประมาณ 60% ของตัวชี้วัด ARA บ่งชี้ว่าจีนยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับเงินทุนไหลออก (Capital Flight)
Toru Nishihama จาก Dai-ichi Life Research ยังกล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดจบลงแล้ว เมื่อเทียบจากตอนที่เงินดอลลาร์แข็งค่าสูงสุด ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 แต่หากดอลลาร์แข็งค่าอีกครั้ง ประเทศต่างๆ ก็จะมีข้อจำกัดในการพยุงสกุลเงินของตนเองอีกครั้ง
ทั้งนี้ หลายฝ่ายพากันคาดการณ์ว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป
อ้างอิง: